ดีอี จับมือคมนาคม และพลังงาน จัด ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Roundtable Meeting ดึง 26 เมืองชั้นนำใน 10 ประเทศ มุ่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน


ดีอี จับมือคมนาคม และพลังงาน จัด ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Roundtable Meeting ดึง 26 เมืองชั้นนำใน 10 ประเทศ มุ่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน จัดการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Roundtable Meeting พร้อมดึง 26 เมืองชั้นนำใน 10 ประเทศในกลุ่มร่วมหารือสาระสำคัญร่างกำหนดการจัดตั้ง ASCN ข้อกำหนดการติดตามและประเมินผลการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอาเซียน รวมถึงหลักเกณฑ์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หวังเตรียมความพร้อมไปสู่การให้สัตยาบันต่อเอกสารดังกล่าวร่วมกันในการประชุม ASCN Annual Meeting ในเดือนสิงหาคม 2562 และรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 และใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือ ASCN ต่อไป

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้กลายมาเป็นหัวข้อหลักในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างจริงจัง และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านดังกล่าวในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2562 นี้ ประเทศไทยได้รับมอบตำแหน่งประธานอาเซียน และนายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ของไทยในการสานต่อเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ผ่านมา

ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Roundtable Meeting
ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Roundtable Meeting

ดังนั้น กระทรวงฯ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย จึงได้จัดการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ASEAN Smart Cities Network (ASCN) Roundtable Meeting ให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของไทย คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลสำเร็จ จากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของแต่ละแห่งในอาเซียน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน และมุ่งยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในอาเซียนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต

สำหรับเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ประกอบด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานสถานะการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเมืองต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน หารือสาระสำคัญของร่างข้อกำหนดการจัดตั้ง ASCN ข้อกำหนดการติดตามและประเมินผลการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอาเซียน รวมถึงหลักเกณฑ์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การให้สัตยาบันต่อเอกสารดังกล่าวร่วมกันในการประชุม ASCN Annual Meeting การประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะประจำปี ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ หอประชุมจีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 และใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือ ASCN

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน หรือ ASCN เป็นข้อริเริ่มของประเทศสิงคโปร์ในช่วงที่เป็นประธานอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2561 ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน และมีเป้าหมายหลักที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอาเซียนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ความแออัดของเมือง คุณภาพของน้ำและอากาศ ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ตลอดจนความมั่นคงและความปลอดภัยของผู้คน

ปัจจุบัน ASCN ประกอบด้วยเมืองจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 26 เมือง ได้แก่ บันดาร์ เสรีเบกาวัน กรุงเทพมหานคร บันยูวังงี พระตะบอง เซบู ชลบุรี ดานัง ดาเวา จาการ์ตา ฮานอย โฮจิมินห์ ยะโฮร์บาห์รู โกตากินะบะบู กัวลาลัมเปอร์ กูซิง หลวงพระบาง มะกัสซาร์ มัณฑะเลย์ มะนิลา เนปิดอว์ พนมเปญ ภูเก็ต เสียมราฐ สิงคโปร์ เวียงจันทน์ และย่างกุ้ง ซึ่งเครือข่ายทั้ง 26 เมืองนี้ ถือเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อข้อมูล ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล และวัฒนธรรม โดยในอนาคตอันใกล้คาดว่าจะเห็นความร่วมมือในด้านเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

Ferry Chung

การใช้แพลตฟอร์มข้อมูลพัฒนาเมือง (City Data Platform)

Ferry Chung, Vice President Digital Transformation & Global Digital Cities กล่าวว่า ด้วยขนาดของเมืองแต่ละเมืองไม่เท่ากัน ข้อมูลของเมืองแต่ละเมืองก็ไม่เท่ากัน เช่น จำนวนประชาชน, อาชีพของประชากร, อายุของประชากร, พื้นที่สีเขียว, สิ่งปลูกสร้าง, สาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น จึงต้องมีการออกแบบการจัดเก็บข้อมูลต่างๆด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำข้อมูลที่ได้เข้ามาเก็บรวบรวมไว้ภายในศูนย์จัดเก็บข้อมูล หรือ Data Center โดยมีแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายรองรับการใช้งานจริงให้ใช้งานง่าย มีความปลอดภัย ผู้ใช้งานยอมรับในประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการจัดเก็บของมูลของเมืองแต่ละเมือง เช่น คนที่ร่วมทำงานขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี 37% , ไม่มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำงานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน 32%, กฎระเบียบในการทำงาน 30% และอื่น ๆ 1%

