สกสว.บูรณาการหน่วยงานรับมือภัยพิบัติ เดินหน้า ขับเคลื่อนการอนุรักษ์โบราณสถานเป็นวาระแห่งชาติ


สกสว.บูรณาการหน่วยงานรับมือภัยพิบัติ เดินหน้า ขับเคลื่อนการอนุรักษ์โบราณสถานเป็นวาระแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีถอดบทเรียนการทรุดตัวของเจดีย์วัดศรีสุพรรณ นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และแก้ปัญหาการอนุรักษ์โบราณสถานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมเดินหน้าผลักดันการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานบนฐาน ววน. เป็นวาระแห่งชาติ

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา “การรับมือภัยพิบัติเพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ณ ห้องประชุม สกสว. เพื่อรายงานสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มความเสียหายของโบราณสถานสำคัญในประเทศไทยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการสำรวจและอนุรักษ์โบราณสถาน ตลอดจนการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ปัญหาการอนุรักษ์โบราณสถานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รศ. ดร.ปัทมาวดี

รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า หลังการทรุดตัวของเจดีย์วัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ จึงจำเป็นต้องถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ควรอยู่ในแผนงานปรับตัวเพื่อรองรับภัยพิบัติ หรือแผนงานด้านศิลปวัฒนธรรมของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) นั่นคือ การวางแผนอนุรักษ์และบำรุงรักษาโบราณสถานที่มีผลกระทบตามความสำคัญเร่งด่วนโดยใช้ ววน. อีกทั้งเตรียมองค์ความรู้และข้อมูลในการวางแผนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภัยพิบัติและการอนุรักษ์โบราณสถานสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

สกสว.บูรณาการหน่วยงานรับมือภัยพิบัติ เดินหน้า ขับเคลื่อนการอนุรักษ์โบราณสถานเป็นวาระแห่งชาติ

ทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณีวิทยา กล่าวถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่มในพื้นที่ภาคเหนือว่าจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มหลายแห่ง แม้วัดศรีสุพรรณจะอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม แต่เกิดถล่มในช่วงฝนตกหนัก โดยมีรอยร้าวเกิดขึ้นนานแล้วและพระธาตุเอียง ส่วนใหญ่เกิดจากการทรุดตัวไม่เท่ากันของพื้นดิน และมีฝนตกหนักเป็นตัวกระตุ้น เพราะในอดีตไม่ได้ตอกเสาเข็ม คุณสมบัติของดินและการรับน้ำหนักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อชุ่มน้ำ ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำแผนที่ชี้เป้าเสี่ยงภัย สร้างความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้หลีกเลี่ยงเมื่อมีสิ่งบอกเหตุและมีเวลาเตรียมตัวหนี การทำแผนอพยพ การตั้งศูนย์ธรณีพิบัติภัยเพื่อเฝ้าระวัง น้ำท่วมและดินถล่มมักจะเกิดในช่วงเดือนกันยายนโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ยังอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์และแหล่งมรดกทางธรณี เช่น ซ่อมแซมถ้ำนาคา อนุรักษ์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ในการตอบโจทย์ที่สามารถพิสูจน์ได้

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียทคโนโลยีแห่งเอเชีย และศ. ดร.อมร พิมานมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย
ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียทคโนโลยีแห่งเอเชีย และศ. ดร.อมร พิมานมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่าแผ่นดินไหวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำลายโบราณสถาน นักวิจัยได้นำข้อมูลแผ่นดินไหวมาแปลงเป็นแผนที่เสี่ยงภัยและเทียบกับแผนที่เสี่ยงภัยของต่างประเทศ เพื่อหามาตรการรองรับที่เหมาะสม ทั้งนี้โบราณสถานส่วนใหญ่มีโครงสร้างเป็นอิฐก่อที่อ่อนแอกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก ถ้าเสริมกำลังจะช่วยลดความเสียหายจากแผ่นดินไหวได้ ปัจจุบันคณะนักวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองเมืองเชียงใหม่และเชียงรายเพื่อประเมินผลกระทบและความเสียหายจากภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะนำข้อมูลความเสี่ยงแผ่นดินไหว ธรณีวิทยา ตำแหน่งและความอ่อนแอของสิ่งปลูกสร้างมาวิเคราะห์คำนวณความเสียหาย เพื่อวางแผนรับมือและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความสูญเสีย

ด้าน ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อบันทึกข้อมูล ตรวจสอบสภาพและประเมินความมั่นคงของโบราณสถาน ว่าจำเป็นต้องบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องทั้งในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับรอยร้าวต่าง ๆ และติดตามการขยายตัวของรอยร้าว รวมถึงแผนอนุรักษ์บำรุงรักษาตามหลักวิศวกรรม โดยนักวิจัยได้นำข้อมูลสามมิติที่สำรวจได้ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอยุธยามาจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อบำรุงรักษาและป้องกันส่วนที่ยังมีสภาพดี เสริมความมั่นคงให้กับส่วนที่เสื่อมสภาพ รวมถึงการซ่อมแซม สร้างทดแทนส่วนที่ชำรุด

สำหรับแนวทางการสนับสนุนการอนุรักษ์โบราณสถานจะต้องมีเจ้าของที่มีความรับผิดชอบเต็ม รวมถึงบทบาทของยูเนสโกต่อมรดกโลกบนฐานวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่อนุรักษ์ความแท้และดั้งเดิมตามหลักโบราณคดีจึงจำเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย พร้อมกับสร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์โบราณสถานแก่ชุมชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และสร้างเรื่องราวความน่าสนใจให้กับโบราณสถาน

