วช. จับมือเครือข่ายนักวิจัยนำเสนอนวัตกรรมรับมือฝุ่น PM 2.5 พร้อมแนะแนวทางแก้ปัญหาในแต่ละภูมิภาคของประเทศ


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “วิจัย นวัตกรรม สู้ฝุ่นจิ๋ว”เพื่อนำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ

วช.เผย 2-3 ปีที่ผ่านมาปัญหาฝุ่น PM 2.5 เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เป็นปัญหาที่ไทยได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในประเทศไทยในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพและกระทบกับสิ่งแวดล้อมในวงกว้างขึ้น

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหารัฐบาลยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมทำวิจัย สร้างนวัตกรรมที่ช่วยชะลอ ยับยั้ง ตรวจสอบพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่ง วช. ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนด้วย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ตามแพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โปรแกรมที่ 7 โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตร แผนงานที่สำคัญ (Flagship Project) กลุ่มเรื่อง PM2.5 เพื่อใช้การวิจัยและนวัตกรรมจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในเรื่องคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน
เพื่อมุ่งเน้นการลดปัญหามลพิษทางอากาศ สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ วิจัยศึกษาองค์ประกอบและแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ การตรวจสอบคุณภาพการแพร่กระจายของหมอกควัน การใช้งานระบบพยากรณ์คุณภาพอากาศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง รวมทั้งการติดตามการเฝ้าระวังและการเตือนภัยคุณภาพอากาศของประเทศไทย เป็นต้น

โดยวช.ได้มอบทุนให้กับหน่วยงานต่างๆที่จะนำไปใช้ทำงานวิจัย สร้างนวัตกรรมในการตรวจสอบฝุ่น PM 2.5 เช่น เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ Dustboy ที่สามารถวัดค่า PM2.5ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รายงานค่าที่วัดได้แบบเรียลไทม์ ที่สำคัญพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้อย่างน้อย 3 วัน ขณะนี้ได้นำไปติดตั้งจุดพื้นที่เสี่ยงที่เกิดฝุ่น PM 2.5 แล้วกว่า 200 จุดในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ

นอกจากนี้วช.ได้ใช้งานวิจัยพัฒนานวัตกรรม เรื่องฝุ่น PM 2.5 สร้างเครือข่ายงานวิจัยสนับสนุนผลงานเชิงรุกเพิ่มเติมทั่วประเทศ เพื่อให้แต่ละพื้นที่นำงานวิจัย นวัตกรรมที่คิดค้นได้ไปช่วยให้ฝุ่นในแต่ละพื้นที่ลดลงอย่างยั่งยืน

ผลการศึกษาพบก.ท.ม.มีฝุ่นละเอียดที่มีสารก่อมะเร็ง

เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์จำนวนมาก

ผศ. ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำงานวิจัยฝุ่น PM 2.5 เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัย จาก วช. ในการวิจัยในพื้นทีJกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นได้ศึกษาชั้นบรรยากาศและมลภาวะทางอากาศบนตึกสูงของกรุงเทพมหานคร พบว่า กรุงเทพมหานคร นั้นมีฝุ่นละเอียดที่มีองค์ประกอบของสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์จำนวนมาก และมีวัฏจักรเกิดฝุ่น 4 แบบในรอบปี ได้แก่

1. ฝุ่นหลังเที่ยงคืนที่ความเข้มข้นของฝุ่นสูงมากถึง 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มักจะเกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ 2. ฝุ่นจากอุณหภูมิผกผัน
ซึ่งอุณหภูมิที่ผกผันทำให้เกิดสภาวะลมนิ่งเหมือนมีฝาชีครอบทำให้ฝุ่นระบายออกจากพื้นที่ไม่ได้ทำให้อากาศไม่บริสุทธิ์หายใจอึดอัดและส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจตามมาได้ มักจะเกิดในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์ เช่น เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 14 – 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา จากการเผาไหม้ของรถยนต์และการเผาในภาคการเกษตร เป็นต้น 3. ฝุ่นเคลื่อนที่ระยะไกล ซึ่งเป็นฝุ่นที่ถูกพัดพามาจากพื้นที่อื่นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของทุกๆเดือนแต่เกิดในปริมาณมากในช่วง เดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม และจะมีปริมาณฝุ่นมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละช่วงปีประกอบด้วย และ4. ฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดขึ้นเมื่อมีแสงแดดจัดและทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกลายเป็นฝุ่นขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องมีการทำวิจัยฝุ่นในแต่ละช่วงอย่างละเอียดและสร้างนวัตกรรม ลดการใช้รถยนต์ในบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งการฉีดน้ำพ่นเพื่อกำจัดฝุ่นในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นจำนวนมากให้เบาบางลง เช่น พื้นที่เขตดินแดง อโศก สุขุมวิท ในช่วงเวลาการจราจรเร่งด่วน ในช่วงเช้า 07-00-09.00 น.และช่วงเย็น 16.00-18.00 น. และควรใช้กฎหมายที่ควบคุมห้ามรถบรรทุกทุกชนิดเข้าในพื้นกรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเด็ดขาด อีกทั้งควรมีการควบคุมการก่อสร้าง อาคารสูงให้มีการใช้ผ้าคลุมในระหว่างการทำการก่อสร้างใหม่หรือทุบทิ้งอาคารเก่า ซึ่งหลายๆครั้งจะพบว่าการก่อสร้างจะส่งผลให้เกิดฝุ่นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครควรร่วมกับพื้นที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานครหาวิธีการและแนวทางในการควบคุมการเผาในภาคการเกษตร ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุในอนาคตที่จะเพิ่มความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 เข้าในพื้นที่ โดยร่วมกับหน่วยงานการเกษตรลงพื้นที่แนะนำเกษตรกรให้เข้ามามีส่วนร่วมในการลดการเผาเศษเหลือจากการทำการเกษตรไปทำเป็นปุ๋ยหมัก นำไปฝังกลบเพื่อเพิ่มธาตุอินทรีย์ในดิน หรือแม้กระทั่งใช้มาตรการรุนแรงทางกฎหมาย จับและปรับเกษตรกรที่เผาเศษเหลือจากการทำการเกษตรให้เป็นกรณีตัวอย่าง เป็นต้น

