วว. คว้า 2 รางวัลเลิศรัฐ “บริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ”ประจำปี 2562 จาก ก.พ.ร.


สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จำนวน 2 รางวัล ได้แก่โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งนวัตกรรมเกษตร

ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ได้รับรางวัลเลิศรัฐหรือรางวัลบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) และ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้แก่ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งนวัตกรรมเกษตร

รางวัลเลิศรัฐเป็นรางวัลที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาตัดสินมอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรและเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยจะมีการมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 ให้แก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัล ในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี

“นับเป็นความภาคภูมิใจของ วว. อีกวาระหนึ่ง ที่ผลการดำเนินงานขององค์กรได้รับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งเป็นปีแรกที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้รับสิทธิ์ให้ส่งผลงานเข้าร่วมพิจารณาเข้ารับรางวัล วว.จะนำความสำเร็จนี้มาเป็นแรงพลังขับเคลื่อนองค์กรในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปสร้างประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติทุกห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของเศรษฐกิจต่อไป” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นวัตกรรมอาหาร

โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร เป็นโรงงานอาหารมาตรฐาน ดำเนินงานโดย วว. ให้บริการผู้ประกอบการอย่างครบวงจร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการและการบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิต เพื่อการผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรม เพื่อ“ลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ” นับเป็นเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยสนับสนุนขับเคลื่อนวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ “Thailand 4.0”

โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร วว. ประกอบด้วย ระบบเครื่องจักรสายการผลิตเครื่องดื่มและเครื่องจักรสายการผลิตผลไม้อบแห้ง 2 ระบบ โดยเป็นระบบที่ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐานการผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตอาหารที่ดี (Good Manufacture Practice ,GMP) ได้แก่ เครื่องจักรเพื่อการผลิตผลไม้แช่อิ่มและอบแห้ง 1,200 กิโลกรัม/ครั้ง เครื่องจักรเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร Freeze dry 200 กิโลกรัม/ครั้ง เครื่องทอดสุญญากาศ 15 กิโลกรัม/ครั้ง เครื่องจักรเพื่อการผลิตเครื่องดื่มบรรจุกล่อง UHT 1,000 ลิตร/ชั่วโมง และเครื่องจักรเพื่อการผลิตเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้ว 500 ลิตร/ชั่วโมง

บริการโรงงานและห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตและตรวจสอบคุณภาพ

ดร. ชุติมา กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2561 วว. ให้บริการโรงงานและห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตและตรวจสอบคุณภาพ/การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่แก่ผู้ประกอบอาหารผ่านการใช้โครงสร้างพื้นฐานโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร จำนวน 97 ราย และให้การอบรมด้านแปรรูปอาหารแก่ผู้ประกอบการที่สนใจ จำนวน 827 ราย พัฒนาผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ อาทิ เครื่องดื่มน้ำนมข้าว ผลิตมะม่วง Freeze Dried น้ำข้าวกล้องงอกเสริม GABA จากข้าวไรซ์เบอรี่บรรจุกล่อง UHT ผลิตภัณฑ์สตรอเบอรี่แช่อิ่มอบแห้ง เป็นต้น

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร

ส่วนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งนวัตกรรมเกษตร วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว. ให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร มุ่งดำเนินงานต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยใช้หลักการของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางการเกษตร ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนแก่อาชีพเกษตรกรรม

ผลที่ได้จากดำเนินโครงการฯ ในปี พ.ศ.2561 ได้แก่ 1.สำรวจและรวบรวมข้อมูลนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นรายตำบล ได้จำนวนทั้งสิ้น 878 ภูมิปัญญา (เฉลี่ย 1 ภูมิปัญญา/ตำบล) 2.ต่อยอดนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 300 เทคโนโลยี โดยถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลิตผล รวมถึงการจัดการผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อคงคุณภาพ 3.จำนวนผู้เข้ารับการถ่ายทอดความรู้และเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยตรงจำนวนทั้งสิ้น 10,746 คน โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่นจำนวน 3.14 คน ทำให้มีผู้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ประมาณ 33,742 คน รวมแล้วมีจำนวนผู้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ประมาณ 44,488 คน และ 4.จำนวนกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรเชิงลึก (Skill Intensive) จำนวนทั้งสิ้น 200 กลุ่ม


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save