กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยปี ’66 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว พร้อมเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย


กกร.ชี้เศรษฐกิจไทยปี ’66 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว พร้อมเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

กรุงเทพฯ –  11 มกราคม 2566 : สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมกราคม 2566 โดยมี เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม ณ ห้อง Ballroom ชั้น G โรงแรมอนันตรา สยาม ราชดำริ กรุงเทพฯ

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

สำหรับการแถลงข่าวประจำเดือนมกราคม 2566  มีประเด็นต่อไปนี้

 การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดของจีนอาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ในช่วงต้นของการผ่อนคลาย มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและการส่งออก ภาคการผลิตของจีนจึงหดตัวลงเพิ่มเติมในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมที่เข้มงวดคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเดินหน้าฟื้นตัวได้มากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้ระดับ 5% ตามเป้าหมายได้ หลังจากที่เติบโตต่ำกว่าเป้าหมายในปีที่ผ่านมา จะช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากเกินไปในภาวะที่ยังเผชิญแรงกดดันจากราคาพลังงานในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ประธานร่วมในการประชุม

เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย 11.1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดการณ์ ช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวได้ โดยอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 63% เข้าใกล้ระดับปกติที่ 77% และในปีนี้ มีปัจจัยหนุนจากการที่ประเทศจีนเปิดประเทศโดยผ่อนคลายมาตรการกักตัวภาคบังคับ ตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 ซึ่งน่าจะทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจสูงได้ถึง 20 – 25 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลถึงปัญหาแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขาดแคลน จึงจำเป็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางในการดึงกลุ่มแรงงานกลับเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้เพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวดังกล่าวต่อไป

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แม้ว่าแนวโน้มของภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภาคการส่งออกมีสัญญาณการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นความท้าทายของภาคเอกชน ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%

 

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ของ กกร.

%YoY ปี 2565

(ณ ธ.ค. 65)

ปี 2566

(ณ ธ.ค. 65)

ปี 2566

(ณ ม.ค. 66)

GDP 3.2 3.0 ถึง 3.5 3.0 ถึง 3.5
ส่งออก 7.25 1.0 ถึง 2.0 1.0 ถึง 2.0
เงินเฟ้อ 6.2 2.7 ถึง 3.2 2.7 ถึง 3.2

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานร่วมในการประชุม
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานร่วมในการประชุม

นอกจากนี้ กกร. ยังได้มีความเห็นเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ดังนี้

  • ผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม จากการยกเลิกการผ่อนปรนเงินนำส่งกองทุน FIDF
    ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 0.23% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี ตามที่ได้เคยปรับลดไปช่วงก่อนหน้า โดยสมาคมธนาคารไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม พร้อมทั้งจะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ เช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ทั้งนี้จะได้มีการติดตามความคืบหน้าและประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด
  • สำหรับประเด็นค่าไฟฟ้า (Ft) ที่ในช่วงที่ผ่านมา กกร. ได้มีข้อเสนอแนะและหารือกับรัฐบาล เพื่อหาแนวทางออกที่เหมาะสมเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของภาคเอกชน กกร. ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนของภาคเอกชน ถึงแม้ไม่ได้ตรึงราคาตามข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงบางส่วนโดยไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังหวังว่าตลอดทั้งปีนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากทุกภาคส่วน โดย กกร. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน task force ด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs วางแผนและนำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยภาคเอกชนก็พร้อมที่จะปรับตัวในการใช้พลังงานทางเลือกให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ โดยจะต้องวางแผนในระยะยาวให้มีความสมดุลทั้งด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ การดูแลสิ่งแวดล้อม และความสามารถในการแข่งขันต่อไป
  • การที่ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นประธาน BIMSTEC วาระปี 2565-2566 (ตั้งแต่ เมษายน – สิงหาคม 2566) ภายใต้วิสัยทัศน์ BIMSTEC Bangkok Vision 2030 ที่มุ่งเสริมสร้างให้ประเทศสมาชิก มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง (Prosperous,Resilient, Open: PRO BIMSTEC) ภายในปี ค.ศ. 2030 ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานในกรอบ BIMSTEC เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กกร.จึงมีมติดังนี้ 1) เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่างข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบ  BIMSTEC เพื่อนำเสนอข้อเสนอต่อภาครัฐ 2) เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจากับสมาชิก BIMSTEC เพื่อขอให้จัดตั้ง Business Advisory Council –  BIMSTEC BAC เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว  ซึ่งถือว่าไทยเป็นผู้ริเริ่มในฐานะเจ้าภาพ 3) เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศ ควรมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Advisory Council- BAC) ในทุกกรอบความร่วมมือ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)  เป็นต้น
  • กกร. ยังได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ กับ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA) ในการขับเคลื่อนโครงการ“Enhancing SMEs Capability for Competitiveness (Pilot Project)”เพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย ให้แข่งขันได้ในระดับสากล โดยมุ่งเป้าเป็นโครงการต้นแบบของกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งระยะแรกจะนำร่องคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทั้งภาคการผลิต การค้าและบริการ ไม่น้อยกว่า 30 ราย เข้าร่วมโครงการ มีรูปแบบการดำเนินโครงการในลักษณะการดูแลและเร่งรัดให้ SME เติบโตอย่างรวดเร็ว (Acceleration) ผ่านระบบพี่เลี้ยง (Mentor) และผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ (Coach) อย่างใกล้ชิด โดยระหว่างการดำเนินโครงการจะมีการเก็บข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการทั้งก่อนและหลัง เพื่อประเมินและขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ ในระยะต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save