พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ อดีตองคมนตรี และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คนที่ 2 “ปูชนียบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย”

พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 เวลา 07.25 น. พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ อดีตองคมนตรี และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริอายุ 93 ปี สร้างความอาลัยแก่ครอบครัว ญาติสนิท รวมถึงผู้คนในแวดวงวิศวกรรมเป็นอย่างมาก ด้วยท่านเป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย โดยดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE) และ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) 2 สมัย

พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2469 ณ อำเภอทุ่งคา จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ของหลวงบริหารสิกขกิจ และจินดา สินธวานนท์ สมรสกับ ท่านผู้หญิงพึงใจ สินธวานนท์ มีบุตรธิดา 3 คน

สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในปีพ.ศ.2484 จากนั้น 2 ปี สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในปีพ.ศ.2488 ได้รับการประดับยศว่าที่ร้อยตรี จากโรงเรียนนายทหารสารวัตร จากนั้นในปีพ.ศ. 2490 ได้รับปริญญาตรีวิศวกรรมบัณฑิต (ไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนการศึกษา MDAP “ไปศึกษาต่อต่างประเทศสาขา Communication Officer และ Technical Instructor Course

ด้านประวัติการทำงาน พลอากาศเอก กำธน เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งช่างเครื่องบิน บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ในปีพ.ศ. 2491 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับฝูงทหารอากาศ สังกัดกรมทหารสื่อสาร ในปีพ.ศ. 2492-2503 รับราชการสังกัดกรมทหารสื่อสาร ได้รับยศสูงสุดเป็นนาวาอากาศตรี ในปีพ.ศ.2503 ได้ลาออกจากราชการทหารอากาศ เพื่อเข้าทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ขณะนั้นเป็นการไฟฟ้ายันฮี) ในวันที่ 8 ก.พ. 2503 ดำรงตำแหน่งนายช่างไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จากนั้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโรงจักรพระนครเหนือ ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2507 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายผลิตและสายส่ง กฟผ. (ยันฮี) ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้ายันฮี ในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2512 ซึ่งขณะนั้นขึ้นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2516 พลอากาศเอก กำธน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ กฟผ. จากนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2528 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 2 ต่อจากเกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการคนแรกเป็นระยะเวลา 2 ปีเศษ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. นั้น พลอากาศเอก กำธน ได้สนองงานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยอัธยาศัยไมตรี และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จึงได้รับความเคารพนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้ปฏิบัติงาน

ภายหลังจากเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2530 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี พระราชทานยศ พลอากาศตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 เพื่อสนองงานในเบื้องพระยุคลบาท และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ พลอากาศเอก เป็นกรณีพิเศษ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2550

พลอากาศเอก กำธน ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ อาทิ กรรมการบริหารและรองเหรัญญิกมูลนิธิอานันทมหิดล กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา, ประธานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9, ประธานกรรมการมูลนิธิสวนหลวง ร.9, ประธานกรรมการมูลนิธิพระดาบส, ประธานกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย, รองประธานมูลนิธิโครงการหลวง, รองประธานกรรมการมูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานกรรมการมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี, กรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, ประธานมูลนิธิธารน้ำใจ, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์, นายกสมาคมเปตองแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, ประธานสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE) ปีพ.ศ. 2521-2523 และ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 2 สมัย ในปีพ.ศ. 2533-2534 และปีพ.ศ. 2535-2536

พลอากาศเอก กำธน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดต่าง ๆ ดังนี้

  • ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ. 2539)
  • มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช. 2532)
  • มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม. 2531)
  • ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.ว. 2524)
  • เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 2 (ภ.ป.ร.2 2534)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save