ไบโอเทค สวทช. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู่ สปป. ลาว สร้างข้าวพันธุ์ใหม่ “ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8”


ไบโอเทค สวทช. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู่ สปป. ลาว สร้างข้าวพันธุ์ใหม่ “ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8”

“ข้าว” เป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศลุ่มน้ำโขง เช่น ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาน้ำฝน ซึ่งนอกจากจะผลิตข้าวเพื่อการบริโภคของประชากรภายในประเทศแล้ว ยังถือเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลกอีกด้วย แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมโลกทำให้ชาวนาต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในการปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม โรคและแมลงศัตรูระบาดในนาข้าว ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้สามารถทนต่อสภาพเครียดต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อต่อชาวนาและการผลิตข้าวในประเทศลุ่มน้ำโขง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงดำเนินโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง มาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ (Marker Assisted Selection; MAS) มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในปัจจุบันของประเทศในเขตลุ่มน้ำโขง

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ไบโอเทค และหัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับประเทศลุ่มน้ำโขง เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว (Rice Gene Discovery Unit) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยร่วมระหว่าง ไบโอเทค สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น กรมการข้าว มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี Department of Agricultural Research หรือ DAR จากเมียนมา National Agriculture and Forestry Research Institute หรือ NAFRI จาก สปป. ลาว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สวทช. และ Generation Challenge Programme ในการจัดฝึกอบรมภาคปฏิบัติและสถานที่วิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากร และการทำงานวิจัยร่วมกัน ตลอดจนการให้ทุนการศึกษาทั้งระดับปริญาโท และปริญญาเอก เพื่อให้นักศึกษาและนักวิจัยนำเอาความรู้และเทคโนโลยีกลับไปปรับปรุงพันธุ์ข้าวของปรระเทศตัวเองต่อไป

ดร.ธีรยุทธ กล่าวต่อไปว่า จากการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องทำให้ NAFRI สปป. ลาว สามารถปรับปรุงข้าวพันธุ์ใหม่ ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8 (HTDK8) ซึ่งมาจากการผสมระหว่างข้าวเหนียวท่าดอกคำ 8 (TDK8) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และนิยมปลูกกันมากใน สปป. ลาว กับข้าวเหนียวหอม ต้านทานโรคไหม้ สายพันธุ์ที่พัฒนาโดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว โดยได้นำเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ (MAS) มาใช้ในการคัดเลือกลักษณะความหอม และยีนต้านทานโรคใบไหม้ ซึ่งเป็นลักษณะดีเด่นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้ข้าวเหนียวหอมท่าดอกคำ 8 (HTDK8) เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูง มีอายุ 130-135 วัน มีลักษณะต้นเตี้ยปานกลาง ลำต้นแข็งแรงไม่ล้มง่าย เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงทำให้สามารถปลูกได้ทั้งในนาปรัง และนาปี เหมาะสมในการปลูกในภาคกลาง ภาคใต้ และบางเขตในภาคเหนือ ของ สปป. ลาว เช่น แขวงบ่อแก้ว หลวงน้ำทา ไซยะบุรี อุดมไซ และหลวงพระบาง เป็นต้น

ปรับปรุงพันธ์ข้าว สปป. ลาว

ปัจจุบันทางกระทรวงเกษตรของ สปป. ลาว โดยศูนย์ค้นคว้าวิจัยข้าว กำลังผลิตเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพื่อส่งมอบให้กับเกษตรกรใน 5 แขวงเป้าหมาย ได้แก่ แขวงไซยะบุรี แขวงเวียงจันทน์ นครหลวงเวียงจันทน์ บอลิคำไซ และคำม่วน เพื่อปลูกและผลิตขายในเชิงพาณิชย์ต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save