วสท.จับมือ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณ โค้ง 100 ศพ ถนนรัชดาฯ แนะ 7 แนวทางป้องกัน ชูแนวคิด “Thailand Towards Zero Deaths


สามจุดเกิดเหตุบนโค้งถนนรัชดา ในรอบ 9 วัน เดือน ก.ย.
สามจุดเกิดเหตุบนโค้งถนนรัชดา ในรอบ 9 วัน เดือน ก.ย.

สืบเนื่องจากอุบัติเหตุล่าสุด รถเก๋งหลุดโค้งพุ่งชนเสาไฟฟ้าแรงสูง บริเวณหน้าซอยรัชดา 32 มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ตรงข้ามศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก จากแรงปะทะเป็นเหตุให้บริเวณโคนต้นเสาไฟฟ้าหลุดออกจากฐาน รวมถึงแผงเหล็กกั้นได้รับความเสียหาย ห่างไป 30 เมตร พบรถเก๋งสีดำในสภาพพังเสียหายทั้งคัน ส่งผลให้ผู้ขับรถยนต์ซึ่งเป็นดีเจเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที

ทั้งนี้บริเวณโค้งถนนรัชดาดังกล่าวมักจะเกิดอุบัติเหตุคร่าชีวิตผู้คนบ่อยครั้ง ต่อเนื่องมากว่า 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ภายในระยะ 9 วัน เกิดเหตุน่าสลดใจจากอุบัติเหตุในบริเวณเดียวกันนี้ถึง 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “โค้ง 100 ศพ” “โค้งศาลอาญา” หรือ “โค้งมรณะ”

จากสถิติในรอบ 9 เดือน ของปีพ.ศ.2563 (ม.ค.-ก.ย.2563) เกิดอุบัติเหตุบนโค้งศาลอาญา 293 ครั้ง เสียชีวิต 5 ราย (ส.ค. 1 ราย และ ก.ย. 4 ราย) บาดเจ็บ 152 ราย เฉพาะในเดือนกันยายน เกิดอุบัติเหตุ 41 ครั้ง เสียชีวิต 4 ราย ตามที่เป็นข่าวดังนี้

เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมารถกระบะสีดำ เสียหลักชนเสาไฟฟ้าบนขอบทางเท้า โค้งศาลอาญา ขาเข้า หน้าอาคาร คปภ. เสียชีวิต 1 ราย

จากนั้นในวันที่ 20 กันยายนรถกะบะ สีน้ำเงินเสียหลักชนเสาไฟฟ้าและต้นไม้บนขอบทางเท้า โค้งศาลอาญา ขาเข้า บริเวณหน้าอาคารกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แม่-ลูกวัย 2 ขวบ เสียชีวิต 2 ราย

วันที่ 24 กันยายน ดีเจขับรถเก๋ง พุ่งชนเสาไฟฟ้าแรงสูง แผงเหล็กกั้นบนขอบทางเท้าหักเสียหาย โค้งศาลอาญา ช่วงระหว่าง มมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กับอาคาร คปภ. เสียชีวิต 1 ราย

ด้วยเหตุนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต พร้อมด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ วสท. ได้แก่ ดร.กุลธน แย้มพลอย และ ดร.นรบดี สาละธรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ทางวิศวกรรมบริเวณโค้งที่เกิดเหตุ พร้อมหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักการโยธา และสำนักการจราจรและขนส่ง ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน และตำรวจท้องที่ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหา ลดความเสี่ยงและความหวาดกลัวของประชาชนด้วยหลักวิศวกรรมและบริหารจัดการอย่างรอบด้าน เสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนด้วยวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach)

ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย ธานีรณานนท์

ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและการเสียชีวิต วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ถนนรัชดาภิเษก เป็นถนน 8 เลน (ฝั่งขาเข้าเมือง 4 เลน และฝั่งขาออก 4 เลน) โดยในช่วงโค้งถนนถัดจากอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ผ่านซอยรัชดา 36 (เสือใหญ่อุทิศ) ถึงซอยรัชดา 32 มีรัศมีโค้งกว้างมาก รวมความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร ลักษณะของอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเวลากลางคืน หรือในช่วงเวลาที่ทัศนวิสัยไม่อำนวย เช่น ขณะฝนตก ในยามดึกซึ่งถนนโล่งทำให้ผู้ขับขี่หลายคนใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้

