ไบโอเทค จับมือ พี โซลูชั่นเปิดตัว Lab เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมแห่งแรกในไทย คาดจำหน่ายกล้าอินทผลัมต.ค.นี้


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด เปิดตัวห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม แห่งแรกในประเทศไทย ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี หวังช่วยลดต้นทุนการนำเข้าต้นอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ คาดสามารถผลิตและจำหน่ายกล้าอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ภายในเดือนตุลาคม ศกนี้

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า อินทผลัมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ในประเทศไทยที่เกษตรกรเริ่มนิยมปลูกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะสายพันธุ์บาฮี เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดราคาค่อนข้างสูง แต่การปลูกต้องใช้ต้นปลูกเพศเมียเท่านั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์จากเพศเมียเป็นเพศผู้ในช่วงออกดอกไปแล้ว 1-2 ปีหรือมากกว่าทำให้เกษตรกรที่ปลูกเสียโอกาสการลงทุนและต้นพันธุ์ที่นำมาเพาะปลูกยังต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาจากประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ดังนั้นไบโอเทคจึงได้คิดค้นพัฒนาสายพันธุ์ผสมเทคนิคอินทผลัมสายพันธุ์บาฮีในเชิงพาณิชย์ขึ้น โดยใช้เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อร่วมกับระบบไบโอรีแอคเตอร์ ทำให้ขยายต้นกล้าอินทผลัมบาฮีในห้องปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ได้คุณภาพของต้นแม่ที่มีความสม่ำเสมอทางพันธุกรรม เป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้แนวทางการผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมในเชิงพาณิชย์ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขั้นสูงได้ ซึ่งการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช.

สำหรับความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค สวทช. และ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด ในการวิจัยและพัฒนาโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ภายหลังจากการวิจัยเกิดผลสำเร็จ เพื่อเปิดโอกาสให้นำผลการวิจัยไปใช้ได้จริงให้เกิดผลที่ดีแก่เกษตรกรทุกๆ ระดับสามารถใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดนี้  ผลที่ได้จากการร่วมมือกับทางบริษัทฯ เบื้องต้นพบว่าช่วยลดต้นทุนการซื้อต้นแม่พันธุ์ดีที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ การกลายพันธุ์ลดลง และช่วยในการผลิตต้นกล้าอินทผลัมพันธุ์ดีจากการเพาะเมล็ดในประเทศ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model) 

ส่วนในอนาคตจะขยายผลงานวิจัยที่ได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอินทผาลัมสายพันธุ์บาฮีรายอื่นๆ ในรูปแบบการร่วมลงทุนเพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตต้นกล้าอินทผลัมโดยเฉพาะ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนด้านห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อผลิตต้นกล้าอินทผลัมในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยต่อไป

วิจัยพัฒนาเทคนิคการขยายพันธุ์อินทผลัมพันธุ์บาฮีในเชิงการค้า

ดร.ยี่โถ  ทัพภะทัต นักวิจัยไบโอเทค หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมพันธุ์ทานสดในเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า อินทผลัมเป็นพืชต่างประเทศและเป็นพืชมูลค่าสูง มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงทั้งในด้านระดับความหวาน ความหอม สีผล ความกรอบ อายุการเก็บเกี่ยว และความสดหลังเก็บเกี่ยว ผลสดเป็นที่ต้องการสูงในตลาด มีราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 500-800 บาท ทั้งบริโภคในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง ในขณะที่ต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงถึงต้นละ 1,500-2,000 บาท ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอิรัก อียิปต์ และอังกฤษ จึงมีแต่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นที่ลงทุนปลูกได้ ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพการปลูกและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในประเทศไทยมีความจำเป็น เพราะหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดีสำหรับประเทศไทยได้ ก็สามารถนำนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการขยายต้นพันธุ์เพื่อปลูกในเชิงพาณิชย์ได้  C9Jไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะความเสี่ยงจากการเติบโตช้าอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ปีจึงจะออกผลผลิตให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่ายได้ การกลายพันธุ์ที่ได้ต้นพันธุ์เพศผู้มากกว่าเพศเมียและผลผลิตที่ได้ความหวานยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดมากนัก ทำให้ราคาต้นทุนกับราคาขายในตลาดไม่คุ้มทุน 

