ครม. อนุมัติงบด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี’67 รวม146,070.40 ล้านบาท


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ..2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยครม. มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ด้านการอุดมศึกษาฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ด้าน ววน.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวมวงเงินทั้งสิ้น 146,070.40 ล้านบาท ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบายฯ) เสนอ ดังนี้

  1.   กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567จำนวน 114,970.40 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว
  2. กรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าว

   สาระสำคัญของเรื่อง

สภานโยบายฯ รายงานว่า

  1. สภานโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2564 มีมติเห็นชอบหลักการของ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อใช้จัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาฯ และแผนด้าน ววน. ต่อไป และต่อมาในคราวประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2564 ได้มีมติเห็นชอบแผนด้านการ  อุดมศึกษาฯ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 และ (ร่าง) แผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบต่อเอกสารทั้ง 3 ฉบับแล้ว

2.สภานโยบายฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2565 ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาฯ จำนวน 114,970.40 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. จำนวน 31,100 ล้านบาท เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

3.รอบวงเงินด้านการอุดมศึกษาฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และกรอบวงเงินด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนรวมทั้งสิ้น 146,070.40 ล้านบาท จัดทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ โดยมุ่งตอบสนองการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG) ใน 4 ด้าน (ด้านเกษตรและอาหาร ด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวและด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ) เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรม การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยสาระสำคัญของกรอบวงเงินทั้ง 2 ด้านดังกล่าว มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

3.1ด้านการอุดมศึกษาฯ

3.1.1กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 114,970.40 ล้านบาท ใช้หลักการจัดสรรงบประมาณให้สนองด้านอุปสงค์ (Demand – Side Financing) ตามแนวทางการพัฒนาระบบ (Roadmap) การจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์สำหรับการอุดมศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลลัพธ์ (Outcome) สำคัญ ได้แก่ การผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่อความต้องการ (Real Demand) ได้อย่างแท้จริง สะท้อนได้จากความสามารถในการได้งานทำ (Employability) เพิ่มสูงขึ้น ความคุ้มค่าและผลตอบแทนจากการลงทุน (Return of Investment) ที่ชัดเจน และความเชื่อมโยงในการร่วมลงทุนในการพัฒนากำลังคนกับภาคเอกชน (Co-creation) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีการดำเนินการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 45รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1) งบบุคลากรตามมาตรา 45 (1) ประมาณการจากงบประมาณรายจ่ายซึ่งเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ของบุคลากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 – 2566จำนวน 70,715.23 ล้านบาท

2) งบดำเนินงานตามมาตรา 45 (2)คำนวณจากต้นทุนงบประมาณต่อหน่วยการผลิตบัณฑิต (Budget Cost Per Unit) โดยเชื่อมโยงกับจำนวนนักศึกษารวมที่เป็นเป้าหมายการจัดการศึกษารูปแบบปริญญา (Degree Program) ในแต่ละสาขาวิชา จำนวน 38,693.84 ล้านบาท

3) บลงทุนและงบเงินอุดหนุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา และการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศตามมาตรา 45 (3) กำหนดงบประมาณภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) จำนวน 5,561.33 ล้านบาท

3.1.2การดำเนินงานที่สำคัญภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567มีดังนี้

1) การผลิตบัณฑิต หลักสูตรระดับปริญญา (Degree) จำนวน 1,385,086 คน โดยมีเป้าหมายการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ จำนวน 415,525 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักศึกษารวมปีการศึกษา 2566

2) การพัฒนากำลังคน หลักสูตรระยะสั้น Non-Degree (Re Skills, Up Skills, New Skills) จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป วุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถ

3) การพัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป (Non – Age group) ในระบบอุดมศึกษา จำนวนไม่น้อยกว่า 275,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของจำนวนประชากรไทยอายุ 25 ปีขึ้นไป

4) โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) มีผลผลิตสรุปได้ ดังนี้

1.แพลตฟอร์ม/ระบบ การบริหารจัดการหลักสูตร บูรณาการการเรียนการสอนและการวิจัยด้านต่าง ๆ ค่าเป้าหมาย30 แพลตฟอร์ม

2.หลักสูตรนานาชาติคุณภาพสูง และหลักสูตรใหม่ในสาขาวิชาเทคนิคระดับสูงที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ ค่าเป้าหมาย30 หลักสูตร

3.จำนวนหลักสูตร (หลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรระยะสั้น (Re Skill, Up Skill, New Skill) หลักสูตร Non – Degree หลักสูตรสหกิจและอื่น ๆ) ค่าเป้าหมาย 60 หลักสูตร

4.จำนวนหลักสูตร (หลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรระยะสั้น (Re Skill, Up Skill, New Skill) หลักสูตร Non – Degree หลักสูตรสกิจศึกษาและอื่น ๆ) เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรสำหรับการพัฒนาพื้นที่ ค่าเป้าหมาย 60 หลักสูตร

5.ยกระดับขีดความสามารถของคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรมีความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะทางระดับสูง ค่าเป้าหมาย 1,500 คน