ทั้งนี้การพัฒนาเมืองต้องใช้เวลาและมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีเดิมที่มีเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามแผนการพัฒนาเมืองของแต่ละเมืองที่วางเอาไว้ อาจจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละเมืองด้วย

Alice Lee

Alice Lee, Director Product Security Office, Seagate Technology กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จาก Data Platform จะต้องนำไปเก็บในศูนย์ข้อมูล (Data Center) หรือนำไปเก็บไว้ในคลาวด์ เพื่อให้ข้อมูลได้รับการปกป้องโดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคลควรมีระบบเข้าสืบค้นข้อมูลที่สร้างความมั่นใจ คุ้มครองผู้ใช้งานไม่ให้ถูกเข้าถึงหรือถูกขโมยข้อมูลนำไปใช้ในทุกๆกรณี การนำข้อมูลไปใช้จะต้องมีการประมวลผล มีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยสำหรับดูแลข้อมูลโดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของแต่ละประเทศแล้วควรมีระบบป้องกันข้อมูลที่มีศักยภาพขั้นสูงสุด ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีและงบประมาณจำนวนมากในการดำเนินการ แต่เมื่อมองถึงความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คนที่อยู่อาศัยใช้ชีวิต นักท่องเที่ยว ธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในเมืองนั้น ๆ เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นเมืองสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ทั่วโลกจะมีการจัดงบประมาณสำหรับสร้างเมืองให้มีความปลอดภัย ให้มีความน่าอยู่ มีการลงทุนด้าน R&D (Research and Development) ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมของเมือง เพื่อให้เป็นเมืองแห่งอนาคตอย่างแท้จริง

Yoa Duoni

Yoa Duoni, Huawei SEA CNBG Marketing กล่าวว่า หัวเว่ยคำนึงถึงรูปแบบการนำเสนอแพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการเมือง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง ความปลอดภัย และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลให้มีการทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว แต่เนื่องจากข้อมูลของแต่ละส่วนมีปริมาณที่มาก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างศูนย์จัดเก็บข้อมูลและพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมารองรับการใช้งาน การปรับปรุงขีดความสามารถในการบริหารจัดการเมืองผ่านศูนย์ข้อมูลหลาย ๆ ส่วนที่เชื่อมไว้ด้วยกัน การพัฒนาเมืองด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้เมืองเป็นเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นโครงการที่มีความซับซ้อนสูงและต้องใช้เวลาในการพัฒนาตลอดเวลา โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI ) ซึ่งช่วยผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้มีการติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถเรียกดูข้อมูลที่ต้องการได้ตลอดเวลา และควรมีการวางแผนรองรับเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

Dr.Erik Selberg

Smart City Solutions เพื่อการขนส่งและจราจร

Dr.Erik Selberg, Head of Engineering, Big Data-Grab กล่าวว่า การขนส่งและจราจรถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองไปสู่เมืองอัจฉริยะ โดยแต่ละเมืองมีการวางแผนนำเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆเข้ามาประยุกต์ใช้ในด้านการขนส่งและจราจร หาพื้นที่จุดจอดรับ-ส่งที่เหมาะสมเพื่อรองรับเมืองที่การเติบโตไม่เท่ากัน ดูแลประชากรที่อยู่ในเมืองและประชากรที่เข้ามาอยู่ในเมืองซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ให้การเดินทาง การขนส่งต่างๆภายในเมืองมีความเชื่อมโยง สะดวก และปลอดภัย แน่นอนว่าเมืองจะพัฒนาเทคโนโลยีเพียงลำพังไม่ได้เพราะภายในเมืองมีความหลากหลายทางเทคโนโลยีจากผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาอยู่อาศัยและดำเนินธุรกิจภายในเมือง ทั้งนี้ภาครัฐและเอนควรร่วมมือและช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งและจราจรที่จำเป็นที่จะต้องใช้งานระหว่างกันหรือสร้างศูนย์ข้อมูลเฉพาะแล้วเปิดเป็นสาธารณะให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึง เรียกใช้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย จะทำให้การพัฒนาเมืองด้านการขนส่งและจราจรด้วยเทคโนโลยีมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save