คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผนึกกำลังซิสโก้พัฒนานวัตกรรม Med Tech ยกระดับประสบการณ์สาธารณสุขยุคดิจิทัล


คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผนึกกำลังซิสโก้พัฒนานวัตกรรม Med Tech ยกระดับประสบการณ์สาธารณสุขยุคดิจิทัล

เชียงใหม่ – 9 กันยายน 2563 : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับมาตรฐานสากล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตระดับโลก ภายใต้ “โครงการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Med Tech Co-innovation)” หวังแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการ และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน สู่ความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ พร้อมยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare Experience)

ท่ามกลางการระบาดของเชื้อ COVID -19 ทำให้เทคโนโลยีด้านบริการทางการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมาก จากสำรวจของ Global Market Insights [1] ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น มูลค่าตลาดโลกในส่วนของการให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ (Telemedicine) มีมูลค่าถึง 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีพ.ศ.2562 และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีพ.ศ.2569 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึง 19.3%

เทคโนโลยีด้านบริการทางการแพทย์

สำหรับความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญ ประกอบด้วย 1) สร้างประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ให้กับผู้ใช้บริการ และบุคลากรการแพทย์ในรูปแบบโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital User Experience) โดยพัฒนาใน 2 ระบบคือ1.ระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Drug & Medical Equipment Tracking System)สร้างระบบจัดสรรข้อมูลด้านโลจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลและติดตามสถานะของยาและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถานบริการเครือข่าย 13 แห่งในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลการเดินทางของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้บริหารจัดการงบประมาณ คลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 2.ระบบติดตามสถานะการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service Status Tracking System)ผู้ป่วยสามารถเรียกดูข้อมูลสถานะการให้บริการผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย และโมบายแอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาล โดยทราบสถานะการให้บริการ คิวตรวจ รับยา จ่ายเงิน และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-consulting) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และระบบนำทางในโรงพยาบาลที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับบริการที่จุดให้บริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

พัฒนานวัตกรรม

2) เร่งพัฒนานวัตกรรม (Innovation Acceleration) เพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 โครงการดังนี้ 1.โครงการพัฒนาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis Screening Project) เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ดียิ่งขึ้นผ่านระบบการคัดกรองผู้ป่วยโดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI :Artificial Intelligence) และ Deep Learning ที่มาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอกเบื้องต้น ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูง และขอคำปรึกษาทางไกลในการแปลผลภาพรังสีทรวงอกกับรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx ทำให้เกิดความรวดเร็วและความแม่นยำในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาในการวินิจฉัย และให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ระยะแรก ลดค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่จำเป็น และแก้ปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นห่างไกลได้ 2.โครงการดูแลผู้ป่วยประคับประคองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล Tele Palliative Care สร้างห้องตรวจและห้องรักษาเสมือนจริง เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์ Mobile Med Device จะเดินทางไปหาผู้ป่วยถึงบ้านเพื่อตรวจสุขภาพ ส่งข้อมูลและสื่อสารทางไกลกับแพทย์ผู้ให้การรักษาแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย พิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebExเสมือนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และครบวงจรเทียบเท่ากับการมาโรงพยาบาล และ 3.โครงการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานโดยเจ้าหน้าที่ อสม. (Diabetes Patient Data & Communication Project)ยกระดับความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอย่างถูกต้องผ่านการอบรมทางไกล และนำประสบการณ์ไปดูแลผู้ป่วยและรายงานความคืบหน้าผลการรักษาผ่าน Cisco Webex ซึ่งเป็น Smart Learning Platformและ Education Connector และระบบให้คำปรึกษาผ่าน Online Learning System เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ทำให้ลดความแออัดในการที่จะต้องเดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล

พัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

สำหรับความร่วมมือทั้ง 5 โครงการนี้มุ่งพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมบริการของโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ รวมถึงเป็นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดทางด้านการแพทย์ในอนาคต โดยทางซิสโก้มีการสนับสนุนโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน (Network Infrastructure), เทคโนโลยีที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics), เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), Machine Learning (ML), Internet of Things (IoT), เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technology) และเทคโนโลยี SDN (Software-Defined Networking)

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ (ซ้าย) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ฯ และซิสโก้ที่จะได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในอนาคต

ทางศูนย์ Med Tech ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความโดดเด่นตรงที่่มีระบบที่เป็นมาตรฐาน หน่วยงานต่างๆ สามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เรามีห้องผ่าตัด มีห้องผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง สามารถโทรมาได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของซิสโก้ซึ่งสูงกว่าที่เรามีมาเสริม ทำให้ผู้ป่วยมีประสบการณ์ในการรักษาที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์สามารถปรับบริบทการรักษาได้ดีขึ้น โดยเฉพาะโครงการ Tele Palliative Careซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่้จะช่วยลดความหนาแน่นของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน

“จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับซิสโก้ที่ผ่านมา เรามีความมั่นใจทั้งในส่วนขององค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย โซลูชั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่หลากหลาย และพร้อมสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ฯ ในการยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์(Digital Healthcare Experience) เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการในอนาคต” ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าว

ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าวว่า ในปีหน้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเปิดรับสมัคร นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทวิทยาการข้อมูล (Data Science) หลักสูตร 7 ปี เป็นปีแรก รับนักศึกษาประมาณ 10 คน โดยหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาโททั้งด้านแพทยศาสตร์และปริญญาโทด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) เนื่องจากความรู้ด้านแพทยศาสตร์และด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) มีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในระยะยาว 5-10 ปี โครงการปริญญาโทจะมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Scientist เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อยกระดับการบริการทางการแพทย์ภายในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเปิดหลักสูตรปริญญาตรีภาควิชาวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อรองรับ Data Scientist เช่นกัน

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์

ด้าน วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า ดิจิทัลเฮลท์แคร์เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID -19 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแพทย์ และการให้บริการด้านสาธารณสุข จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในประเทศ

สำหรับความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในอาเซียน โดยทั้ง 5 โครงการต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นพี่เลี้ยง โดยทั้ง5 โครงการนำร่องคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ.2561 จากนั้นในปลายปีจะเป็นลักษณะของ Production ต่อไป

ในส่วนของโครงการดูแลผู้ป่วยติดเตียงผ่านระบบการสื่อสารทางไกล Tele Palliative Careเนื่องจากเป็นการรักษาพยาบาลจะต้องใส่ใจรายละเอียด โดยเฟสแรก จะสร้างห้องตรวจและห้องรักษาเสมือนจริง เพื่อให้แพทย์สามารถเห็นสัญญาณชีพค่อนข้างครบผ่าน Dashboard ต่างจากเดิมที่แพทย์เห็นแต่ละอุปกรณ์แยกกัน ส่วนเฟส 2 จะติดตั้งจุดที่เป็นรีโมทในบ้าน สถานศึกษาใกล้โรงพยาบาล

“ซิสโก้ทำงานร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกด้วยการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพทางไกล (Telehealth) และโซลูชันนวัตกรรมอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน รวมถึงโมบิลิตี้ ความปลอดภัยและดาต้าเซ็นเตอร์ ซิสโก้ยินดีที่ยังคงได้รับความไว้วางใจจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สานต่อความร่วมมืออีกขั้นในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการดิจิทัลทางการแพทย์แบบครบวงจร และพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลแห่งอนาคตอย่างแท้จริง” วัตสัน กล่าว


[1] Telemedicine Market


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save