ผลกระทบจากภัยโรคระบาด COVID-19 ต่อวิชาชีพวิศวกรรมในระยะสั้นและระยะยาว (Short Term and Long Term of COVID-19 Situation on Engineering)


ผลกระทบจากภัยโรคระบาด COVID-19 ต่อวิชาชีพวิศวกรรมในระยะสั้นและระยะยาว

จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของ COVID-19 ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแตวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ในการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19โดยให้ส่วนราชการบางส่วนและมีการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงานลักษณะไม่ทำงานในสำนักงาน โดยการวางแผนงานการปฏิบัติหน้าที่ที่บ้านแทนการเข้าสำนักงาน จึงมีการปรับรูปแบบการทำงานให้มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “Work From Home” และยังประกาศมาตรการเคอร์ฟิวห้ามการออกจากถิ่นฐานที่พักอาศัยในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น.ให้ถือปฏิบัติโดยอย่างเคร่งครัด และมีการผ่อนผันมาตรการข้อบังคับต่อ ๆ มาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการแพร่ระบาดของประชากรกันเองภายในประเทศ โดยผ่อนปรนให้มีการเดินทางเข้าทำงาน เปิดตลาดสดและห้างสรรพพสินค้า การเดินทางด้วยรถยนต์สาธารณะ การประกอบวิชาชีพต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 5 โดยให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดในการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) การใส่หน้ากากอนามัย และหน้ากากใส (Mask and Face Shield) การล้างมือด้วยสบู่และแอลกอฮอล์ ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (สบค.) ย้ำเสมอคือ การ์ดอย่าตก ซึ่งได้ผลดีทำให้มีการประกาศของล่าสุดได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และพิจารณามาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 สืบเนื่องจากไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็นศูนย์รายนานถึง 65 วัน และ ณ ปัจจุบัน วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวน 3,297 รายและเสียชีวิตกว่า 58 คน ซึ่งประเทศไทยได้รับการยกย่องว่ามีการดูแลและรักษาได้ดี มีคำชื่นชมจากทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และนานาประเทศว่า เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับประเทศที่สามารถคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีการบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือความร่วมมือของประชาชนและระบบเครือข่ายการดูแลสุขภาพระดับชุมชนผ่านกลไกอาสาสมัครสาธารณสุข

สถานการณ์การระบาดของ COVID-19

วิกฤต COVID-19 ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “วิกฤตที่ไม่เหมือนวิกฤตใดในอดีต (This Time is Really Different)” โดยมีรูปแบบของการเกิดที่ต่างจากวิกฤตอื่นในอดีต เริ่มต้นจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัส COVID-19 เป็นสถานกาณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนแพร่กระจายไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายจำนวนมากโดยสถิติยังไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ยอดผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกที่สามารถบันทึกได้คือ กว่า 6.11 ล้านรายและเสียชีวิตกว่า 3.71 แสนคน แต่ ณ ปัจจุบัน บันทึกในวันที่ 28 กรกฎาคม2563 ยอดผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกที่สามารถบันทึกได้คือกว่า 16.64 ล้านรายและเสียชีวิตกว่า 6.565 แสนคน เป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่เป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงอีกครั้งหนึ่งของมนุษยชาติที่ยังไม่สามารถหยุดยั้งได้ กลายเป็นมหาวิกฤตทางสาธารณสุขโลก ภาครัฐในหลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ (Great Lockdown) เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักพร้อมกัน (Global Simultaneous Shocks)

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาดของ COVID-19

สถานการณ์อันผิดปกติ (Abnormal) นั้นเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในเศรษฐกิจโลก แต่ครั้งที่สำคัญที่เป็นเหตุที่เกิดจากประเทศไทยเป็นประเทศต้นเหตุและได้รับผลกระทบด้านวิกฤตทางการเงิน เมื่อปี พ.ศ. 2540 จนได้ขนานนามว่าเป็น “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งเกิดจากภาคการเงินเป็นหลักการลงทุนเพราะว่ามีปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้น ฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ นโยบายค่าเงินคงที่ที่ทำให้ทำให้เกิดหนี้ต่างประเทศสูง พอเกิดวิกฤตขึ้นมาก็ได้มีการประกาศลอยค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม2540 เป็นผลให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบอัตราแลกเปลี่ยนกับค่าเงินยูเอสดอลลาร์ ลดค่าลงจากอัตรา 25บาทกว่าต่อ 1ดอลลาร์ กลายเป็น 50บาทกว่าต่อ 1ดอลลาร์ เป็นผลให้ลูกหนี้ทางการเงินสกุลต่างประเทศต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในชั่วเวลาเพียงไม่กี่วันหลังประกาศลอยค่าเงินบาท จนก่อให้เกิดเป็น Negative Demand Shock ขนาดใหญ่ แต่ผลกระทบจริง ๆ มันกระจุกอยู่แค่ในโซนเอเชีย ส่วนอย่างอื่นยังเติบโตได้อยู่ และเป็นผลทำให้มีทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการอสังหาริมทรัพย์ในราคาถูกจำนวนมาก

