จุฬาฯ – มทร.ธัญบุรี เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ CDIO ครั้งที่ 17 สร้างวิศวกรรุ่นใหม่ยุค New Normal


กรอบแนวคิดการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอ (Conceive – Design – Implement – Operate : CDIO-based Education) ได้รับการพัฒนามาจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 สถาบันที่มีชื่อเสียงในโลก ได้แก่ Chalmers University of Technology, KTH Royal Institute of Technology, Linkoping University ประเทศสวีเดน และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2000 โดยมีแนวความคิดสำหรับการผลิตบัณฑิต ที่พร้อมสำหรับยุคศตวรรษที่ 21 คือ การจัดการองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ใกล้เคียงกับวิชาชีพมากที่สุดในขณะศึกษา ณ สถาบันการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย การรับรู้และเข้าใจปัญหา (Conceive) การออกแบบหรือหาแนวทางการแก้ปัญหา (Design) การประยุกต์ใช้ (Implement) และการดำเนินงาน (Operate) โดยนับเป็นบริบทที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทุนมนุษย์ในโลกสากล โดยมีองค์กรกลางซึ่งไม่แสวงหากำไรในชื่อ CDIO Worldwide Initiatives ดำเนินการโดย ในปัจจุบันมีสมาชิกในฐานะ Collaborator จำนวน 260 สถาบันทั่วโลก

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Conceive, Design, Implement, and Operate (CDIO) Framework for ReThinking Engineering Education, Thailand ภายใต้การสนับสนุนของ Temasek Foundation และ Singapore Polytechnic International ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในการนำหลักการ CDIO-based Education มาประยุกต์ใช้ตั้งแต่ การประยุกต์ใช้ในระดับรายวิชา ระดับหลักสูตร จนถึงการเปลี่ยนแปลงระดับสถาบัน ซึ่งผลการประยุกต์ใช้พบว่ากรอบแนวคิดการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอ เป็นกรอบแนวปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างยิ่ง  ในการผลิตบัณฑิตสำหรับโลกยุคศตวรรษที่ 21 โดย CDIO มีสถาบันทางการศึกษาที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในทุกปี จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2563 ที่ทั่วโลกประสบกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การประชุมนานาชาติ CDIO ครั้งที่ 16 ต้องทำการปรับรูปแบบการนำเสนอผลงานในรูปแบบออนไลน์ และด้วยปีนี้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประชุมวิชาการระดับนานาชาติ CDIO ครั้งที่ 17 ต้องดำเนินการนำเสนอผลงานในรูปแบบออนไลน์ โดยมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดประชุมในครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อว่า Re-imagining Engineering Education for the New Normal”  ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน ที่ผ่านมา

การประชุมนานาชาติ CDIO ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “Re-imagining Engineering Education for the New Normal” เป็นกิจกรรมงานประชุมที่คณาจารย์ทุกคนสามารถแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษา การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้ทราบถึงการประยุกต์ใช้การจัดการเรียนรู้ตามกรอบแนวคิดการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอ ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความปกติแบบใหม่ได้อย่างไร อีกทั้งการเรียนรู้ร่วมกันในช่วงหลังวิกฤตการณ์โดยที่สถาบันอุดมศึกษาก็ต้องมีการปรับตัว รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็เช่นกัน ที่เล็งเห็นความสำคัญและพร้อมที่จะสนับสนุนคณาจารย์ นิสิต และบุคลากรทางวิชาการ ในการเรียนรู้ถึงกรอบการจัดการการเรียนรู้แบบ CDIO และรวมถึงการปรับปรุงแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิชาการ เพื่อให้มีความพร้อมทันกาลสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สำหรับโปรแกรมการประชุมนี้ ประกอบด้วย: 2 Keynotes, 81 ผลงานการนำเสนอทั่วไป, 3 Working groups,  4 Workshops และ 8 Roundtables ซึ่งโดยรวมทั้งหมดมีการนำเสนอผลงานทั้งหมด 98 ผลงาน โดยนักวิชาการจำนวนมากกว่า 150 ท่าน จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวน 27 ประเทศ ที่เข้าร่วมในการประชุมออนไลน์ครั้งนี้

ปาฐกถาพิเศษ คนที่ 1 โดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการอิสระ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)  ซึ่งบรรยายในหัวข้อ TRANSFORMING THE EDUCATIONAL CONTEXT FOR THAILAND IN THE NEW NORMAL ERA” และปาฐกถาพิเศษ คนที่ 2 โดย ศาสตราจารย์ ดร. โยฮันนา อันนาลา  (Johanna ANNALA) อาจารย์อาวุโสจากคณะศึกษาศาสตร์และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยตัมเปเร่ ประเทศฟินแลนด์  โดยบรรยายในหัวข้อ “Academics AS CURRICULUM CREATORS IN HIGHER EDUCATION”

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการประชุมวิชาการ CDIO ครั้งที่ 17 นี้ว่า การระบาดใหญ่ของ COVID-19  ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน เช่นเดียวกับการศึกษาที่เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และเมื่อยุคที่มีแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้มากขึ้น อาจารย์ผู้สอนจะต้องปรับวิธีการสอนของตนเองเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างเข้าถึงแก่นแท้ ขณะเดียวกันนิสิตก็เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ และสัญญาณการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่แน่นอนว่า สถานการณ์เช่นนี้สามารถก่อทำให้เกิดสภาวะความเครียดต่ออาจารย์รวมถึงนิสิตได้ และผลเสียเหล่านี้เป็นข้อกังวลที่เป็นประเด็นสำคัญให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทางด้านวิชาการทุกคนต้องเผชิญ

ผศ. ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศและการสร้างเครือข่ายนั้นเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการกับปัญหาท้าทายระดับโลก จึงทำให้มีความสนใจที่จะให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในทุกศาสตร์สาขาวิชา โดยที่มีการมุ่งเป้าไปที่การจัดการกับความท้าทายของการศึกษาและการวางตำแหน่งเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลให้เป็นสถาบันระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง การทำงานกับมหาวิทยาลัยนานาชาติถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ทั่วโลก หลักการซีดีไอโอ (CDIO) เป็นแบบอย่างในการพัฒนาสถาบันการศึกษาและสร้างหลักสูตรที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของบัณฑิต ส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในการทำงานและเท่าทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญที่ผลักดันให้สถาบันการศึกษาพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดการกับความท้าทายในการศึกษาภายใต้ความปกติใหม่ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยฯ มีความมั่นใจในความพยายามและมุ่งมั่นยกระดับการศึกษาให้ทันต่อความท้าทายของยุคสมัย บังเกิดผลทำให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพและคุณภาพ ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนของประเทศไทย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save