วว.มุ่งวิจัยกัญชา 3 ด้านหลัก เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย – ถูกต้องตามกฎหมาย


วว.มุ่งวิจัยกัญชา 3 ด้านหลัก เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย - ถูกต้องตามกฎหมาย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดงานสัมมนาวิชาการ “The International Cannabis-based Medicine Industry 2019” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าของงานวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ของสารสกัดกัญชา รวมทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่าง ๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันการนำกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายทั่วโลก ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ส่งเสริมความเข้าใจ และรับทราบถึงความก้าวหน้าทางการวิจัย รวมถึงการนำกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ วว. จึงร่วมกับบริษัท GH Medical ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อันดับต้นๆของโลก จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “The International Cannabis-based Medicine Industry 2019” เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจด้านการวิจัยและพัฒนากัญชงและกัญชาในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมข้อมูลพื้นฐาน ประวัติความเป็นมา กฎระเบียบสากล และกรอบแนวคิดของข้อกฎหมายของการนำกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และในด้านอื่น ๆ ในอนาคต

วว.เน้นงานวิจัย 3 ด้านหลักรองรับการใช้กัญชาตามกม.

สำหรับงานวิจัยและพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์กัญชงและกัญชา ทั้งด้านความเชี่ยวชาญของบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือโดยวว.จะทำการปลูกและทดลองใน Plant Factory เหมือนพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง แต่จะมีความพิเศษตรงที่มีการดูแลควบคุมและต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายเป็นพิเศษ มีการติดกล้องวงจรปิดและมีเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจความเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง ใครจะเข้าจะออกต้องได้รับอนุญาต อาจจะเรียกได้ว่าเป็นห้องมั่นคง เพื่อที่จะให้กัญชงและกัญชาที่นำมาทดลองปลูกนั้นมีประสิทธิภาพที่เหมาะสมในการนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ

ทั้งนี้งานวิจัยของวว. เพื่อรองรับการนำกัญชงและกัญชาไปใช้นั้น จะเน้น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ด้านการเพาะปลูก การวิจัยสภาพดิน น้ำ สายพันธุ์ สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกเพื่อนำมาสกัดใช้ตามกรอบของกฎหมายที่กำหนด 2. ด้านการสกัดและวิเคราะห์สารสำคัญ ทีมนักวิจัยของ วว. ประมาณ 20 คนที่มีความเชี่ยวชาญจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสมุนไพรเข้ามาช่วยในด้านการสกัดสาระสำคัญจากกัญชงและกัญชาว่ามีสาร CBD (Canabidiol) และ THC (Tetrahydrocannabinol) ในปริมาณเท่าใด มีสารปนเปื้อนอะไร อย่างไรบ้าง รวมทั้งศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยาในการนำไปทดสอบว่ากัญชาที่นำมาทดสอบนั้นเป็นของจริงหรือของปลอมเพื่อทดสอบสารตกค้างผลข้างเคียงอื่น ๆ และ 3.ด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่ากัญชงและกัญชา ก่อนนำไปใช้รักษาคนไข้เป็นอันดับแรก

สำหรับการต่อยอดใช้ในด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสกัดเป็นสารระเหย สกัดเป็นตัวยาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินและอื่น ๆ นั้น จะต้องควบคุมการใช้และการนำไปใช้ตามกฎหมายด้วย เนื่องจากกัญชงและกัญชายังถือเป็นสารเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2562 ไม่ได้เปิดเสรีให้ปลูกและใช้เหมือนอย่างในหลาย ๆประเทศ ซึ่งในขณะนี้ วว.ได้ดำเนินการวิจัยกัญชงและกัญชารองรับนโยบายรัฐบาลไว้แล้วในเบื้องต้น และอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาทดลองใช้จริงได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้การนำมาใช้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญทุกขั้นตอน” ดร.ชุติมา กล่าว

ทีมนักวิจัยกัญชงและกัญชาของ วว.
ทีมนักวิจัยกัญชงและกัญชาของ วว.

วว.พร้อมจับมือภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตร่วมวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชา – นำไปถูกต้องตามกม.

ในส่วนของการเผยแพร่องค์ความรู้ในการนำกัญชงและกัญชาไปใช้ในสังคมไทยยังมีความรู้ความเข้าใจที่ค่อนข้างน้อย เพราะหากนำไปใช้ในปริมาณที่มากและผิดวัตถุประสงค์จะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ จึงต้องมีการกำหนดกรอบการใช้และกำหนดกรอบการปลูก มีกฎหมายเฉพาะเพื่อป้องกันเหตุการก่อคดีอาชญากรรมและอื่น ๆ ที่จะสร้างเหตุแห่งความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคมได้ นอกจากนี้ในอนาคต วว.มีความยินดีหากภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจะเข้ามาร่วมทำงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชงและกัญชาร่วมกับ วว. เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ และพัฒนาการนำไปใช้ตามที่กฎหมายกำหนด