  • ในปี พ.ศ. 2539 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบปริมาณลูกโซ่มูลค่า 5,355.4 พันล้านบาท GDP +5.7%
  • ในปี พ.ศ. 2540 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบปริมาณลูกโซ่มูลค่า 5,207.9 พันล้านบาท GDP -2.8%
  • ในปี พ.ศ. 2541 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบปริมาณลูกโซ่มูลค่า 4,810.3 พันล้านบาท GDP -7.6%
  • ในปี พ.ศ. 2544 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศแบบปริมาณลูกโซ่มูลค่า 5,435.4 พันล้านบาท GDP +3.4%

จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถฟื้นกลับมายืน ณ จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ใช้เวลามากถึง 5 ปี เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรอบต้มยำกุ้งส่วนใหญ่ จะกระจุกตัวอยู่ในภาคอสังหาฯ ภาคก่อสร้าง ภาคการเงิน และส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ตอนนั้นยังมีภาคเกษตรเป็นตัวช่วยให้เรา คนตกงานก็กลับไปอยู่ภาคเกษตร คนตกงานสามารถกลับบ้านตนเองที่ต่างจังหวัดและดำรงชีพอยู่ได้

แต่รอบนี้ปี พ.ศ. 2562 มีความต่างเป็นอย่างมากเพราะมันเกิดขึ้นด้วยการระบาดของ COVID-19 แล้วมันก็ Shock เข้าไปที่เศรษฐกิจโดยตรงถึงระดับรากหญ้าจนถึงผู้ประกอบการทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ทำให้เกิดทั้ง Supply Shock และ Demand Shock พร้อม ๆ กัน และก็เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกพร้อมกัน การที่กิจกรรมการผลิตที่หยุดชะงักพร้อมกัน (Global Simultaneous Shocks) กับรายได้และกำลังซื้อที่ลดลงรุนแรงทำให้ลุกลามเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งในครั้งนี้มีลักษณะพิเศษคือเป็นวิกฤตคู่ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานพร้อมกัน (Twin Demand-Supply Shocks) จากสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือมาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) ทั้งประเทศคือการหยุดกิจกรรมทุกประเภท ทุกด้านทางธุรกิจ คนไทยเกือบทุกคนต้องอยู่แต่ที่บ้าน (Stay at Home) ทำให้ความต้องการในการซื้อไม่มีเพราะการขาดรายได้จึงไม่มีกำลังซื้อ และการไม่สามารถในการผลิตที่หลาย ๆ ธุรกิจอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินได้ ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดกิจการและก้าวสู่การปิดกิจการอีกต่อมา

รายได้หลักของประเทศไทยซึ่งสะท้อนโดยตรงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและอัตราการเติบโต GDP นั้นเป็นผลจากธุรกิจด้านบริการซึ่งประเทศไทยมีรายได้หลักที่ได้จากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมีผลต่อGDPประมาณ 12% ถ้ารวมของไทยด้วยก็เกือบ ๆ 20% ของ GDP นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั้งปีในปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านคนและส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน แต่ปีนี้สถานการณ์ COVID-19 เกิดขึ้นในจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562ทางการจีนยืนยันเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมปีที่แล้วว่า เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีประชากรกว่า 11 ล้านคน ซึ่งได้มีการเก็บตัวอย่างไวรัสจากคนไข้นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และพบว่าเชื้อไวรัสลึกลับ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคปอดอักเสบนั้น เป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีผู้ติดเชื้อถึงกว่า 8 หมื่นรายและเสียชีวิตในเบื้องต้นกว่า 4 พันราย และในต้นปี พ.ศ. 2563 ได้ระบาดเข้าสู่ทวีปเอเชียจนรุกรานไปทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโรคแล้วกว่า 16 ล้านรายและเสียชีวิตกว่า6แสนราย ซึ่งเป็นผลให้นักท่องเที่ยวชะงักโดยฉับพลัน ในปี พ.ศ. 2563การประมาณการท่องเที่ยวจากต่างประเทศต้องประมาณกันเข้าใกล้ศูนย์เพราะการล็อกดาวน์กันทั่วโลก ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคบริการคือสายการบินหยุดบินและมีการปิดกิจการ โรงแรมหยุดกิจการเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคบริการต่าง ๆ โดยตรง และการขาดรายได้ของบุคคลและธุรกิจสืบเนื่องของการหยุดกิจการในภาคบริการอย่างเป็นลูกโซ่ เป็นผลให้เกิด Demand Shock โดยตรงกับธุรกิจบริการ

