วว. ใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมในอุตฯ เอทานอล ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต – ลดต้นทุน เร่งภาครัฐออกมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ


วว. ใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมในอุตฯ เอทานอล ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต - ลดต้นทุน เร่งภาครัฐออกมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ
ภาพตัวอย่างยีสต์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดสัมมนาเผยผลการศึกษา “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมในอุตสาหกรรมเอทานอล” โดยผลวิจัยชี้ว่า การใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล ลดต้นทุนการผลิตเอทานอลในส่วนของการใช้เอนไซม์ลงได้ประมาณ 25% หรือลดต้นทุนได้ 1.18 บาทต่อการผลิตเอทานอล 1 ลิตร ย้ำผ่านการทดสอบการประเมินผลด้านปลอดภัยทางชีวภาพแล้วว่าไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ระบุหากประเทศไทยนำยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล จะต้องเร่งออกมาตรการเพื่อควบคุมและกำกับการใช้งานเชื้อจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม โดยยึดถือมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสำคัญ

สัมมนาเผยผลการศึกษา “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมในอุตสาหกรรมเอทานอล”

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอล ทั้งในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและกระบวนการผลิต เป็นเวลากว่า 5 ปี โดยทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับกึ่งอุตสาหกรรมภายใต้โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลังสด/มันเส้น (2559) และ โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (2561) รวมถึงล่าสุดโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมในอุตสาหกรรมเอทานอล ที่ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยวว. ได้ดำเนินการศึกษาโดยการใช้วรรณกรรมวิจัยเพื่อสืบค้น และรวบรวมสถานภาพความก้าวหน้าในการพัฒนาพันธุกรรมเชื้อยีสต์เพื่อผลิตเอทานอล และแนวทางในการดำเนินการในต่างประเทศเพื่อกำกับ ควบคุมหรือส่งเสริมการใช้และการวิจัยในสาขาดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อยีสต์ที่มีการตัดแต่งพันธุกรรมด้วยเชื้อยีสต์จากธรรมชาติของประเทศไทย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการผลิตเอทานอล และด้านคุณสมบัติอื่น ๆ ที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตเอทานอลอื่น ๆ เช่น สารพลอยได้ และ ของเหลือจากกระบวนการผลิตเอทานอลโดยยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม รวมถึงความปลอดภัยทางชีวภาพ

จากการศึกษาวิจัย วว. สามารถคัดเลือกยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม คือ สายพันธุ์ MD1 สำหรับวัตถุดิบมันสำปะหลัง มีความสามารถในการผลิตเอนไซม์กลูโคอะไมเลสได้ ช่วยในการผลิตเอทานอลที่ความเข้มข้นสูง สามารถลดต้นทุนการผลิตเอทานอลในส่วนของการใช้เอนไซม์ลงได้ ส่วนเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม GY1 สำหรับวัตถุดิบประเภทกากน้ำตาล มีศักยภาพในการผลิตเอทานอลได้ดีกว่าเชื้อยีสต์อุตสาหกรรม เมื่อทำการผลิตเอทานอลที่ใช้ความเข้มข้นตั้งต้นของกากน้ำตาลสูง ส่วนการทดสอบประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของการใช้เชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม และเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุ์กรรมผ่านการทดสอบประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพว่า ไม่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์

“งานวิจัยดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยด้านจุลินทรีย์ของ วว. ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล สนับสนุนให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (BCG) ของประเทศ ซึ่ง วว. ศักยภาพและความสามารถในการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.พงศธร ประภักรางกูล

ดร.พงศธร ประภักรางกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาในวัตถุดิบมันสำปะหลัง วว. ทำวิจัยโดยใช้เชื้อยีสต์ MGT 1/1 จากศูนย์จุลินทรีย์ วว. และเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม MD1 มีความสามารถในการผลิตเอนไซม์กลูโคอะไมเลสได้เทียบเคียงกัน แต่ประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอลของเชื้อยีสต์ MD1 จะดีกว่าเชื้อยีสต์ MGT 1/1 ในการผลิตเอทานอลที่ความเข้มข้นสูง และสามารถลดต้นทุนการผลิตเอทานอลในส่วนของการใช้เอนไซม์ลงได้ประมาณ 0.45 บาทต่อการย่อยมันสำปะหลัง 1 กิโลกรัม หรือลดต้นทุนการใช้เอนไซม์ลงได้ 1.18 บาทต่อการผลิตเอทานอล 1 ลิตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งให้ผลลักษณะเดียวกันกับการผลิตเอทานอลด้วยวัตถุดิบประเภทกากน้ำตาลกล่าวคือ เชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรม GY1 มีศักยภาพในการผลิตเอทานอลได้ดีกว่าเชื้อยีสต์อุตสาหกรรม SC-90 เมื่อทำการผลิตเอทานอลที่ใช้ความเข้มข้นตั้งต้นของกากน้ำตาลสูง

ส่วนการทดสอบประเมินผลกระทบด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของการใช้เชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมและเชื้อยีสต์จากธรรมชาติในการผลิตเอทานอล โดยวิธี Reverse Mutagenicity (AMEs Test) พบว่าเชื้อยีสต์ที่นำมาทดลองทั้งเชื้อยีสต์จากธรรมชาติ และเชื้อยีสต์ดัดแปลงพันธุกรรมล้วนแล้วแต่ไม่พบฤทธิ์ก่อการกลายพันธุ์

จากผลการดำเนินการโครงการฯ สามารถสรุปได้ว่า การผลิตเอทานอลโดยใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูงจากทั้งวัตถุดิบที่เป็นกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล และลดต้นทุนการผลิตเอทานอลได้อย่างมีนัยสำคัญ

“หากประเทศไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งออกมาตราการเพื่อควบคุมและกำกับการใช้งานเชื้อจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม โดยยึดถือมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสำคัญ” ผู้ว่าการ วว.กล่าวสรุปทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save