คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ เมดโทรนิค เปิดตัวนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการรักษาหลอดเลือดสมองในรูปแบบ VR


คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ เมดโทรนิค เปิดตัวนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการรักษาหลอดเลือดสมองในรูปแบบ VR

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมองค์ความรู้หลักสูตรบทเรียน Introduction Course for Thrombectomy Treatment in Acute Ischemic Stroke ซึ่งเป็นบทเรียนที่ให้ความรู้ด้านการรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ผ่านแพลตฟอร์ม MDCU MedUMore  ในรูปแบบ Virtual Reality (VR) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นภาพเสมือนจริงและเกิดการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า องค์ความรู้ในปัจจุบันแหล่งความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะห้องเรียนหรือห้องสมุดอีกต่อไป โลกออนไลน์เป็นอีกแหล่งความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายทุกๆ ที่ทุกๆ เวลา สามารถเลือกค้นหาการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการรักษาผู้ป่วยให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพและสะดวกยิ่งขึ้น และยิ่งมีโรคใหม่ๆ การรักษาแนวใหม่นิสิตนักศึกษาแพทย์ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาอย่างต่อเนื่องให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ทันต่อการรักษาโรคในปัจจุบันและในอนาคตเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาโรคที่เป็นบรรเทาและหายขาดได้ จึงเกิดความร่วมมือนำหลักสูตร “Introduction Course for Thrombectomy Treatment in Acute Ischemic Stroke” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาร่วมกับบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถูกถ่ายทอดสู่แพลตฟอร์ม MDCU MedUMore เพิ่มมิติในการเรียนรู้ เห็นรูปแบบเทคนิคการรักษาต่างๆ เรียนรู้ได้ผ่านระบบรองรับ Virtual Reality (VR) ระบบที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นภาพเสมือนจริง และผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ทางการแพทย์อย่างไร้ขีดจำกัด

สำหรับแพลตฟอร์ม MDCU MedUMore  ถือเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์อย่างครบถ้วน สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้โดยง่ายรองรับสำหรับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงภาคประชาชนทั่วไป

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ เมดโทรนิค เปิดตัวนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการรักษาหลอดเลือดสมองในรูปแบบ VR

นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีเป้าหมายร่วมกันที่จะเป็นสถาบันต้นแบบทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และอีกหนึ่งโจทย์สำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งความรู้ การรักษาได้ทันต่อโรค ผู้ป่วยไม่ทรมาน ทั้งนี้การมีแพลตฟอร์ม MDCU MedUMore  จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยที่ปัจจุบันเข้าทำการรักษาเพิ่มมากขึ้น จากรายงานข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2560 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วย 293,463 คน ปี พ.ศ. 2560 พบผู้ป่วย 304,807 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละประมาณ 30,000 คน

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะโรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น

รานีวรรณ รามศิริ

รานีวรรณ รามศิริ Vice President and Managing Director Thailand บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ แม่อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  มีขนาดธุรกิจประมาณ 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้งน เมดโทรนิคเริ่มธุรกิจทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่รักษายาก และมีความซับซ้อน  จึงต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการวินิจฉัยและทำการรักษาช่วยผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อนำเทคโนโลยีสุขภาพระดับโลก ส่งถึงมือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาคนไข้ในประเทศไทย ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และบริการที่ดี  เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาของระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้อยู่ในระดับสากล ผ่าน 4  กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Cardiovascular Essential, Cardiac Rhythm Management & Diagnostics,  Service Surgical Innovations และ NeuroScience & Emerging Business

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ เมดโทรนิค เปิดตัวนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการรักษาหลอดเลือดสมองในรูปแบบ VR

สำหรับการร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น บริษัทฯ ได้ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ MDCU MedUMore เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเริ่มความความมือกับ  ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผศ.นพ.จาตุรนต์ ตันติวัตนะ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อ.นพ.วสันต์ อัครธนวัฒน์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในการจัดทำหลักสูตรบทเรียน “Introduction course for Thrombectomy treatment in Acute Ischemic Stroke” โดยการเรียนรู้ด้วย VR เพื่อให้ผู้เรียนได้สัมผัสและได้รับประสบการณ์เสมือนจริงในการเรียนรู้โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญและเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้ป่วยอย่างยิ่ง ปัจจุบันหัตถการ thrombectomy ถือเป็นนวัตกรรมการรักษา ที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นหัตถการที่ได้รับการส่งเสริมจากทางภาครัฐในการเบิกจ่ายอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในการทำหัตถการ และเราเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือเพื่อให้ผลการรักษาได้ผลลัพธ์ดีที่สุด เรามีความภูมิใจที่จะนำเสนอรูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการทำหัตถการและการใช้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านระบบ Virtual Reality (VR) ที่จะมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในการเรียนรู้ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการอบรมที่มีคุณภาพของคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ห่างไกล ให้สามารถเรียนรู้ได้เสมือนอบรมที่ศูนย์การเรียนรู้ ทั้งนี้ยังมองเห็นโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยแบบยั่งยืน และเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสุขภาพของประชาชนไทยได้มากขึ้นในอนาคตเพื่อพัฒนาหัตถการทางการแพทย์ที่สำคัญอื่นๆ เพิ่มขึ้น

 

MDCU MedUMore จะเป็นเครื่องมือช่วยรักษาโรคอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมองในไทย

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์

ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีตหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุของความพิการระยะยาว และการเสียชีวิตของประชากรจำนวนมาก จากข้อมูลขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization) ล่าสุด พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกกว่า 80 ล้านคน โดยผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคนต่อปี และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกพบว่า ทุก ๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน ซึ่ง 80% ของประกรโลกที่มีความเสี่ยง สามารถป้องกันได้ สำหรับในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองโลกเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ 1 ซึ่งความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง และ2.หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ เมดโทรนิค เปิดตัวนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการรักษาหลอดเลือดสมองในรูปแบบ VR

สำหรับสัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยหลักการ F.A.S.T และ 6 ข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ประกอลด้วย 1.หากสามารถสังเกตสัญญาณโรคได้เร็ว จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยและทำให้การรักษาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.กว่า 1 ใน 10 ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองจะสามารถฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี 3.การรักษาโรคหลอดเลือดสมองสามารถทำได้โดยการให้ยารับประทานภายใน 4.5 ชั่วโมง หรือการรักษาโดยกาทำหัตถการสายสวนเพื่อดึงก้อนเลือดออกมา 4.การพักฟื้นเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้โดยเร็วที่สุด 5.หนึ่งในสี่ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ และ6.การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ อาทิ เช่น การรับประทานอาการครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การไม่สูบบุหรี่ การจัดการความเครียด และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสม ส่วนการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จำทำการรักษาโดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ รักษาโดยใช้สายสวนหลอดเลือดเพื่อลากลิ่มเลือดที่อุดตันออกให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด ทำให้สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้ 

และการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในปัจจุบัน มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพของขึ้น โดยการใส่อุปกรณ์ผ่านสายสวนหลอดเลือดเพื่อไปนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง แพทย์จะทำหัตถการสอดใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดง ผ่านบริเวณขาหนีบจนไปถึงตำแหน่งที่อุดตัน และนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันตามหลอดเลือดออกมา ซึ่งพบว่าผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้โรคเลือดสมองด้วยระบบ VR ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญชวนมาสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนจริง ลงทะเบียนและขอรับบริการได้ผ่านแพลตฟอร์ม MDCU MedUMore


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save