กรุงเทพฯ – 30 พฤศจิกายน 2563 : เอปสัน ผู้นำเทคโนโลยีการพิมพ์ระบบดิจิทัล เปิดตัวเครื่องพิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอประเภท Dye Sublimation ซีรี่ส์ SureColor SC-F500 รองรับการขยายตัวของการพิมพ์แบบออนดีมานด์ ชูไฮไลท์รุ่น SC-F531 ที่สามารถพิมพ์หมึกสะท้อนแสง (Fluorescent) เครื่องแรกของโลก พร้อมปั้นแพคเกจสนับสนุนสตาร์ทอัพ ให้เริ่มต้นธุรกิจได้ด้วยเงินทุนไม่ถึง 1 แสนบาท เผย 4 จุดแข็งสำคัญ ส่งผลให้ตลาดเครื่องพิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของเอปสันเติบโต
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดปีงบประมาณ 2563 มาได้ราว 6 เดือน (เมษายน-กันยายน) กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ระดับมืออาชีพของบริษัทฯ ถือว่าทำได้ดีเกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยมี F-Series เครื่องพิมพ์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ทำยอดขายได้มากสุด คิดเป็น 35% ของยอดขายทั้งหมดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ รองมาคือ S-Series เครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา 28% และ P-Series เครื่องพิมพ์เพื่อธุรกิจโฟโต้ และงานศิลป์ 27% ตามมาด้วย T-Series เครื่องพิมพ์ในองค์กรสำหรับงานเขียนแบบ งานกราฟิก พิมพ์เขียว และโปสเตอร์ 8% และ SurePress เครื่องพิมพ์ฉลากดิจิทัล 2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ผู้ประกอบการจำนวนมากในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กำลังนำธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น และให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการรับงานแบบออนดีมานด์ และไม่สร้างมลภาวะในที่ทำงาน
“สภาพเศรษฐกิจในปีนี้ ประกอบกับสถานการณ์ COVID -19 ทำให้มีคนเลือกที่จะทำงานเป็นฟรีแลนซ์หรือเปิดธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ในธุรกิจให้บริการการพิมพ์ก็มีผู้ประกอบการที่เน้นงานประเภทออนดีมานด์เกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และหันมาลงทุนเครื่อง พิมพ์ขนาดเล็กและกลางมากขึ้น โอกาสทางการตลาดสำหรับเครื่องพิมพ์ของเอปสันโดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งทอจึงเปิดกว้างมาก SureColor SC-F530 และ SC-F531 ที่เปิดตัวในวันนี้ เป็นเครื่องพิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอรุ่นล่าสุดของเอปสัน สำหรับรองรับตลาดที่กำลังขยายตัว โดยมีลูกค้าเป้าหมายเป็นสตาร์ทอัพ นักออกแบบ มินิแล็บ โรงงานพิมพ์ผ้า ร้านรับทำของพรีเมียม ร้านเสื้อผ้ากีฬา แบรนด์แฟชั่น รวมถึงสถาบันศึกษา” ยรรยง กล่าว
ยรรยง กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เอปสันมั่นใจว่าการเข้าสู่ระบบดิจิทัล ส่งผลให้ตลาดเครื่องพิมพ์หน้ากว้างของเอปสันเติบโต คือ 1. เอปสันเป็นแบรนด์เดียวที่ผลิตแบบ end to end ให้ลูกค้าได้ 2. เอปสันเป็นผู้ผลิตหัวพิมพ์ Ink Jet และมีทีมงานวิจัยและพัฒนาที่ผลิตหมึกเองทั้งหมด 3. ในส่วนของ Media เอปสันใช้เครื่องคิดค้นเอง และ4. เอปสันเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เองทั้งหมด ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญ ทำให้เครื่องพิมพ์แบรนด์เอปสันแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ
