แนวทางพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย สู่ความเป็นเมืองน่าอยู่อย่างแท้จริง


เมืองอัจฉริยะ

“เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” เป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาค โดยรัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติ หวังให้เป็นกลไกที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศให้ก้าวไปด้วยกัน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมและเร่งสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” ต่อเนื่อง โดยในปีพ.ศ.2561 ได้นำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ในปีพ.ศ.2562 ขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน 5 ปี (2563-2565) จะปูพรมการพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 76 จังหวัดและ กทม. รวม 100 พื้นที่

ดร.ภาสกร ประถมบุตร

อาเซียนมุ่งสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ

ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานศูนย์ดิจิทัลและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 ทั้งนี้เมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ ทันสมัยให้ประชาชนในเมืองอยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน

ด้านความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนต่างผสานเมืองเข้ากับดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น นครบรูไนดารุสซาราม ทำงานร่วมกับอีริคสันนำร่องการสี่อสาร 5G และ IoT (Internet of Things) ด้านพนมเปญในกัมพูชา โดยสมาพันธ์ไอซีทีกำลังสร้างเมืองใหม่อัจฉริยะ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากไอซีทีหลายด้าน รวมทั้งแหล่งบริโภคอุปโภคและเชื่อมต่อกับประชาชน ขณะที่กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซียกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นนครแห่งความโปร่งใสและเมืองน่าอยู่ ด้านเมืองกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซียเร่งส่งเสริมการใช้ IoT ผ่านเครือข่าย Wide Area Network (WAN) ส่วนเมืองดานัง กำลังพลิกโฉมเป็นสมาร์ทซิตี้เมืองแรกของเวียดนาม ขณะที่เมืองย่างกุ้งในพม่า มีการเปิดระบบจ่ายเงินผ่าน Yangon Payment System ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการใช้รถขนส่งสาธารณะต่อไปด้วย

27 เมืองในไทยยื่นแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

สำหรับมิติของการเริ่มต้นพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ดร.ภาสกร เห็นว่า ควรกระตุ้นให้เมืองต่าง ๆ ตื่นตัวลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองของตนให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะตอบโจทย์และเข้าถึงความต้องการของประชาชนเมืองต่าง ๆ ได้ดีกว่า โดยรัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นเมืองอัจฉริยะ ผ่านกลไกด้านการจัดทำแผนนโยบายและแผนการขับเคลื่อนนำร่อง รวมไปถึงการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและประยุกต์ใช้งานเมืองอัจฉริยะทั้งในพื้นที่เมืองเดิม และเมืองใหม่ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) , Sandbox เพื่อทดสอบ, งบประมาณหรือทุน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มี 27 เมืองที่สนใจและได้ส่งแผนเข้าร่วมพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว

ทั้งนี้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องจัดทำข้อเสนอโครงการ 5 ข้อ เพื่อขอรับการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ประกอบด้วย 1.การกำหนดพื้นที่และเป้าหมาย (Vision & Goals) 2.แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Plan) 3.แนวทางการพัฒนาระบบข้อมูลและความปลอดภัย (City Data & Security) 4.บริการพื้นที่ และระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน (Solutions) และ 5.แนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน (Management)

เมืองอัจฉริยะ

7 เกณฑ์สำคัญสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ

คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะพิจารณาตัดสินตาม 7 เกณฑ์หลัก ได้แก่ 1.Smart Environment การพัฒนาเมืองในมิติของสิ่งแวดล้อม ที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้า

มาช่วยบริหารจัดการ 2.Smart Government การกำกับดูแลการให้บริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ 3.Smart Mobility ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand Smart Transportation 4.Smart Energy พัฒนาพลังงานอัจฉริยะในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงการข่ายไฟฟ้าหลัก 5.Smart Economy เมืองที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 6.Smart Living เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการอยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต 7.Smart People การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปิดกว้างให้กับความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม

เมืองอัจฉริยะต้องเป็นเมืองน่าอยู่ มีความเสี่ยงน้อย -โอกาสสูง

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่สามารถค้นพบในเมืองคือโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น เมืองอัจฉริยะ จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานชุดหนึ่งที่ต้องถูกออกแบบให้มีความอัจฉริยะ โดยภาพใหญ่ของเมืองอัจฉริยะ องคาพยพของเมืองทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานและผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น สามารถที่จะตอบสนองกับปัญหาและ Pain Point ที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูล (Data) เข้ามาช่วยให้การติดต่อสื่อและการเชื่อมต่อเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อม โอกาสทางธุรกิจ และสินค้าพื้นฐานใหม่ๆ ที่จะยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะและเป็นเมืองน่าอยู่

“ความเป็นเมืองน่าอยู่ จึงไม่ใช่แค่วาทกรรม แต่มีรายละเอียดของการเป็นเมืองที่มีโอกาสหลากหลายและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น อยู่แล้วมีความสุข แก้ปัญหาขยะ คุณภาพน้ำและมลพิษ สร้างโอกาสและรายได้ ปลอดภัย สะอาดและเป็นระเบียบ โปร่งใสในการบริหาร เดินทางสะดวกปลอดภัย เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการ ผู้สูงอายุ มีสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ เป็นเมืองที่เชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติแบบเรียลไทม์เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด” ผศ.ดร.ปุ่น กล่าว