“เดิมทีอุบัติเหตุบนโค้งศาลอาญามักจะเกิดที่ฝั่งขาออก แต่หลังจากอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน-รัชดา สร้างเสร็จแทนแยกไฟแดงนั้น ทำให้บริเวณเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เปลี่ยนมาอยู่ฝั่งขาเข้าเมือง เนื่องจากรถลอดอุโมงค์แยกรัชโยธินมักจะต้องเร่งความเร็วตลอดมาจนถึงโค้งถนน ซึ่งไม่มีกลไกชะลอความเร็วของรถลง ดังนั้นหากความเร็วรถวิ่งมาสูงกว่าความเร็วบังคับ ผู้ขับจะควบคุมรถได้ยากหรือไม่สามารถควบคุมรถให้วิ่งตามแนวเส้นทางได้” ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย กล่าว

อุบัติเหตุบริเวณโค้งถนนรัชดา

ปัญหาที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณทางโค้งรัชดา เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย พร้อมกันนี้วสท.ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังนี้

1. ลักษณะทางโค้งรัชดาแบบโค้งหลังหัก (Broken Back Curve) คือโค้งที่มีสองรัศมีซึ่งเชื่อมด้วยเส้นตรงสั้น โดยธรรมชาติ ผู้ขับขี่เมื่อเข้าโค้งก็ไม่คิดว่าจะต้องปรับพวงมาลัย ทำให้ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากที่จะควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจร หรือหากขับมาด้วยความเร็วสูงกว่า 80 กม.ต่อชม.(หรือต่ำกว่ากรณีที่ฝนตก) มักจะไม่สามารถควบคุมรถให้อยู่ในแนวช่องจราจรได้ หรือควบคุมรถไม่ได้เลย

ข้อเสนอแนะ ควรแก้ไขทางโค้งหลังหัก ให้เป็นทางโค้งเดียวกันโดยวิศวกรออกแบบที่เชี่ยวชาญ เพิ่มการนำทางโค้ง โดยติดตั้งเครื่องหมายจราจรบนผิวทางแบบสะท้อนแสงที่แนวด้านนอกขอบโค้ง และติดตั้งป้ายบังคับความเร็วที่ปลอดภัยในการขับขี่ ให้ประชาชนผู้ใช้รถสามารถเห็นได้ชัดเจน บนผิวถนน และ ป้ายบังคับความเร็วอิเล็คทรอนิกส์แบบแขวนสูง

2. ไม่มีการยกโค้ง (Superelevation) ทำให้รถที่วิ่งเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วบังคับ จนไม่สามารถควบคุมรถให้วิ่งตามแนวเส้นทางได้

ข้อเสนอแนะ เพิ่มแรงด้านข้างบนล้อรถ Sideway Force โดยยกโค้งด้านนอกให้สูง เพื่อให้บังคับล้อรถให้วิ่งเข้าโค้งได้อย่างปลอดภัย หรือวิธีอื่น เช่น ปูผิวด้วยหินเล็ก (Chip Seal) เพื่อลดความเสี่ยงการเสียหลักหลุดโค้งออกไป

3. ขาดกลไกชะลอความเร็วของรถยนต์ (Traffic Calming) ทำให้รถที่วิ่งจากอุโมงค์ทางลอดเข้าสู่ทางโค้งด้วยความเร็วสูงกว่าความเร็วบังคับ จนไม่สามารถควบคุมรถให้วิ่งตามแนวเส้นทางได้

ข้อเสนอแนะ ต้องหามาตรการและออกแบบอุปกรณ์เพื่อใช้ชะลอความเร็ว ให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น การกั้นแต่ละเลนจราจร ในช่วงโค้งอันตราย, การทำระบบดิจิทัลบอกความเร็วของรถที่วิ่งผ่าน ควบคู่มาตรการทางกฏหมาย, ป้ายแนะนำความเร็ว เปลี่ยนเป็นป้ายบังคับใช้ความเร็วที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งจะได้หารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยอาจมีระยะทดลองเพื่อประเมินผลและปรับพัฒนามาตรการ