“ส่วนการเผยแพร่งานวิจัยสู่ประชาชนนั้นยังคงต้องรอในการศึกษาผลกระทบรอบด้านเสียก่อน เนื่องจากมีข้อดีและข้อเสียอีกหลายด้านที่ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการนำไปใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ สำหรับราคาของสารสกัดกัญชงและกัญชาที่นำไปใช้นั้นอยู่ที่กรรมวิธีในการสกัดกัญชงและกัญชาให้ได้สารที่สามารถนำมารักษาโรคให้หายขาดได้และผู้ป่วยไม่ได้รับผลข้างเคียงของการรักษาให้มากที่สุด” ดร.ชุติมา กล่าว

Dr.Joost Heeroma

พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำสกัดสาร CBD ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยไทย

Dr.Joost Heeroma บริษัท GH Medical กล่าวว่า การนำสารสกัดที่ได้จากกัญชาไปใช้ในแต่ละประเทศนั้นมีการนำไปใช้แตกต่างกันตามเงื่อนไข ข้อห้ามและกฎหมายของแต่ละประเทศ สำหรับการนำกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์การแพทย์ในประเทศไทยนั้นมีหน่วยงานที่ทำการวิจัยเช่น วว. แต่การนำไปใช้นั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับเพราะกัญชายังถือเป็นสิ่งเสพติดให้โทษที่ผิดกฎหมาย แต่ในอนาคตเมื่อกฎหมายในประเทศไทยได้มีการปรับแก้ให้กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ก็จะนำงานวิจัยที่มีอยู่มาใช้ พร้อมทั้งร่วมศึกษาและนำงานวิจัยพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการสกัดสาร CBD เพื่อนำไปใช้ในปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย ไม่ว่าจะสกัดเป็นตัวยาสำหรับรับประทาน สูดดม ทาและรักษาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือด เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องมีแพทย์ผู้ชำนาญดูแลตลอดการรักษาด้วย อีกทั้งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมารองรับด้วย

นอกจากนี้อาจจะนำข้อมูลงานวิจัย กรณีการรักษาจริงของผู้ป่วยในต่างประเทศที่ใช้สารสกัดจากกัญชารักษาอาการป่วยเทียบเคียงกับการรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยตามอาการป่วยของแต่ละโรค ซึ่งจะช่วยให้การรักษารวดเร็ว ไม่ต้องทดลองใช้ยาในการรักษาได้

Christopher Smith

นำเทคโนโลยี AI และ Blockchain มาใช้อุตสาหกรรมยาที่มีส่วนผสมของกัญชา

Christopher Smith บริษัท GH Medical กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลเข้ามาใช้สำหรับอุตสาหกรรมยามีหลากหลายประเภทเพื่อให้เกิดความสะดวก ลดความผิดพลาดจากการใช้แรงงานคนในการทำงาน ในระยะแรกอาจจะใช้ QR Code เพื่อระบุที่มาของยาแต่ละประเภท แต่เนื่องจากพบว่ามีการก็อบปี้ QR Code ไปใช้ ทำให้เกิดยาจริงและยาปลอมปะปนกันยากที่จะแยกแยะและควบคุมได้ ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง โดยเฉพาะการสกัดกัญชาที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาเพราะกัญชามีมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ในโลกนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเทียบเคียงและคัดแยกด้วยสายตา ว่าแต่ละสายพันธุ์มีที่มาจากประเทศใดบ้าง มีข้อมูลทางพันธุกรรมเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงประเมินผลที่จะกระทบต่อร่างกายเมื่อนำมาใช้ทั้งทางด้านการแพทย์และด้านอื่น ๆ
ต่อมาจึงได้มีการนำเทคโนโลยีประดิษฐ์ AI (Artificial Intelligence) และ Blockchain มาใช้ พบว่า AI ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งเรื่องการปลูก ข้อมูลแสงสว่าง ความชื้น ดิน ปุ๋ย การบันทึกการเติบโตในแต่ละวัน ซึ่งมี ข้อมูลจำนวนมาก หากใช้แรงงานคนทำก็จะเสียเวลาและข้อมูลที่ได้อาจจะไม่ครบถ้วน ขณะที่เทคโนโลยี Blockchain สามารถแก้ปัญหาการก็อปปี้สินค้าได้ดีเยี่ยม เนื่องจากมีระบบสอบย้อนกลับถึงที่มาว่ากัญชาที่นำมาใช้นั้นเป็นของแท้หรือไม่ มีการผลิตตั้งแต่เมื่อใด สายพันธุ์ใดที่ใช้ผลิตสำหรับเป็นยาหรือเป็นสารอื่น ๆ มีการนำไปใช้แล้วที่ไหนบ้าง และที่สำคัญช่วยตรวจสอบสารสกัด TSC (Total Solid Content) ตามกฎหมายของแต่ประเทศด้วย

สำหรับประเทศไทย การใช้กัญชาในวงการแพทย์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้หน่วยงานและบุคคลใดบ้างที่สามารถปลูก และสามารถเข้าถึงกัญชา ซึ่งต้องมีการนำ AI, Blockchain และ Data Center มาใช้เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อที่จะประมวลผลการคัดเลือกสายพันธุ์และการปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งนำตัวอย่างกรณีการรักษาในประเทศและต่างประเทศเปรียบเทียบย้อนหลัง ทั้งผลข้างเคียงและประโยชน์และโทษที่จะนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้อย่างรอบด้าน ที่สำคัญจะต้องตรวจสอบสารสกัด TSC ให้ไม่เกิน 1% ตามกฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save