แหล่งกำเนิดของ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอีสาน

มาจากรถยนต์ -โรงงาน – การเผา

รศ.ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ หัวหน้าวิจัยสถานวิจัย สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วแหล่งที่มาของ PM 2.5 มาจากการเผาไหม้จากเชื้อเพลิงรถยนต์ทุกประเภทที่ไม่สมบูรณ์ ประมาณ 30 % โรงงานภาคอุตสาหกรรมประมาณ 30 % การเผาจากการทำการเกษตรประมาณ 30 % และการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราประมาณ 10 % ขึ้นอยู่กับการเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่ด้วย จึงจำเป็นต้องมีการทำศึกษาและเก็บข้อมูลเป็นสถิติในทุกๆปีเพื่อนำมาสังเคราะห์ วิเคราะห์เพื่อที่จะทำการสร้างนวัตกรรมในการเริ่มที่จะแก้ไขปัญหาในแต่ละปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งประเทศไทยเพิ่งที่จะทำการวิจัยและคิดค้นสร้างนวัตกรรมในการควบคุม ตรวจสอบฝุ่น PM
2.5 อย่างจริงจังเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมานี้เอง

“อยากให้หลายงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเก็บรวบรวมข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่แล้วนำมารวบสู่หน่วยงานกลางรวบรวมแหล่งกำเนิดหลักว่าปัญหาของฝุ่น PM 2.5 จะเปลี่ยนแปลงไปตามพื้นที่ใดบ้างและการเปลี่ยนแปลงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อมาจัดทำมาตรฐานสภาพอากาศของไทย โดยนำมาตรฐานสภาพอากาศของสากลมาเปรียบเทียบด้วย” รศ.ดร.นเรศ
กล่าว

สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นส่วนใหญ่แล้วปัญหา PM 2.5 จะเกิดจากการเผาทางการเกษตรเผาฟางข้าว เศษใบอ้อย เป็นส่วนใหญ่เนื่องจากพื้นที่เป็นการทำการเกษตร รองลงมาจะมาจากการใช้รถยนต์ รถบรรทุกและรถอื่นๆสัญจรนั่นเองการที่จะสามารถทราบสภาพอากาศ สภาพฝุ่นPM 2.5 ได้แบบเรียลไทม์มากขึ้นคือการสร้างสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ของกรมควบคุมมลพิษ และปัจจุบันนี้มีการสร้างสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่มากขึ้น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีที่ในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา ในตัวเมืองขอนแก่น และในตัวเมืองเลย เป็นต้น แต่สิ่งที่จำเป็นและต้องปรับให้ทันกับฝุ่น PM 2.5 คือการบังคับใช้กฎหมายในทุกๆพื้นที่ควบคุมแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 อย่างเข้มงวดและทำงานร่วมกันโดยมีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นศูนย์รวมการจัดทำบัญชีแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 อาจจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแห่งใด เพื่อให้หน่วยงานเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้ไปใช้แก้ปัญหาการเกิดฝุ่น PM
2.5 สะดวก รวดเร็ว แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด

“หากแก้ปัญหาในระดับมหภาคไม่ได้ก็ให้เริ่มแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่ตัวเราก่อน เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รถบริการสาธารณะที่มีอยู่ ปั่นจักรยานไปสอนในมหาวิทยาลัย ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมทั้งช่วยกันปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการไม่ก่อมลพิษฝุ่น PM 2.5 ให้แก่เยาวชนอีกด้วย” รศ.ดร.นเรศ
กล่าว