6.สร้างบัณฑิตที่มีทักษะสูงตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศ และมีการพัฒนาทักษะ (Up Skill/Re Skill) แรงงานในอุตสาหกรรมปัจจุบัน เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ค่าเป้าหมาย 15,000 คน

7.ความร่วมมือกับสถาบันพันธมิตรระดับนานาชาติ ค่าเป้าหมาย 30 แห่ง

8.จำนวนผลงานตีพิมพ์ในวารสาระดับนานาชาติ (ระดับ Q1) ค่าเป้าหมาย 1,200 ชิ้น

9.นักศึกษาต่างประเทศ/นักศึกษาแลกเปลี่ยนกับสถาบันพันธมิตรต่างประเทศ ค่าเป้าหมาย 40 คน

10.ผู้ประกอบการที่ผ่านการสร้างศักยภาพการทำงานด้านธุรกิจนวัตกรรม ค่าเป้าหมาย3,000 ราย

11.มีการเคลื่อนย้ายบุคลากรระหว่างมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม ทั้ง 2 ทาง ค่าเป้าหมาย 600 คน

12.มีการสร้าง Technology – based Startup และพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ให้สามารถยกระดับการสร้างเทคโนโลยีได้เองในประเทศ ค่าเป้าหมาย 200 ราย

13.จำนวนเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรตามจุดเด่น/จุดเน้น ร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ค่าเป้าหมาย 74 เครือข่าย

3.2ด้าน ววน.

3.2.1กรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ประมาณการกรอบวงเงินโดยใช้หลักการ Impact – Based Budgeting มีวิธีคำนวณ ดังนี้

1) ประมาณการงบประมาณลงทุนด้าน ววน. ที่จำเป็นสำหรับการบรรลุตามเป้าหมาย โดยพิจารณาผลกระทบที่ ววน. จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

2) ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) ทั้งหมดที่จำเป็น และงบประมาณ R&D ของภาครัฐ

3) คำนวณงบประมาณด้าน ววน. ที่จัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยหักงบประมาณจากเงินรายได้ภาครัฐและจากกองทุนอื่น ๆ เงินค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และงบประมาณจากแผนงานอื่น ๆ ออกจากงบ R&D ของภาครัฐ

4) ประมาณการงบประมาณที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับการดำเนินงานตามแผนด้าน ววน. เพื่อให้สามารถนำส่งผลลัพธ์และผลกระทบได้ตามแผน

3.2.2สัดส่วนงบประมาณรายยุทธศาสตร์ของแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566 – 2570 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 31,100ล้านบาท สรุปได้ ดังนี้

                ยุทธศาสตร์ที่ 1การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพี่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม งบประมาณ 10,885 ล้านบาท สัดส่วน ร้อยละ 35

                ยุทธศาสตร์ที่ 2การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม งบประมาณ 9,330 ล้านบาท สัดส่วน ร้อยละ 30

                ยุทธศาสตร์ที่ 3การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต งบประมาณ 4,665 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 15

                ยุทธศาสตร์ที่ 4การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม งบประมาณ 6,220 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 20

                 3.2.3ระบบการจัดสรรงบประมาณและบริหารงบประมาณด้าน ววน. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567สรุปได้ ดังนี้

1) งบประมาณด้าน ววน. แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

(1.1) งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวนร้อยละ 60 – 65 เป็นการสนับสนุนการวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน.

(1.2) งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จำนวนร้อยละ 35 – 40 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสร้างความเข้มแข็งตามพันธกิจของหน่วยงาน โดยการจัดสรรงบประมาณทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวครอบคลุมงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization) จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท

(2) นวทางการจัดสรรและบริหารงบประมาณของกรอบวงเงินดังกล่าวเป็นแบบเงินก้อน (Block Grant) และการจัดสรรงบประมาณแบบต่อเนื่องหลายปี (Multi – year Budgeting) ที่สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. มีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเกิดความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น และดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการมีระบบผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และกลไกเพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์จากการใช้จ่ายงบประมาณที่มีคุณภาพและสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศได้ในเวลาที่เหมาะสมและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

3.2.4ผลที่คาดว่าจะเกิดจากการลงทุนด้าน ววน. มีดังนี้

1) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยี (Front Runner) ในระดับสากลสำหรับสาขาเป้าหมายของประเทศ และในระดับอาเซียนสำหรับอุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคต

2) กำลังคนของประเทศมีผลิตภาพและศักยภาพสูงขึ้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ

3) ประมาณการงบลงทุนด้านวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการกระตุ้นของการลงทุนของรัฐ และนโยบาย/มาตรการด้านการอุดมศึกษาฯ

4) สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนเป้าหมายมีความตระหนักรู้ในความสำคัญ ประโยชน์ และคุณค่าจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

5) ประเทศไทยมีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index) ที่สูงขึ้นอยู่ใน 35 อันดับแรก

6) ประเทศไทยมีอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้นอยู่ใน 35 อันดับแรก

3.2.5ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น/เป้าหมายความสำเร็จปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกรายยุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนพร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
  2. การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก
  3. การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต
  4. การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save