ปลวัชร นาคะโยธิน ผู้จัดการฝ่ายขาย ผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์ระดับมืออาชีพ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เครื่องพิมพ์ SureColor SC-F530 และ SC-F531 เป็นเครื่องพิมพ์หน้ากว้าง 24 นิ้ว มีขนาดกะทัดรัด สามารถพิมพ์งานที่มีสีสันสดใส คมชัด ด้วยเทคโนโลยีหัวพิมพ์ PrecisionCore และชิป Micro Thin-Film Piezo ที่ควบคุมการหยดหมึกได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังใช้หมึก UltraChrome ประเภท Dye Sublimation ของเอปสันที่ทำให้งานพิมพ์ทนได้ทั้งแสง น้ำ และกรดด่างได้ดี และเป็นหมึกที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน OEKO-TEX ว่าไม่มีอันตรายจากสารตกค้างที่เป็นพิษ ไม่ระคายเคืองต่อผิวเด็ก และไม่ทำลายธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดเด่นของเอปสัน ขณะที่ตลาดทั่วไป ยังไม่มีมาตรฐานนี้
โดยรุ่น SureColor SC-F531 เป็นเครื่องพิมพ์หมึกสะท้อนแสงเครื่องแรกของโลก ใช้ชุดหมึก 4 สี ได้แก่ สีฟ้า สีชมพูสะท้อนแสง สีเหลืองสะท้อนแสง และสีดำ นอกจากนี้ ทั้งสองรุ่นยังมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ Edge Print RIP ลิขสิทธิ์ของเอปสัน ที่ช่วยเพิ่มความคมชัดและความสะดวกในจัดการไฟล์ภาพ และโปรแกรม LFP Accounting Tool ที่ช่วยเรื่องการคำนวณต้นทุนการพิมพ์ได้อย่างแม่นยำ
หมึกสะท้อนแสงจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับงานพิมพ์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของพรีเมียม เช่น เคสมือถือ แก้ว ที่รองแก้ว หรือหมอน เป็นต้น หรือชุดและอุปกรณ์กีฬา เช่น เสื้อวิ่ง เสื้อจักรยาน หรือแบรนด์เสื้อผ้าที่ต้องการผลิตสินค้าเพื่อทดลองตลาด หรือชุดต้นแบบเพื่อจัดแสดง ทั้งยังสามารถพิมพ์วัสดุสำหรับตกแต่งภายในสถานที่ต่างๆ อย่างร้านอาหารและสถานบันเทิง
ปลวัชร กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 ช่วยเร่งให้โรงงานขนาดใหญ่ต้องปรับตัว เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนามมากขึ้น และทำให้มี SME ผู้ประกอบการรายใหม่ที่รับผลิตสินค้าพรีเมียม โดยบริษัทฯ ได้จัดแพคเกจพิเศษ ซื้อ SureColor SC-F530 หรือ SC-F531 วันนี้ รับฟรีกระดาษทรานสเฟอร์ 2 ม้วน หมึกพิมพ์ 2 ชุด พร้อมประกัน 2 ปี รวมในราคา 98,000 บาท รวม VAT พร้อมโปรโมชั่นผ่อน 0% นาน 10 เดือน
“กระดาษทรานสเฟอร์มีความยาวทั้งหมด 30 เมตร สามารถตัดกระดาษขนาด 8x 10 ได้ 280 แผ่น สำหรับต้นทุนการพิมพ์เสื้อยืดตกตัวละประมาณ 4 บาท เป็นค่ากระดาษ 1.80 บาท และค่าหมึก 2 บาท โดยใช้หมึกพิมพ์เพียง 0.5 ซีซี หมึกพิมพ์ 1 ชุด พิมพ์ได้ 1,000 แผ่น ทั้งนี้ราคาต้นทุนเสื้อยืดอยู่ที่ 60 บาท นำไปจำหน่ายราคา 199 บาท หากมียอดผลิตกว่า 500 ตัวก็คืนทุนได้แล้ว” ปาลวัชร กล่าว
ยรรยง กล่าวทิ้งท้ายว่า หากสินค้ามีแบรนด์ ซื้อ SureColor SC-F530 หรือ SC-F531 ใช้เวลาเพียง 2 ปีก็คืนทุนแล้ว ทั้งนี้มีแบรนด์ใหญ่ที่นำไปผลิตเป็นผ้าพันคอ ผลิตออกมาจำนวนไม่มาก จำหน่ายในราคาหลักพันบาท ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและคาแรกเตอร์ให้สินค้า และสร้างโอกาสให้ดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ๆ เข้ามาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กันมากขึ้น