ผศ. ดร.กฤษฎา ไชยสาร กล่าวเสริมว่าการใช้โดรนเก็บข้อมูลและสร้างโมเดลสามมิติสามารถสร้างแผนภาพพื้นผิวความละเอียดสูงเพื่อนำไปต่อยอดตรวจสอบความเสียหายหรือเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอตรวจจับรอยร้าวและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติโดยไม่ใช้คน สามารถตรวจสอบได้เป็นระยะ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย มีความถูกต้องและแม่นยำสูงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งสามารถนำผลลัพธ์ไปขยายผลเพื่อวางแผนหรือประเมินราคาวัสดุที่ต้องใช้ในการบูรณะ

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่าได้วิเคราะห์โครงสร้างโบราณสถานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สร้างแบบจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์ 3 มิติ และศึกษาการก่อสร้างในพื้นที่ดินอ่อนที่เสี่ยงต่อการทรุดตัวและการเอียงตัวของโครงสร้าง ทั้งยังมีศักยภาพที่จะขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหว โดยวิเคราะห์โครงสร้างแทนแรงแผ่นดินไหวด้วยกราฟสเปกตรัมตอบสนองเชิงอัตราเร่ง ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของ มยผ. 1302 มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว รวมถึงศึกษาการกระจายหน่วยแรง ความเครียด และกลไกการรับน้ำหนักของโครงสร้างโบราณสถาน เพื่อระบุตำแหน่งวิกฤตภายในโครงสร้างที่อาจจะลุกลามไปจุดอื่น ๆ ซึ่งจะต้องหาแนวทางการเสริมกำลังในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อัดฉีดน้ำปูน เสริมเหล็ก เสริมโครงสร้างด้านใน ปรับปรุงคุณสมบัติของดินและอิฐชั้นฐาน ทั้งนี้ต้องมีระบบเตือนภัย วิจัยและทดลองโดยให้ความสำคัญกับการตรวจจับและเสริมกำลังเจดีย์ ซึ่งจะต้องบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สกสว.บูรณาการหน่วยงานรับมือภัยพิบัติ เดินหน้า ขับเคลื่อนการอนุรักษ์โบราณสถานเป็นวาระแห่งชาติ

ธนภูมิ อัตตฤทธิ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เผยถึงการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการอนุรักษ์โบราณสถาน อาทิ Photogrammetry เก็บข้อมูลเชิง 3 มิติ โดยประมวลผลภาพถ่ายของวัตถุ รวมทั้งข้อมูลด้านการอนุรักษ์ แบบรูปสภาพปัจจุบันและรายละเอียดของโบราณสถาน ทำให้ได้ภาพออกมา 3 แบบ คือ ภาพ 3 มติ ภาพแบบมวล และภาพ point cloud ซึ่งสามารถเลือกภาพไปใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ขณะที่ทีมนักวิทยาศาสตร์​จากกลุ่มวิทยาศาสตร์​เพื่อการอนุรักษ์​ สำนักพิพิธภัณฑสถาน​แห่งชาติ​ และทีมภัณฑารักษ์​ จากพิพิธภัณฑสถาน​แห่งชาติ​เชียงใหม่​ ร่วมกันดำเนินการจัดทำทะเบียน​ อนุรักษ์​สภาพโบราณ​วัตถุ​ และทำการตรวจองค์ประกอบ​ของธาตุภายในเนื้อโลหะ​ (XRF)​ ของโบราณ​วัตถุเพื่อจำแนกประเภท​ อายุสมัยของโบราณ​วัตถุ​ และกำหนดแนวทางอนุรักษ์​ในเชิงลึก

สำหรับเจดีย์วัดศรีสุพรรณที่นำมาเป็นบทเรียนในการดูแลรักษา คาดว่าน่าจะผ่านการเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง ตลอดจนการเสื่อมสภาพของวัสดุ สภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะของน้ำฝนจากการรั่วซึม วัชพืชหรือต้นไม้ ทั้งนี้เห็นด้วยว่าจะต้องบันทึกข้อมูลรอยร้าวที่มีผลต่อโครงสร้างเพื่อวางแผนการบำรุงรักษา กรมศิลปากรยังขาดแคลนบุคลากร หากได้รับความร่วมมือจาก สกสว. และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ช่วยกันสนับสนุน และทำงานเชิงรุกร่วมกันก็ยินดี

สกสว.บูรณาการหน่วยงานรับมือภัยพิบัติ เดินหน้า ขับเคลื่อนการอนุรักษ์โบราณสถานเป็นวาระแห่งชาติ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจะต้องร่วมมือกันทั้งในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรมศิลปากร และกรมทรัพยากรธรณี เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่ต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนช่วยกันยกร่างแผน ข้อมูลการจัดเก็บ การถ่ายทอดเทคโนโลยี จัดลำดับความสำคัญและเชื่อมโยงบทบาทของ สกสว. กับหน่วยงานต่าง ๆ สร้างเครือข่ายนักวิชาการที่สนใจเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยอาจเสนอเป็นแผนระดับชาติเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ และสนับสนุนการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รัฐมนตรี อว.ให้ความสำคัญกับเรื่องธัชภูมิหรือภูมิปัญญาของพื้นที่ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงพื้นที่กับภูมิภาค ซึ่งสามารถนำบูรณาการกันได้” ผู้อำนวยการสกสว.กล่าวสรุป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save