“ดีป้า” เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตฯ ดิจิทัลคอนเทนต์ ปีพ.ศ. 2563 ขยายตัว 26.55% คาดปี’66 มูลค่า พุ่ง 72,703 ล้านบาท


กรุงเทพฯ -16 พฤศจิกายน 2564 :ดีป้า เผยผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ประจำปี 2563 ระบุภาพรวมอุตสาหกรรมปีพ.ศ. 2563 ขยายตัวร้อยละ 26.55 มีมูลค่าอยู่ที่ 39,332 ล้านบาท โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุตสาหกรรมเกมที่เติบโตอย่างมาก พร้อมคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทย 3 ปีข้างหน้าจะขยายตัวต่อเนื่องถึงปีพ.ศ.2566 ด้วยมูลค่าอุตสาหกรรมที่ 72,703 ล้านบาท

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกส์ไทย (TACGA) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (Bangkok ACM SIGGRAPH) และ บริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง จำกัด ดำเนินการสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ประจำปี 2563 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี ครอบคลุม 3 สาขาหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมแอนิเมชัน อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยปีพ.ศ.2563 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 26.55 มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 39,332 ล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมเกมที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของอุตสาหกรรมเกมมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 ที่ร้อยละ 13.78 ปีพ.ศ. 2562 ขยายตัวร้อยละ 15.96 และในปีพ.ศ. 2563 ขยายตัวร้อยละ 34.89 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 34,316 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของผู้ให้บริการเกมบนแพลตฟอร์มโมบาย จากทั้ง iOS และ Android โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 21,049 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61.34 ของมูลค่าอุตสาหกรรมเกมปีพ.ศ.2563

 

จากผลการสำรวจสถานภาพและคาดการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ ดีป้า ต้องเร่งทบทวนนโยบายและมาตรการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกมที่ควรมุ่งเน้นไปที่ผู้พัฒนาเกม (Game Developer) เพื่อตีตลาดเกมและเก็บส่วนแบ่งจากประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศผู้พัฒนาเกมชั้นนำของโลก

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว

ในทางกลับกันอุตสาหกรรมแอนิเมชันกลับหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.54 มีมูลค่ารวมที่ 3,056 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับชมแอนิเมชันจากโทรทัศน์ผ่านช่องทางฟรีทีวี หรือเพย์ทีวี ไปสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิงออนไลน์จากต่างประเทศ อาทิ Netflix, Disney+ ฯลฯ และจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้โรงภาพยนตร์ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ส่งผลให้รายได้จากภาพยนตร์แอนิเมชันลดลงถึงร้อยละ 50.51 เมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2562

 

เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ที่หดตัวร้อยละ 8.67 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1,960 ล้านบาท เนื่องจากผลพวงทางเศรษฐกิจของวิกฤต COVID-19 ทำให้สภาพคล่องทางการเงินของคนไทยหลายกลุ่มลดลง ทำให้การบริโภคสินค้าในกลุ่มคาแรคเตอร์ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าเพื่อการสะสมมีปริมาณลดลง

 

อุตฯ ดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเติบโตต่อเนื่องคาดปี’66 มูลค่าพุ่งถึง 72,703 ล้านบาท

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า จากความเปลี่ยนแปลงของตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดขึ้น ดีป้า คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยจะมีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 49,649 และ 59,136 ล้านบาทในปีพ.ศ.2564 – 2565 ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมอาจพุ่งทะยานถึง 72,703 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2566 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากตลาดเกมที่ประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากจากสถานการ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่อุตสาหกรรมแอนิเมชันจะขยายตัวจากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีมติผ่อนคลายมาตรการให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการบริโภคภาพยนตร์แอนิเมชันผ่านโรงภาพยนตร์ปรับตัวขึ้นมากจากปีพ.ศ.2562 เช่นเดียวกับตลาดคาแรคเตอร์ที่มีการปรับตัว โดยเปลี่ยนจากการผลิตของเล่น และของสะสม เป็นการผลิตสินค้าในกลุ่มอุปโภคและบริโภคมากขึ้น

