ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1


ครม. มีมติเห็นชอบ โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14  มีนาคม ..2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม. มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 863.40 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ 484.80 ล้านบาท และเงินบาท 378.60 ล้านบาท และให้ถือว่า กฟผ. ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อการลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่ายประจำปี พ.ศ.2566

      สาระสำคัญ

พน. โดย กฟผ. ได้จัดทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ชุดที่ 1 (โครงการฯ) เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาแนวทางและต่อยอดพัฒนาสู่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดด และช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานน้ำ โดยโครงการฯ มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่                 1) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1.วัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาแนวทางและต่อยอดพัฒนาสู่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่มีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) รวมทั้งเป็นการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและภูมิภาคที่สูงขึ้น รวมทั้งลดการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และเป็นการใช้พื้นที่ของ กฟผ. โดยเฉพาะพื้นที่อ่างเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2.ที่ตั้งโครงการฯ ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสันเขื่อนอุบลรัตน์ ตำบลอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ใช้พื้นที่ประมาณ 250 ไร่ (10 ไร่/เมกะวัตต์) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 ของพื้นที่ผิวน้ำ

3.ข้อมูลด้านเทคนิค มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 24 เมกะวัตต์ และมีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 31.2 เมกะวัตต์พีค โดยติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน (c-Si) สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 44.98 ล้านหน่วยต่อปี [อัตราการเดินเครื่อง (Plant Capacity Factor) ร้อยละ 18.10] ติดตั้งระบบ BESS ขนาดกำลังจ่ายไฟฟ้าประมาณ 6 เมกะวัตต์ ขนาดพิกัด 3 เมกะวัตต์ชั่วโมง โดยเชื่อมโยงเข้าระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงเขื่อนอุบลรัตน์ 115 กิโลโวลต์ และ ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ร่วมกับระบบการพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่เดิม โดยจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันแทนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และนำมวลน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำหรือช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน

4.ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 1 ปี โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี พ.ศ.2566

5.วงเงินลงทุน รวมทั้งสิ้น 863.40 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 484.80 ล้านบาท (เทียบเท่า 15.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 31.50 บาท) และ (2) ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการบริหารงานก่อสร้าง 378.60 ล้านบาท

6.แหล่งเงินทุน

(1) เงินรายได้ของ กฟผ. ร้อยละ 40

(2) แหล่งเงินทุนอื่น ๆ ร้อยละ 60 โดย กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายโครงการ ดังนี้

1) ค่าใช้จ่ายในส่วนเงินบาท ใช้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหรือหลายแหล่งรวมกัน จากธนาคาร/สถาบันการเงินในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและเงินรายได้ของ กฟผ.

2) กรณีที่จำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศ ใช้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง หรือหลายแหล่งรวมกันจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการนำเข้า – ส่งออกธนาคาร/สถาบันการเงินต่างประเทศ และ/หรือในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนต่างประเทศ

7.ผลตอบแทนทางการเงิน  มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 5.77 มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) ณ อัตราคิดลดเท่ากับต้นทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Cost of Capital: WACC) ร้อยละ 5.26 อยู่ที่ 90 ล้านบาท และราคาค่าไฟเฉลี่ยของโครงการฯ อยู่ที่ 1.99 บาท/หน่วย

8.ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 32.57

9.ผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า โครงการฯ จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้น 0.02 สตางค์ต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการฯ (25 ปี)

10.กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ระหว่างก่อสร้างประมาณ 1.56 ล้านบาท (50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ติดตั้งต่อปี x 31.2 เมกะวัตต์) และระหว่างดำเนินการผลิต 0.01 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 449,800 บาทต่อปี หรือประมาณ 11.25 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี

11.การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการฯ ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) และ โครงการฯเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานประมวลหลักปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขอใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental & Safety Assessment: ESA เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม

12.การขออนุญาตใช้พื้นที่ พื้นที่ราชพัสดุ (บริเวณพื้นที่หัวงานและพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์) กฟผ. ได้ดำเนินการเช่าที่ราชพัสดุต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเรียบร้อยแล้ว และพื้นที่ป่าไม้ถาวร (บริเวณพื้นที่หัวงานเขื่อนอุบลรัตน์) ต้องยื่นต่อสำนักงานป่าไม้ท้องที่และดำเนินการจัดทำรายการการตรวจสภาพป่าเสนอกรมป่าไม้

13.ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น เพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและในภูมิภาค ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งสนองนโยบาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissionsสามารถบริหารการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นการใช้ระบบและอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพโดยเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็นและชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้รับประโยชน์ต่าง ๆ เช่น มีกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

14.คณะกรรมการ กฟผ.ในคราวประชุมครั้งที่ 12/2562 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม  พ.ศ.2562 มีมติเห็นชอบโครงการฯ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save