อีกทั้งรายได้หลักของประเทศไทยคือภาคการผลิตและส่งออกจริง ๆ ตัวเลขออกมาที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์มูลค่าการส่งออกของไทยปี พ.ศ. 2561-2563 (มกราคม-มิถุนายน) มีการติดลบกว่า 13% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 บางตัวอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ติดลบประมาณ -53% นี่คือภาพส่งออก ซึ่งเราก็คิดว่าไตรมาส 3 น่าจะหดตัวต่อเนื่อง การล็อกดาวน์ของต่างประเทศทำให้ Demand ลดลงด้วย ผลกระทบคือภาคการผลิตมีการหยุดและปิดกิจการ ส่วนที่ยังสามารถดำเนินการได้อยู่ก็มีการลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง มีการลดวันทำงานของพนักงาน การปลดพนักงานเกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก

มีเรื่องสำคัญทางการเงิน กล่าวคือ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการประกาศขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน”แม้ว่าจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในช่วงสั้น ๆ แต่จะเป็นผลดีสำหรับผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในระยะยาว ซึ่งประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นถึและงมาตรการการป้องกันเป็นการช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรักษาสภาพคล่องทางการเงินและรักษาความมั่นคงของธนาคารเอง

จากที่กล่าวถึงว่าผลจาก COVID-19 เป็นวิกฤตคู่ขนานทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานพร้อมกัน (Twin Demand-Supply Shocks) ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตต้มย่ำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งวิกฤต COVID-19 นั้นมีผลทั้งทางตรงต่อสุขภาพและอาจถึงตายได้ถ้าทางการสาธารณสุขไม่เข้มแข็งพอ ซึ่งเรื่องนี้ประเทศไทยมีความสามารถในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและความร่วมมือที่ดีจากประชาชนด้วยการ “การ์ดไม่ตก” แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรงเนื่องจากทั่วโลกโดยมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตอยู่ในอัตราสูงที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ผลของ Demand-Supply Shocks จะมีผลต่อ GDPประเทศไทยที่อาจติดลบมากถึง 10% และต่อเนื่องยาวนานซึ่งอาจประมาณการได้ว่ามากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งที่ใช้เวลาฟื้นกลับสู่ปกติได้ต้องใช้เวลามากถึง 5 ปีโดยมีการสูญเสียภาคธุรกิจที่ล้มสลายไปจำนวนมากซึ่งจุดเริ่มต้นเกิดจากประเทศไทยไม่ใช้ทั้งโลก แต่วิกฤตโรคภัยจากโควิด 19 นั้นเกิดทั้ง Demand-Supply Shocksทางเศรษฐกิจ เกิดทั้งอัตรายถึงชีวิตนับแสนนับล้านคนและเป็นภัยวิกฤตที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ทั้งโลก

