กสทช. เดินหน้าเปิดเสรี “ดาวเทียม” สร้างมิติการแข่งขันอย่างสมดุลและเป็นธรรม


กสทช. เดินหน้าเปิดเสรี “ดาวเทียม” สร้างมิติการแข่งขันอย่างสมดุลและเป็นธรรม

กรุงเทพฯ – 16 ธันวาคม 2562 : SM Magazine นิตยสารการตลาดชั้นนำ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานสัมมนา “OpenSky 2020 : Opportunities and Challenges โอกาส และความท้าทายในกิจการดาวเทียมของไทย” เนื่องจากระบบสัมปทานของไทยได้ถูกเปลี่ยนผ่านไปยังการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น จากเดิมที่ตลาดกลุ่มนี้มีผู้เล่น (Player) น้อยรายมาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการเปิดแข่งขันเสรี โดยปลดล็อกให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้มีบริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยสนใจลงทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการออกใบอนุญาต คือ การเปิดให้มีการแข่งขันด้านกิจการดาวเทียมของประเทศไทยอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายเก่าหรือรายใหม่สามารถเข้าสู่กิจการดาวเทียมได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหลักการที่สากลและหลายประเทศให้การยอมรับ โดยที่การแข่งขันของกิจการดาวเทียมเป็นการเปิดการแข่งขันใน 2 มิติ คือ การแข่งขันในภาคอวกาศ (Space Segment) และการแข่งขันในภาคพื้นดิน (Ground Segment) บนพื้นฐานของความสมดุลที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย กล่าวคือ เปิดโอกาสให้มีหลายบริษัทเข้ามาแข่งขันให้มีการพัฒนาดาวเทียมสัญชาติไทยไปสู่อวกาศ และเปิดโอกาสให้หลายบริษัทเข้ามาแข่งขัน สามารถใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในประเทศไทย หรือ (Landing Right) ได้ เพื่อจะได้มีบริษัทรายใหม่มาร่วมแข่งขันในตลาดและลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งๆ ขึ้น

“กสทช. ต้องการเห็นผู้เล่นรายใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ความยากของ Regulator ในการกำกับดูแลกิจการดาวเทียม คือ การให้ผู้บริการดาวเทียมเข้ามาแข่งขันในตลาด เพื่อเป็นตัวแทนในนามประเทศไทยยิงดาวเทียมเพื่อคนไทย ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้บริษัททั้งไทยและต่างชาติที่เป็นเจ้าของดาวเทียมและมี Footprint ในไทย มาทำการแข่งขันในไทยได้อีกด้วย” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว

สำหรับ Roadmap ในปีหน้า กสทช. จะนำวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก มาเปิดเสรีก่อน ทั้งนี้หากไทยคมหมดสัญญาใน 2 ปีข้างหน้า จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะจัดการวงโคจรดาวเทียมอย่างไร

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า Disruption ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อเครือข่ายดาวเทียมสื่อสารในย่านวงโคจรระยะต่ำ (LEO : Low Earth Orbit ) เชื่อมโยงกับ 5G จนทำให้อุตสาหกรรมพลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์จะสนใจดาวเทียมสื่อสาร LEO เนื่องจากทำให้รถยนต์มีความเป็นอัจฉริยะ และเกิด Disruption อย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดธุรกิจด้านบันเทิงตามมาอีกมากมาย

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า โอกาสของธุรกิจดาวเทียมยังเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจดาวเทียมที่ Complimentary เช่น เรือ เครื่องบิน และ Mobility ที่ยัง Connectivity ไม่ถึง ทั้งนี้การลงทุนธุรกิจดาวเทียมจะต้องมีตลาดในต่างประเทศด้วย เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน การจูงใจให้ผู้ประกอบการไทยเต็มใจลงทุน จะต้องสร้างสมดุลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายในอุตสาหกรรมและนโยบายของไทย

ในอนาคตอันใกล้ระบบสื่อสารดาวเทียมจะถูกพัฒนาโดยส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นไปในย่านวงโคจรระยะต่ำ (LEO) ซึ่ง CAT อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสารดาวเทียมในย่านนี้ เมื่อประเทศไทยมีความต้องการใช้งานข้อมูลผ่านดาวเทียมขนาดใหญ่และ 5G จะทำให้ CAT สามารถให้บริการรองรับได้ทันทีและยังมีการเจรจากับพันธมิตรธุรกิจด้วยโดยเสนอพื้นที่สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของ CAT ให้เป็นสถานี Gateway ของเครือข่ายดาวเทียม LEO ที่มีการใช้งานลักษณะกลุ่มดาวเทียม (Constellation) ครอบคลุมทั่วโลกประมาณ 800 ดวง

