ซิสโก้ – เอ.ที.เคียร์เน่ เผยผลศึกษาการใช้งาน 5G ในอาเซียน คาดปี’ 68 ลูกค้า 5G ในอาเซียนแตะ 200 ล้านราย


ซิสโก้ - เอ.ที.เคียร์เน่ เผยผลศึกษาการใช้งาน 5G ในอาเซียน คาดปี’ 68 ลูกค้า 5G ในอาเซียนแตะ 200 ล้านราย

กรุงเทพฯ – 17 กันยายน 2562 : บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยี และ บริษัท เอ. ที. เคียร์เน่ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลก เผยผลการศึกษาการใช้งาน 5G ในภูมิภาคอาเซียน คาดภายในปีพ.ศ. 2568 มีจำนวนลูกค้า 5G ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนประมาณ 200 ล้านราย โดยประเทศในภูมิภาค 3 ลำดับแรกที่จะเร่งใช้งบลงทุนและดำเนินการ 5G ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ไทยและฟิลิปปินส์ ด้วย 5G จะช่วยในการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ ทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละประเทศเร่งดำเนินการตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ให้บริการแต่ละประเทศจำนวนมหาศาล

วัตสัน ถิรภัทรพงษ์

วัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ซิสโก้ ได้มอบหมายให้ เอ. ที. เคียร์เน่ สำรวจและศึกษาการใช้งาน 5G ในภูมิภาคอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ : จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค (5G in ASEAN: Reigniting growth in enterprise and consumer markets) พบว่า ภายในปีพ.ศ. 2568 การใช้งานของลูกค้าในภาคส่วนต่าง ๆจะเร่งดำเนินการวางฐานการใช้งาน 5G มากขึ้นจากที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณไม่ถึง 5% ที่นำ 5G มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดย 5G รองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า พร้อมความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากขึ้น 10 เท่า และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ 4G เพราะ 5G มีจุดเด่น 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ ความเร็วสูง การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ปรับปรุงดีขึ้น ช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถจัดหาบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นเป็นพิเศษ ที่สำคัญช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถเพิ่มรายได้ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคและลูกค้าองค์กร เช่น ในภาคอุตสาหกรรมที่มีการปรับระบบการทำงานรองรับ มีการนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) มาใช้งานประมาณ 50%, หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขั้นสูง (Advanced robotics) ประมาณ 15 % ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ประมาณ 15% ภาพจำลองเสมือนจริง (Augmented Virtual Reality) หรือ AR และ VR ประมาณ 10 % และการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ประมาณ 10%

ในส่วนของธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆ ธุรกิจภาคการเงิน ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์และงานบริการต่างๆจะปรับตัวนำภาพจำลองเสมือนจริง (Augmented Virtual Reality) หรือ AR และ VR ประมาณ 30 % นำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) มาใช้งานประมาณ 25%, หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขั้นสูง (Advanced Robotics) ประมาณ 15 % ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ประมาณ 15%, และการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ประมาณ 5% และคาดว่าจำนวนลูกค้า 5G ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนในปีพ.ศ. 2568 จะเกิน 200 ล้านราย โดยประเทศ 3 อันดับแรกที่จะเร่งลงทุนพัฒนา 5 G ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีจำนวนประชากรจำนวนมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ตามด้วยไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังดำเนินการใช้งาน 5G อย่างเต็มรูปแบบ

วัตสัน กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยคาดว่า 5G จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการแม้ยังจะไม่เต็มระบบการใช้งานภายในปีพ.ศ. 2564 โดยคาดว่าการเติบโตในระยะแรกหลังจากที่ปรับใช้เทคโนโลยี 5G จะมาจากลูกค้าระดับสูงที่มีอุปกรณ์รองรับ และฐานลูกค้าจะค่อยๆ ขยายตัวเมื่ออุปกรณ์ที่รองรับปรับราคาลดลงมา พร้อมทั้งคาดการณ์การใช้งาน 5G จะมีประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคการผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยี 4IR (The Fourth Industrial Revolution) การเปิดให้บริการ 5G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังรอคอยการเปิดตัว 5G เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้เนื้อหาบนอุปกรณ์ส่วนตัวที่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานเติบโตยิ่งขึ้น คาดว่าเทคโนโลยี 5 G จะทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 34,000 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนแล้วพบว่าภายในปีพ.ศ. 2568 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมกำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5G โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในภูมิภาคอาเซียน

ดาร์เมช มัลฮอตรา

ดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมของซิสโก้ กล่าวว่า การเปิดให้บริการ 5G จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4G และสร้างขีดความสามารถด้าน 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ระบบ 4G และ 5G ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ไม่ใช่แค่พัฒนาในเรื่องคลื่นความถี่เท่านั้น แต่จะต้องพัฒนาอีก 5 การให้บริการควบคู่กันไป ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่เชื่อมในระบบ (Evolved Packet Core) ระบบประมาณผล (Distributed Computing) เครือข่ายการส่งข้อมูล (IP Transport) เครื่องจักรอัตโนมัติต่างๆ (Automation) และการสร้างความพร้อมและศักยภาพในแต่ละองค์กร (Enablement) ซึ่งในแต่ละประเทศรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการวางแผนดำเนินการอย่างรอบด้าน ขณะที่ผู้ให้บริการจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนทุนและ ROI (Return on Investment) ที่ยั่งยืน

ซิสโก้ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายในการพัฒนาระบบ 5G และปัจจุบันมีลูกค้าหลายรายในอาเซียนที่กำลังดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ 5G โดยผลการศึกษาเน้นย้ำว่า เพื่อที่จะปลดล็อคศักยภาพดังกล่าว ภูมิภาคนี้จะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดได้แก่ ย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานช้าเกินไปสำหรับบริการ 5G ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งในระบบ 5G จะได้รับการติดตั้งใช้งานบนหลายย่านความถี่ โดยมี 3 ย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (700 MHz) ใช้สำหรับฟรีทีวีเช่น ในประเทศสิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์, ย่านความถี่กลาง (3.5 ถึง 4.2 GHz) ใช้สำหรับบริการดาวเทียม เช่น ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24 ถึง 28 GHz) เช่น ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ถึงแม้ว่าย่านความถี่สูง บนสเปกตรัมจะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบ จำเป็นที่จะต้องรวมย่านความถี่ต่ำเข้าไว้ด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเขตชานเมืองและชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G โดยกำหนดราคาในแต่ละประเภทอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง ทั้งนี้ผู้บริโภคมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับ 5G และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งแตกต่างเทคโนโลยี 3G และ 4G

“ดังนั้นผู้ให้บริการจึงไม่ควรเข้าร่วมในสงครามตัดราคาเพียงเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก และหวังว่าจะสามารถคิดค่าบริการเพิ่มในภายหลัง สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นที่จะต้องสร้างความสามารถใหม่ ๆ และรวมบริการเชื่อมต่อเข้ากับโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และขยายการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะต้องรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวแก่องค์กร” ดาร์เมช มัลฮอตรา กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save