ผลกระทบต่อวิชาชีพวิศวกรในสถานการณ์วิกฤตระบาดของ COVID-19

จากสถานการณ์วิกฤตระบาดของ COVID-19 นั้นมีผลกระทบโดยตรงกับอาชีพวิศวกรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อย่างเช่น การหยุดบินของสายการบินทั่วโลกและการปิดกิจการของสายการบินในเวลาต่อมา ปริมาณของผู้ใช้บริการสนามบินที่ลดลงอย่างมากส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ทุกระดับในสายการบินและธุรกิจทางการบิน การหยุดดำเนินกิจการของโรงแรมเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งต่อให้เปิดจำนวนลูกค้าก็ลดลงจนไม่สามารถมีรายได้พอที่จะดำเนินกิจการ การปิดโรงงานอุตสาหกรรมและลดกำลังการผลิต การหยุดงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เพื่อการชะลอและดูผลกระทบนั้น เป็นผลโดยตรงต่ออาชีพวิศวกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่เนื่องจากวิศวกรมีการทำงานในหลายภาคธุรกิจ ซึ่งบางธุรกิจอาจเป็นโอกาสที่สามารถรุ่งโรจน์ แต่หลายธุรกิจเข้าสู่สภาวะตกต่ำหรือล้มละลายได้ วิศวกรต้องเรียนรู้การประเมินว่าตนเองนั้นอยู่ในธุรกิจประเภทไหนมีผลกระทบอย่างไร จึงขอนำเสนอมุมมองของรูปแบบการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลัง COVID-19 ใน 5 รูปแบบ ที่เรียกว่า “The 5 Shapes of Economic Recovery” ซึ่งวิกฤตครั้งนี้เปรียบเสมือนสงครามโรคที่มนุษย์ต้องต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น และไม่มีชาติใดที่จะหนีจากภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจได้ แต่ขอให้หยั่งรู้สถานการณ์การดำเนินธุรกิจว่าเราอยู่ใน Business Curve อย่างไรในระดับองค์กร และตอนนี้เศรษฐกิจประเทศหรือเศรษฐกิจโลกมีรูปแบบอย่างไร จะทำให้เราสามารถเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ได้ก่อนเพื่อการอยู่รอด ซึ่งทั้ง 5 รูปแบบ มีดังนี้

The 5 Shapes of Economic Recovery

รูปแบบที่ 1 มีลักษณะแบบ V-Shape เป็นลักษณะที่ตกต่ำอย่างรวดเร็ว แต่กลับฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน เป็นการ“ลงเร็ว ฟื้นเร็ว”และสามารถรักษาการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะสามารถดำเนินธุรกิจหรือเศรษฐกิจ ต้องเป็นการที่มีผู้นำที่สามารถทางเชิงกลยุทธ์สูงที่สามารพลิกสถานการณ์อันเลวร้ายให้ฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว กลยุทธ์ที่สำคัญในช่วงนี้คือการใช้แนวคิดที่เรียกกันว่า Disruption เป็นการโดดเด่นที่แตกต่าง ที่อาศัยศักยภาพของบุคลากรที่เข้าใจในสภาวะตกต่ำและการร่วมกันเป็นหนึ่ง Synergy Powerเพื่อความอยู่รอด โดยต้องอาศัยความสามารถอันเป็นเลิศของผู้นำที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

รูปแบบที่ 2 แบบ U-Shape เป็นลักษณะที่มีปัจจัยปัญหาหลายประการที่ทำให้ดำเนินธุรกิจหรือเศรษฐกิจเกิดการถดถอยอย่างต่อเนื่อง และสามารถฟื้นกลับอย่างช้า ๆ ด้วยการแก้ไขและฟื้นกลับอย่างช้า ๆ เป็นการ “หดตัวนาน ฟื้นตัวช้า” รูปแบบที่เป็น U-Shape นั้น จะสามารถผ่านวิกฤตและเก็บบทเรียนจากอดีต ดังเช่นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ที่ใช้เวลา 2-3 ปีในช่วงตกต่ำลงเนื่องจากค่าเงินบาทและเงินทุนแต่มีความแข็งแกร่งด้านการเกษตรและความสมบูรณ์มาช่วยประคอง และช่วง 5 ปีหลังก็สามารถฟื้นอย่างช้า ๆ กลับคือสูงช่วงขาขึ้น แม้กระทั้งการเกิดวิกฤตแฮมเบเกอร์ในสหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีผลกระทบต่อประเทศเพราะเรามีภูมิคุ้มกันและบทเรียนที่ดี

รูปแบบที่ 3 แบบ W-Shape “ฟื้นเร็ว ดิ่งลงรอบสองแล้วกลับฟื้นเร็ว” เป็นลักษณะที่ตกต่ำอย่างรวดเร็ว แต่กลับฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกันและมีอาการซ้ำเติมทำให้ “ลงเร็ว ฟื้นเร็ว”ในระลอกที่สอง เป็นลักษณะที่มีปัจจัยปัญหาหลายประการที่ทำให้ดำเนินธุรกิจหรือเศรษฐกิจลงและขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดปัญหาใหญ่ที่ไม่เคยเจอในแต่ละช่วงแต่สามารถแก้ไขและฟื้นกลับได้อย่างรวดเร็ว เป็นอัจฉริยะทางความสามารถของผู้นำที่สามารถแก้ไขสถานการณ์และปัญหาได้อย่างถูกทางและรวดเร็ว และเป็นความโชคดีทางธุรกิจที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ถูกจุด ถูกวิธีและถูกเวลาด้วยเช่นกัน