 

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทในการผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ 6 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้ 1พัฒนาความรู้และประสบการณ์แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพและความเชี่ยวชาญมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้นักพัฒนาเกมมีศักยภาพด้านการออกแบบ เพิ่มขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับนักพัฒนาระดับโลก และผลิตเกมออกมาได้อย่างมีคุณภาพ 2.สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาดในระดับสากล โดยเปิดโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ผ่านรูปแบบการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)3.วางรากฐานความเป็นมืออาชีพแก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ผ่านหลักสูตรฝึกอบรมที่มีคุณภาพ เช่น การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตและผู้พัฒนาเกมสัญชาติไทยใน 4 หมวดเกมยอดนิยม ประกอบด้วย Action, Adventure, Strategy และ Sport (Casual Game) ให้มีศักยภาพและได้มาตรฐานเทียบเคียงกับผู้ประกอบการระดับโลก 4.จัดให้มีการอบรมให้กับบริษัทดิจิทัลสตาร์ทอัป หรือผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการประกอบธุรกิจ เพราะมีผู้ประกอบการหลายรายที่เปิดบริษัทมาแล้ว แต่ยังขาดความเข้าใจในด้านการบริหารจัดการภายใน เช่น พนักงานขายหรือพนักงานการตลาดที่มีความสามารถในการหาผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อที่มีความต้องการตรงกัน   5.ความร่วมมือกับแพลตฟอร์มโซเชียล เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสู่สังคมไทย ตลอดจนการนำไปสู่การขยายตัวด้านเศรษฐกิจดิจิทัลคอนเทนต์ และเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบนแพลตฟอร์มโซเชียลในการต่อยอดและขยายตลาดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการธุรกิจทุกขนาดในประเทศไทย 6.ส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ สามารถสร้างสรรค์และเสริมสร้างทักษะความรู้ด้านการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์พร้อมขับเคลื่อนสังคมออนไลน์ให้มีคุณภาพผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล

พร้อมกันนี้ในช่วงเสวนาระหว่าง ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และบริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ได้มีการพูดถึงประเด็น การนำแนวคิดเรื่อง Soft Power มาปรับใช้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย
โดยดีป้าได้มุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนให้เกิด Ecosystem ที่ส่งเสริมให้เกิด IP Owner หรือคอนเทนต์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ประกอบการ ผ่านโครงการของสำนักงานฯ เช่น depa Game Accelerator Program และ depa Game Online Academy เป็นต้น

ดร.กษิติธร กล่าวว่า ดีป้าพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ที่สำคัญคือสร้างการตระหนักและยอมรับว่าอุตสาหกรรมที่เคยเป็นผู้ร้ายของสังคม สามารถเป็นอาชีพได้  เช่น Game Developer  และ Game Cluster และเป็นพื้นฐานด้านกีฬา e-Sport โดยตลาดอุตสาหกรรมเกมส์ในต่างประเทศและประเทศไทยมีมูลค่าสูง ทั้งนี้ดีป้าพยายามสร้างความเข้มแข็งทางการตลาดให้อุตสาหกรรมเกมส์มากขึ้น

 

สำหรับแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของดีป้า คือ 1.การพัฒนาบุคลากร 2.สร้างตลาดธุรกิจใหม่ๆ เช่น สตาร์ทอัป และ3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิด Ecosystem  ที่เหมาะสม โดยมีกลยุทธ์เฉพาะเรื่องในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และมองไปอนาคตข้างหน้าไม่ใช่มองแค่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว

ดีป้า และหน่วยร่วมดำเนินการทั้งหมดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล ปีพ.ศ.2563 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปีจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจวางแผนธุรกิจ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่เห็นบทสรุป อีกทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของรัฐบาลในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ต่อไป

ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save