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ

เกิดขึ้นจากฝีมือคนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน


รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง ผู้อำนวยโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาซับซ้อน ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิชาการเพียงอย่างเดียว และเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมทางสังคม นับเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยและเป็นโจทย์ใหญ่เพราะมีทั้งฝุ่นที่เกิดขึ้นจากฝีมือคนไทยและมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากทำได้ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ระยะยาว

สำหรับภาคเหนือใน 10 จังหวัดนั้นมีหลายปัจจัยให้เกิดฝุ่น ทั้งลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ มีทั้งแอ่งลำพูน แอ่งเชียงใหม่และแอ่งลำปาง เป็นต้น ลักษณะภูมิอากาศที่เอื้อให้เกิดฝุ่นตามฤดูกาล อีกทั้งในพื้นที่เกิดไฟป่าทุกปี แต่ละปีมีกว่า 30-50 ไร่ที่ถูกเผาโดยน้ำมือมนุษย์และอีกประมาณ 10 กว่าไร่ที่ถูกเผาโดยธรรมชาติ ซึ่งในอดีตไม่มีผลกระทบมากนัก แต่เมื่อช่วงปี พ.ศ.2558-2559 เป็นต้นมา มีปัญหามากขึ้น เพราะบริบททางสังคม เศรษฐกิจ อากาศและอาชีพของคนเปลี่ยนไปเป็นการประกอบอาชีพนำพืชผลเชิงเดี่ยวที่มีมูลค่าไปปลูกมากขึ้นเนื่องจากราคาพืชผลชนิดนี้มีราคาสูงและตลาดมีความต้องการ
จึงเป็นปัญหายากที่จะแก้จวบจนปัจจุบัน

“การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เปรียบเสมือนต้นน้ำของปัญหาเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งเป็นกลางน้ำในการนำนโยบายการแก้ไขปัญหาเข้าไป แนะนำไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ซ้ำซาก พร้อมแนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้น รวมทั้งนำงานวิจัย นวัตกรรมและเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นปลายน้ำเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เข้มข้นเพื่อลดสาเหตุและต้นเหตุของแหล่งที่เกิดไฟป่าซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ภาคเหนือที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งไม่น่าเที่ยว ไม่มีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่เกิดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว และผลผลิตไม้ผลเมืองหนาวออกสู่ตลาดให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวอย่างเดิมอีกครั้ง” รศ.ดร.เสริมเกียรติ กล่าว

ฝุ่น PM 2.5 ในภาคใต้มาจากรถติด

และจากการเผาป่าพรุในอินโดนีเซีย

ศ. ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า ปกติภาคใต้มีอากาศสะอาดทั้งปีเพราะมีพื้นที่ขนาบด้วยทะเลทั้งสองฝั่ง อาจมีปัญหารถติดในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวบ้าง เช่น จังหวัดภูเก็ต สุราษฎ์ธานี ตรังและนครศรีธรรมราช รวมทั้งปัญหาฝุ่นละอองจากประเทศเพื่อนบ้านจากการเผาป่าพรุในอินโดนีเซียในช่วงประมาณเดือนกันยายนจนถึงต้นเดือนมกราคมในปีถัดไปหากในปีนั้น มีช่วงฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้น้อยกว่าปกติ ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กจากอินโดนีเซียนี้มีระยะทางพัดไกลกว่า 1,000 กิโลเมตรและจะถูกกระแสลมบนพัดมาถึงประเทศไทยในเวลาเพียง 1-2 วัน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ยิ่งมีปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ยิ่งทำให้ไฟป่ารุนแรงและมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่สูงมาก และพบความเป็นพิษของฝุ่นสูงทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจในพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย จึงต้องแก้ปัญหาทั้งระบบอย่างจริงจังหากเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ควรพูดคุยเจรจากันในระดับรัฐส่วนในระดับประเทศไทยนั้นในเชิงการทำงานควรร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาที่แหล่งกำเนิดทั้งในชุมชน ในสังคมเมือง โดยให้เจ้าของพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในทุกกระบวนการ

“อย่าทำเพียงภาครัฐ หรือทำเพียงชุมชน ครั้งสองครั้งแล้วละทิ้ง ไม่มีการต่อยอดการทำงาน จะสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ที่สำคัญต้องสร้างการตระหนักรู้ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เจ้าของพื้นที่อนุรักษ์และรับผิดชอบพื้นที่ พร้อมดูแลให้เรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่ทุก ๆคนต้องช่วยกันอย่างจริงจัง หากจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปจัดการก็ควรชี้แจงให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ทราบ ไม่ใช้กฎหมายบังคับเพราะจะไม่ได้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาและการเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ในแต่ละพื้นที่เป็นสิ่งที่จำเป็นควรมีเพื่อที่จะนำมาเปรียบเทียบ สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป” ศ. ดร.พีระพงศ์ กล่าว

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save