นอกจากนี้มองว่า Smart Home และSmart City จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ความต้องการการใช้งาน IoT (Internet of Things) เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายและยกระดับคุณภาพชีวิต

อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ กรรมการ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดาวเทียมในอนาคตข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิม เพราะมี 2 แกน คือ ดาวเทียมอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความเร็วใกล้เคียง 5G ในอนาคตดาวเทียมมือถือจะมีต้นทุนต่ำและ CCTV บนท้องฟ้า ซึ่งสามารถจับภาพรถที่กำลังวิ่งได้ทุก ๆวินาทีว่าเกิดอะไร และอยู่ตำแหน่งใด
ในยุคอนาคตจะมีการเชื่อมระหว่าง Space, UAV (Unmanned Aerial Vehicle) และ Ground ณ ขณะนี้จีนรู้ว่าไทยปลูกข้าวพื้นที่กี่ไร่ ขณะที่ไทยยังไม่ทราบว่าเวียดนามปลูกข้าวจำนวนกี่ไร่

“ประเทศไทยใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ 3 ล้านล้านบาท แต่จัดสรรงบประมาณด้านดาวเทียมราวหมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.01 % ทั้งนี้หากรัฐจัดสรรงบประมาณมากยิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์” อนันต์ กล่าว

เมื่อมีการเปิดเสรีทางการแข่งขันดาวเทียมและมีรายใหม่เข้ามาในตลาด อนันต์ มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกวันนี้รายได้ 50% ของไทยคมมาจากต่างประเทศการที่ไทยคมไปทำตลาดต่างประเทศนั้น คือการเข้าไปแข่งขันกับรายอื่น มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่ได้แข่งกับใคร การเปิดเสรีจึงเป็นเรื่องที่ดีเพราะจากเดิมในระบบสัมปทานต้องเสีย Revenue Sharing ประมาณ 22% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ขณะที่ที่ไทยคมไปทำตลาดในต่างประเทศแต่ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

อีกทั้ง การเปิดเสรียังคงมีกติกาและเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยบริษัทที่จะเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยจะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศ ดังนั้น วิธีการทำตลาดอาจจะเปลี่ยนเป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับไทยคม เพื่อสร้างกลยุทธ์ในการทำตลาด ซึ่งบริษัทระดับ Global Partner เริ่มมีเข้ามาคุยกับไทยคมแล้ว จึงมองว่าเปิดเสรีธุรกิจดาวเทียมเป็นโอกาสมากกว่า ซึ่งจะช่วยให้ไทยคมมี Partner เพิ่มขึ้น

วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า จุดแข็งของ มิว สเปซ ที่แตกต่างจากผู้เล่นรายเดิมในตลาดคือ ความสามารถในการ Customization เป็นการคิดและปรับเปลี่ยนการให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
และเมื่อมีการเปิดเสรีทางการแข่งขันในธุรกิจนี้ ยิ่งส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจดาวเทียมของมิว สเปซ โดยมุ่งเน้นให้บริการด้านการรับส่งข้อมูลเป็นหลัก

“ในปีพ.ศ.2563 มิว สเปซคาดว่าธุรกิจจะเติบโตได้ถึง 300% หลังจากเปิดเสรีดาวเทียม ซึ่งการเปิดเสรีทางการแข่งขันของธุรกิจนี้เป็นเรื่องที่ดี ต้องบอกว่าดาวเทียมนั้นมีความเป็นเสรีอยู่แล้ว การเปิดแข่งขันเสรีในไทยจะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งลูกค้าของมิว สเปซ มีทั้งระดับองค์กรและผู้ให้บริการต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งการเปิดเสรีจะสร้างโอกาสให้เกิดบริษัทดาวเทียมใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เป้าหมายปัจจุบันของมิว สเปซ ชัดเจนไปที่การมุ่งเน้นในเรื่องของธุรกิจการรับส่งข้อมูล” วรายุทธ กล่าว

ศมาธร เทียนกิ่งแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีดาวเทียมพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของ 5 G และ High Throughput Satellites ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว สำหรับประเด็นการเปิดเสรี ควรมองว่า การที่ประเทศไทยเปิดเสรีดาวเทียมก่อนแล้วจะประเทศจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ใช้บริการในราคาถูกลงหรือไม่ ธุรกิจประเทศไทยเติบโตอย่างไร ซึ่งมิวสเปซต้องการเห็น Roadmap ในลักษณะนี้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save