4. มีทางแยกเข้า-ออกซอย บริเวณทางโค้ง (ซอยรัชดา 36 เสือใหญ่อุทิศ) ซึ่งประชาชนผู้ขับขี่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และทางซอยนี้มีปริมาณรถเข้าออกจำนวนมาก

ข้อเสนอแนะ ให้มีการพิจารณาปรับปรุงช่องจราจรและเครื่องหมายจราจรบริเวณก่อนทางเข้า-ออกซอย เพื่อช่วยให้รถที่วิ่งมาสามารถสังเกตเห็นทางเชื่อมในบริเวณทางโค้งได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หรือจัดช่องจราจรช่องซ้ายสุดให้เป็นช่องเลี้ยวซ้ายเข้าซอยรัชดา 36 เสือใหญ่อุทิศ

5. ราวเหล็กที่เกาะกลางถนนและขอบทางเท้า สังเกตได้ว่าราวเหล็กมีระยะร่นจากขอบทางเข้าไปอีกประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของราวเหล็กที่จะป้องกันอันตรายจากรถชนนั้นลดลงไปอีก อีกทั้งราวเหล็กยังอยู่ชิดกับเสาไฟฟ้าอีกด้วย รถที่เสียหลักจะพุ่งเข้าชนขอบทางเท้าก่อนและจะเหินขึ้นไปชนราวเหล็กกันอันตรายนี้

ข้อเสนอแนะ ควรพิจารณาจัดสร้างราวกันชนแบบคอนกรีตหุ้มวัสดุยางโดยต้องชิดขอบทางเท้า วัสดุยางหุ้มช่วยลดแรงกระแทก หรือราวกันชนแบบโรลเลอร์ ซึ่งขณะนี้ทาง กทม.ได้รับงบประมาณแล้วแต่ใช้สำหรับจุดอื่นของถนน

6. พื้นผิวจราจร ในช่วงโค้งศาลอาญานี้ พบว่าพื้นผิวจราจรไม่เรียบ มีการสึกกร่อนของยางมะตอย เศษหินแตกออกมา ฝนตกจะมีหลุมน้ำขัง เหล่านี้มีส่วนทำให้รถที่วิ่งมาล้อแฉลบ การควบคุมรถอาจเกิดความเสี่ยงได้

ข้อเสนอแนะ ปรับผิวจราจรให้มีสภาพดีและเรียบตามมาตรฐาน

7. ฟังก์ชันของถนนในเขตเมือง กฎหมายกำหนดให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่างจากดีไซน์การออกแบบถนนไฮเวย์ที่สามารถรองรับความได้มากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข้อเสนอแนะ ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้ระมัดระวังควบคุมความเร็วของรถให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ในระยะยาวต้องมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและปลูกฝังทัศนคติความปลอดภัยแก่พลเมืองตั้งแต่วัยเด็กในโรงเรียน

“วสท.และกรุงเทพมหานคร จะร่วมกันขับเคลื่อนแผนดำเนินงานแก้ปัญหาโค้งศาลอาญาให้ออกมาเป็นรูปธรรมและบูรณาการ โดยทางกรุงเทพมหานครรับในหลักการและจะทำเป็นแผนระยะสั้นที่ทำได้เร็ว (Quick Win) และแผนระยะยาว ที่ต้องใช้เวลาและเสนองบประมาณ” ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย กล่าว

ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ทางวิศวกรรมบริเวณโค้งที่เกิดเหตุ

ชูแนวคิด “Thailand Towards Zero Deaths : ลดการตายและบาดเจ็บบนถนนให้เป็นศูนย์

พร้อมทั้งผลักดันแนวคิด “Thailand Towards Zero Deaths แนวทางลดการตายและผู้บาดเจ็บสาหัสบนถนนให้เป็นศูนย์” ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบนถนนจะต้องไม่ทำให้รุนแรงถึงตายหรือบาดเจ็บสาหัส

ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ด้วยวิถีแห่งระบบที่ความปลอดภัย The Safe System Approach ที่องค์การสหประชาชาติแนะนำให้ทุกประเทศนำไปใช้ในการลดการตายและบาดเจ็บสาหัสบนถนน

“เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเป็นพลังสร้างสรรค์ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ที่มีความปลอดภัยสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นเมืองมหานครระดับโลกที่ยั่งยืนต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.พิชัย กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save