มูลนิธิ รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร แนะไทยเร่งสร้างเครือข่าย แพทย์ นักวิจัย ผู้ประกอบการ ผลิตเครื่องมือแพทย์ใช้ในประเทศ-ส่งออก


กรุงเทพฯ   :  มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ จับมือ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข และสภาผู้แทนราษฎร ชี้ไทยต้องก้าวข้ามกับดักการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ หลังพบไทยสูญงบประมาณในการ นำเข้าต่อปีนับหมื่นล้านบาท เผย 3 ปัจจัยหลักกระทบไทยพัฒนานวัตกรรมรับวิกฤตสุขภาพ 1.ทงบประมาณด้านงานวิจัยที่มีเพียง 1.09% ของจีดีพี 2.กำลังคนคุณภาพ ที่ปัจจุบันมีถึง 1.6 แสนคน แต่กลับขาดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน เพื่อต่อยอดศักยภาพและ 3. กฎหมายส่งเสริมงานวิจัย ในมิติของจัดสรรรายได้ที่เกิดจากการต่อยอดงานวิจัย แก่ทีมวิจัยและคณะ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพงานวิจัย พร้อมแนะตามรอยญี่ปุ่น ใช้หลักคิดแบบ ‘ฟาสต์แทร็ก’ ขมวดแรงจูงใจ-การสนับสนุน กระตุ้นให้เกิดการผลิตในภาคผู้ประกอบการ โดยมีรัฐหนุนหลัง และสร้างความภาคภูมิใจแก่ประชาชนให้เกิดความสนใจและอยากใช้ของภายในประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารฯ ร่วมกับ คณะกรรมมาธิการการสาธารณสุข และ สภาผู้แทนราษฎร จัดงานเสวนาระดมความคิดเห็น เรื่อง เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข” ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สร้างความรู้ความเข้าใจต่อการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม สู่การจัดทำเป็นข้อสรุป ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการ ทั้งในมิติการศึกษาวิจัยและพัฒนา การทดสอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติได้ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการสาธารณสุขเป็นลำดับต่อไป

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ และ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเผชิญ 2 กับดักสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาที่ไม่เท่าทันประเทศอื่น โดยกับดักแรกคือ คุณภาพการศึกษา ที่ถึงแม้จะเรียนฟรี แต่ในทางกลับกัน โรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้นทุกปี 30% และกับดักที่สอง ระบบสาธารณสุขไทย ที่บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพไม่เป็นรองใคร แต่เครื่องมือกลับไม่เอื้ออำนวยต่อการรักษาพยาบาล ต้องนำเข้าเครื่องมือแพทย์มูลค่านับหมื่นล้านบาทต่อปี

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปลดล็อกกับดักดังกล่าวได้ ที่ผ่านมา สจล. จึงเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรใหม่รองรับยุคดิสรัปชัน ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในช่วง COVID-19 ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อกระจายสู่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นจำนวนมากกว่า 800 ชิ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนต่อยอดเทคโนโลยีซุปเปอร์เอไอ (Super AI) คอมพิวเตอร์เร็วที่สุดในประเทศไทย ที่กำกับดูแลโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) เพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ทางไกล หรือ เทเลเฮลท์ (Telehealth) ตลอดจนนำมาใช้จริงภายใน “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” หรือ “KMC Hospital” โรงพยาบาลศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจร แห่งแรกของไทย ที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และขยายผลสู่การจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” นอกจากนี้ ยังพร้อมเป็นพื้นที่ดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพคนไทย รวมถึงแหล่งเรียนรู้ของนักวิจัยและนักศึกษาแพทย์ในอนาคต

ดร.นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ รับวิกฤตสุขภาพ มี 3 ปัจจัย คือ งบประมาณ เพราะงบประมาณด้านวิจัยและนวัตกรรมของไทย ในช่วงต้นปี พ.ศ.2564 มีเพียง 1.09% ของจีดีพี (GDP) เท่านั้น อีกทั้งประมาณดังกล่าว ยิ่งลดลงทวีคูณโดยเฉพาะในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันพบว่า งบประมาณจากภาคเอกชน มีมากกว่าภาครัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วน 67:33 ดังนั้น ในกรณีที่ภาครัฐมีแผนจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น ระบบสาธารณสุขของไทยก็จะมีความพร้อมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน กำลังคน