ด้วยเหตุดังกล่าว ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท พี โซลูชั่น จำกัด จัดการเฟ้นหาอินทผลัมพันธุ์เพาะเมล็ดที่กลายดีในประเทศไทย หรือที่เกิดจากการพัฒนาพันธุ์โดยฝีมือคนไทย ซึ่งลักษณะของอินทผลัมพันธุ์กลายดีนั้น ควรที่จะมีลักษณะที่ให้หน่อได้ คุณภาพของผลผลิตเป็นที่ต้องการและนิยมของตลาด ต้นแม่ให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอทั้งคุณภาพและปริมาณ มีความต้านทานต่อโรคและเจริญได้ดีในสภาพอากาศของไทย เพื่อนำเอาอินทผลัมเพาะเมล็ดพันธุ์ดีที่ได้รับเลือกมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเป็นการรักษาลักษณะพันธุ์นั้นไว้ เพื่อสร้างผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย จึงเป็นที่มาของการวิจัยในห้องทดลองแบบไบโอรีแอคเตอร์แล้วนำมาถ่ายถอดแก่เกษตรกรที่ปลูกอินทผาลัมสายพันธุ์บาฮี

สำหรับไบโอรีแอคเตอร์เป็นระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยอาหารเหลวแบบกึ่งจมที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาของการเพาะเลี้ยงด้วยอาหารแข็ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเจริญและพัฒนาเนื้อเยื่อไปเป็นต้นอ่อน ทำให้สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าวิธีการใช้อาหารแข็งปกติประมาณ 3-4 เท่า ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ก็เริ่มเห็นเป็นยอดอ่อนสีเขียวเกิดขึ้นบนแคลลัสแล้ว ช่วยลดต้นทุนและประหยัดแรงงานในการดูแลย้ายอาหารของต้นอ่อนในห้องปฏิบัติการ สามารถผลิตต้นกล้าอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เองในประเทศและทำให้มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศ จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้มาก ส่วนเกษตรกรรายย่อยก็มีโอกาสปลูกได้มากขึ้น 

ในอนาคตการขยายผลการวิจัยนี้ นอกจากจะพัฒนาและผลักดันการใช้ระบบไบโอรีแอคเตอร์ในการผลิตต้นอ่อนอินทผลัมพันธุ์ดีในเชิงพานิชย์แล้ว จะนำไปใช้ในพืชเศรษฐกิจอื่นของเกษตรกรไทยพืชตระกูลปาล์ม อินทผาลัม ทั้งพืชดอก พืชผล เพื่อสำหรับรองรับการขยายตัวของตลาดการค้าเชิงพาณิชน์ของเกษตรกรไทยให้มีความหลากหลายแข่งขันได้กับนานาประเทศ 

 

จากงานวิจัยอินทผาลัมสู่การทดลองปลูกจริง

ประพัฒน์ วนาพิทักษ์ ประธานบริษัท พี โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการความร่วมมือนี้ใช้เวลาในการทำงานร่วมกันผ่านมาแล้วประมาณ 2 ปี 6 เดือน สามารถที่จะผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมสายพันธุ์บาฮีสำเร็จ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างยิ่ง ช่วยให้เกษตรกรที่มีเงินทุนไม่มากนัก  โดยพี โซลูชั่น มีห้องทดลองห้อง Lab ผลิตต้นอ่อนอินทผลัมที่มีราคาสูงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้จริง สามารถใช้เป็นฐานการผลิตต้นพันธุ์อินทผลัมพันธุ์ดีในประเทศได้แทนการที่จะสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีราคาแพงในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกภาคส่วน สวนเอกชน สวนเกษตรกรรายย่อยให้มีการพัฒนาต้นพันธุ์เพาะเมล็ดลักษณะดี ลงทุนขยายต้นพันธุ์ของตนเองได้

นอกจากความก้าวหน้าการพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัมได้สายพันธุ์ที่ดีนำมาปลูกในสวนของตนเองที่มีอยู่กว่า10 ไร่ ปลูกผสมผสานกับพืชอื่นๆ เช่น มะนาว เป็นต้น ในอนาคตหากการผลิตต้นพันธุ์ในห้องทดลองมีจำนวนมากขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 5,000 – 10,000 ต้นต่อปี ซึ่งหากผลิตได้ตามเป้าที่วางไว้จะผลิตและจำหน่ายกล้าอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแก่เกษตรในพื้นที่ที่สนใจและอื่นๆ คาดว่าผลสำเร็จต้นพันธุ์จากห้องทดลองเฟสแรกจะสามารถจำหน่ายได้ภายในเดือนตุลาคม ศกนี้

  “ส่วนราคาต้นพันธุ์นั้นขอดูตลาดในช่วงนั้นก่อนจึงกำหนดราคาที่แน่นอนได้ ซึ่งราคาจะไม่สูงเหมือนที่นำเข้าจากต่างประเทศแน่นอน เพราะอยากให้เกษตรไทยเข้าถึงสายพันธุ์ที่ผลิตจากคนไทยและหวังเป็น Hub ในการปลูกอินทผลัมที่ดีในอาเซียนส่งจำหน่ายยังประเทศจีนที่มีตลาดที่ใหญ่ได้” ประพัฒน์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save