ทั้งนี้เมืองมี 4 ระดับคือ เมืองอยู่ไม่ได้: มีทั้งความเสี่ยงสูงและไร้ซึ่งโอกาส, เมืองไม่น่าอยู่: ความเสี่ยงสูง โอกาสน้อย, เมืองอยู่ได้: ความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสปานกลาง ส่วนเมืองน่าอยู่ นั้นความเสี่ยงน้อยมากขณะที่โอกาสมีสูงมาก

โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมืองอัจฉริยะ

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมือง ประกอบด้วย 1.Traditional Infrastructure สาธารณูปโภคดั้งเดิม 2.Digital Infrastructure สาธารณูปโภคด้านดิจิทัลซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง 3.Charter หรือ กฎบัตร เพราะการพัฒนา เมืองอัจฉริยะนั้น ไม่ได้มีข้อปัจจัยเพียงในเรื่องของเทคโนโลยีและการลงทุนเท่านั้น แต่สิ่งที่ท้าทายของเมืองอัจฉริยะคือ จะทำงานร่วมกันอย่างไร ซึ่งหากดำเนินการถูกต้องมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้เกิด Public Asset Investment ขึ้นมา เพราะฉะนั้นงานที่สำคัญยิ่งยวดคือ Project Management หากการขับเคลื่อนบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละเมือง จะดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้

ฐาปนา บุณยประวิตร

หัวใจสำคัญของเมืองอัจฉริยะสู่ความมั่งคั่ง

ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย หัวหน้าคณะวิจัย โครงการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และสังคม (SG-SBC) กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะเป็นกลไกที่จะเดินไปสู่ความมั่งคั่ง หลักการสำคัญของเมืองอัจฉริยะ คือ 1. Multimodal Transportation Phase ควรจะเป็นเมืองที่มีหลายรูปแบบโหมดการเดินทางอย่างมีเป้าหมายและทิศทาง จำเป็นจะต้องศึกษาทำความเข้าใจและวิเคราะห์แก้ปัญหา วางแผนพัฒนารูปแบบการเดินทางของประชาชน 2. Innovation District เริ่มเรียนรู้ว่าเมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้น ส่งผลต่อกิจกรรมแรงหมุนทางเศรษฐกิจบริเวณรอบๆ มากขึ้น ดึงดูดให้คนต้องเข้ามาที่ใจกลางก่อนเพื่อส่งต่อไปยังขนส่งมวลชนต่าง ๆ ทำให้สามารถรู้ได้ว่าคนจะมารวมกันที่จุดไหน มาเพื่อซื้อของและใช้บริการทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของ Mobility คมนาคมเดินทาง และLiving การใช้ชีวิตอยู่อาศัย 3. ในพื้นที่ Downtown ของเมืองที่ได้มาตรฐาน ควรใช้พื้นที่ให้มีความคุ้มค่า อย่างน้อย 18 ชั่วโมงต่อวัน กลางวันทำงาน เย็นทำกิจกรรมนันทนาการ กลางคืนค้าขายกับต่างประเทศ จะทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ระบบ Mobility ทั้งหมด จะส่งผลต่อการตอบสนองมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะทำกิจกรรมไปพร้อม ๆ กันทั้งหมด รวมถึงที่อยู่อาศัย สำนักงาน โรงพยาบาล ร้านค้าต่างๆ เป็นต้น

2 แพลทฟอร์มสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกันทุกภาคส่วน

เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีความสอดคล้องกันทุกภาคส่วน จะต้องดำเนินกิจกรรมตามแพลทฟอร์มทั้งสองส่วน คือ แพลทฟอร์มแรก กฎบัตรแห่งชาติ ปี 2050 กำหนดการจำแนกตัวชี้วัดตามบทบาทเมืองและตำแหน่งเมืองของไทย ออกเป็น 15 บทบาทได้แก่ 1. เศรษฐกิจสีเขียว 2.การคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3.อุตสาหกรรมสีเขียว 4. อาหารและการเกษตรท้องถิ่น 5. พลังงานสะอาดและภูมิอากาศน่าอยู่ 6. สาธารณูปโภคและอาคารเขียว 7. ที่อยู่อาศัยที่มีราคาเข้าถึงได้ 8.
พื้นที่เปิดโล่งและสวน 9. การฟื้นฟูเมืองให้มีชีวิตชีวา 10. ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพดี 11. การศึกษาที่เป็นเลิศและเท่าเทียมกัน 12. อากาศสะอาด 13. น้ำสะอาด 14. การบริหารในเมืองและจัดเมือง 15. นวัตกรรมและสาธารณูปโภคทันสมัย

แพลทฟอร์มที่ 2 กฎบัตรแห่งชาติ ด้านการพัฒนากิจกรรมซึ่งแตกต่างกันไปตามโซนพื้นที่ เช่น 1.ประเภทใจกลางเมือง (Downtown) ศูนย์เศรษฐกิจ ค้าปลีก โรงแรมและการประชุม 2.ประเภทพาณิชยกรรมเมือง (General Urban) ศูนย์เศรษฐกิจ ค้าปลีก โรงแรมและการประชุม 3.ประเภทชานเมือง (Suburban) ศูนย์เศรษฐกิจ ค้าปลีก โรงแรมและการประชุม 4.ศูนย์เศรษฐกิจใจกลางเมืองประเภทเกิดใหม่ (New Downtown) 5.ศูนย์เศรษฐกิจพาณิชยกรรมชนบท (Rural Center)


ที่มา: เวทีเสวนาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย” ภายในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 จัดโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save