ปัจจุบันไทย มีนักวิจัยศักยภาพสูงจำนวนถึง 160,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2561 ถึง 15% โดยเชื่อว่างานวิจัยจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และ กฎหมายส่งเสริมงานวิจัย ที่เห็นควรปรับปรุง เนื่องจากในช่วงนี้ รัฐสภาได้ประชุมร่วมเพื่อตั้ง ‘คณะกรรมาธิการ’ เพื่อพิจารณากฎหมายส่งเสริมการวิจัย ในสาระสำคัญที่ว่า “สิทธิในงานวิจัยยังคงเป็นของคณะทำงานวิจัย ที่ถึงแม้นักวิจัยจะได้รับทุนจากผู้สนับสนุน แต่ก็ต้องรายงานผลให้ผู้สนับสนุนได้รับทราบ และจะต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ภายใน 2 ปีตามข้อเสนอต่าง ๆ โดยที่มีส่วนแบ่งให้กับนักวิจัยและคณะด้วย เพื่อนำไปเพิ่มศักยภาพงานวิจัยให้ดีขึ้น” ซึ่งแนวทางดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้” เพื่อเร่งสร้างความหวังใหม่ของระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย

นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย โฆษกคณะกรรมการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า COVID-19 ได้ฉายภาพข้อจำกัดของระบบสาธารณสุขได้อย่างเด่นชัด ทั้งความพร้อม และโอกาสการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ประสิทธิภาพสูง ดังนั้น การมีเครือข่ายความร่วมมือที่ช่วยให้ “แพทย์” มาเจอกับทีมนักวิจัย วิศวกร ผู้ประกอบการธุรกิจ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของกรรมาธิการ ที่มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายครั้งนี้ คือ การสร้างเทคโนโลยีทางการแพทย์ และลดค่าใช้จ่ายของคนไทยในการเข้าถึงการรักษาในส่วนนี้

นพ.ยุทธพงษ์ หาญวงศ์ ประธานบริษัท University Quality กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทย สามารถส่งออกเครื่องมือแพทย์ได้เพียง 1% เท่านั้น เป็นเพราะไทยยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างผู้เชี่ยวชาญในมิติต่าง ๆ ทั้งกลุ่มแพทย์ สายงานการผลิต และวิศวกร อีกทั้งยังมีทัศนคติที่ต้องการพึ่งพานวัตกรรมต่างชาติ แทนการพึ่งพานวัตกรรมในประเทศ

“ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้เวลา 20 ปี ก็สามารถขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 2 ขณะที่รองลงมาคือ ไต้หวัน เกาหลี และประเทศจีน ที่เข้ามาเป็นน้องใหม่ไฟแรง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะญี่ปุ่นมีการวางแผนแบบ ‘ฟาสต์แทร็ก’ (Fast Track) ซึ่งหลอมรวมแรงจูงใจ (Incentive) และการสนับสนุน (Supportive) ที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตในภาคผู้ประกอบการ มีภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง และสร้างความภาคภูมิใจแก่ประชาชน หรือ End User เกิดความสนใจและอยากใช้ของภายในประเทศ ดังนั้น หากไทยสามารถนำฟาสต์แทร็กดังกล่าวมาใช้ได้ แนวคิดที่ว่า ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด’ ก็เป็นจริงได้” นพ.ยุทธพงษ์ กล่าว

รศ. นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดี ฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMC Hospital) กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMC Hospital) โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ครบวงจร แห่งแรกของไทย มิได้มุ่งหวังที่จะแข่งขันกับหน่วยงานใด แต่เน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้จากที่บ้าน (Home-Based Care) และเข้าถึงเทคโนโลยีสุขภาพ (e-Health) เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการนวัตกรรมการรักษา ที่คนไทยพัฒนาขึ้นเอง ในราคาที่ถูกลง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save