รูปแบบที่ 4 แบบ L-Shape “หดตัวอย่างรวดเร็ว ไร้สัญญาณการฟื้นตัว” เป็นกรณีเลวร้ายสุดของดำเนินธุรกิจหรือเศรษฐกิจ ที่เจออุปสรรคหรือปัญหาอันใหญ่หลวง ซึ่งกรณีนี้ต้องถือว่าวิกฤตระบาดของ COVID-19 นั้นแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตและเป็นอันตรายถีงฐานเศรษฐกิจในระดับครอบครัว ระดับเมือง ระดับประเทศ และระดับโลก การล็อกดาวน์เมือง การล็อกดาวน์ประเทศ COVID-19 เป็นเชื้อร้ายที่ไม่ยังสามารถควบคุมการระบาดของได้ แต่วิกฤตระบาดของCOVID-19 นั้นไม่ใช่จะมีกระทบต่อทุกภาคส่วนที่ทำให้ตกต่ำลงอย่างฉับพลัน จากระดับ 1.0 เป็น 0.0 ในทันที ในหลายส่วนธุรกิจและเป็นอันตรายถึงชีวิตกับประชากรโลก ซึ่งปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่าประชากรโลกมีจำนวนราว ๆ 7,300 ล้านคน ณ เดือนมกราคม 2563 อย่างไม่มีการละเว้นในอันตราย การเกิด Great Depression มีผลต่อทุกภาคส่วนธุรกิจตกต่ำ ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่ 10 ปี ในการฟื้นกลับคืน 2 ปัจจัยที่เกิดวิกฤตระบาดของ COVID-19 ทำความเสียหายต่อธุรกิจทุกภาคส่วนและสุขภาพ การฟื้นภายใน 5 ปีหรือ 10 ปีนั้นจะเป็นการตอบยากมาก แต่รูปแบบ L-Shape จะสามารถประเมินได้ว่ายังอีกยาวนานกว่าที่คิด

รูปแบบที่ 5 แบบ Swoosh, Tick or Italicized V-Shape “ถดถอยลงเร็ว ค่อย ๆ ฟื้นตัว” คล้ายกับรูปแบบแรก แตกต่างกันตรงที่ระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า ทำให้ใช้เวลาฟื้นตัวนาน เช่น การเกิด Great Depression ในปี ค.ศ.1929-1939 มีผลต่อทุกภาคส่วนธุรกิจตกต่ำ ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่ 10 ปี

ขอให้วิศวกรในส่วนธุรกิจต่าง ๆ พึงประเมินให้ท่องแท้ว่าเราดำเนินธุรกิจอยู่ในรูปแบบไหน ใน 5 รูปแบบ อาจเป็น Business Cycle ทีเป็นแบบผสมผสานในแต่ละShapes of Economic Recovery ได้แล้วตอนนี้เราอยู่จุดไหนของธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศ ให้ประเมินสถานการณ์แบบคิดไปข้างหน้า (Future Thinking) โดยการมองทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจ (Trend) และการสร้างความแตกต่างจากเดิม (Disruption) โดยให้มองทั้งระยะสั้นและระยะยาว (Short Term and Long Term) เป็นมองทั้งอนาคตและการป้องกัน โดยพึงระลีกตามที่นักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงชาวออสเตรีย ผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของค่ายกักกัน Dr.Viktor Frankl ที่กล่าวไว้ว่า “When We are No Longer Able to Change a Situation, We are Challenged to Change Orselves.” เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ได้ นั่นหมายถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนตนเอง” สถานการณ์วิกฤตระบาดของCOVID-19เป็น “ดังไฟลท์บังคับ” ที่ต้องขึ้นชกที่คู่ต่อสู้ที่ไม่ปรากฎตัวเด่นชัด การ “การ์ดไม่ตก” ก็สามารถช่วยป้องกันตนเองได้ระดับดีที่สุดในการป้องกันและการรักษาชีวิต และอีกส่วนสำคัญคือการรักษาสภาพคล่องอย่างประหยัด (Health Safety and Save Your Money) จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญของวิศวกรเพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤต COVID-19 ในช่วงนี้ให้ได้อย่างปลอดภัยไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด


โดย ดร.พรชัย องค์วงศ์สกุล


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save