เอปสัน ประเทศไทย เร่งเครื่องพลิกธุรกิจปี’ 64 โตเกิน 10% พร้อมเดินหน้า Disrupt โมเดลธุรกิจกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ สู่บริการด้านงานพิมพ์สำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจเต็มตัว ล่าสุดเปิดตัวบริการ ‘Epson EasyCare 360 เหมา เหมา บริการเช่าเครื่องแบบใหม่ เริ่มต้นเพียงเดือนละ 790 บาท หมดสัญญา 2 ปี รับเครื่องฟรี หวังขยายฐานตลาด SME
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปีพ.ศ. 2563 ที่ GDP -6.1% เนื่องจากได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ COVID- 19 ทำให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนหดตัว ธุรกิจห้างร้านมากมายปิดตัวลง ระบบซัพพลายเชนที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าในหลายธุรกิจหยุดชะงัก ส่งผลให้พรินเตอร์ใบเสร็จ โปรเจคเตอร์ และพรินเตอร์ดอทเมทริกซ์ ซึ่งเอปสันครองตลาดสูงถึง 95% โดยมีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจ สถาบันศึกษา โรงแรม และธุรกิจค้าปลีก มียอดขายลดลง เพราะลูกค้าต้องหยุดกิจการหรืองดให้บริการชั่วคราว ในส่วนตลาดอิงค์แท็งค์พรินเตอร์ เอปสันยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ 43% ซึ่งทำยอดขายจากช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2562 เช่นเดียวกับตลาดโปรเจคเตอร์ที่ยังคงรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งตลาด 33% ในขณะที่ตลาดโดยรวมหดตัวลง 22% คิดเป็น 1 ใน 4 ของตลาดที่หายไป
ขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวก็ได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น ทำให้มีปัจจัยบวกและโอกาสใหม่ที่สนับสนุนธุรกิจของเอปสัน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่ลดลงจากการใช้แพลทฟอร์มการขายออนไลน์ ขณะที่โรงงานในภาคการผลิตลงทุนใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้น ภาคธุรกิจหันมาใช้โรงงานผลิตและระบบซัพพลายเชนภายในประเทศ โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเริ่มใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในขั้นตอนการให้บริการ เช่น การพิมพ์ฉลากยาสี รวมถึงการเกิดใหม่ของธุรกิจบุคคลหรือฟรีแลนซ์จำนวนมาก เช่น การรับจ้างพิมพ์ภาพ ซึ่งทำให้ยอดขายของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยภาพรวมผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีพ.ศ.2563 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2564 นี้ – 15% เนื่องจากภาพรวมตลาดเครื่องพรินเตอร์ โปรเจคเตอร์ และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มสินค้าของเอปสันที่ทำยอดขายได้ดีในปีพ.ศ. 2563 ได้แก่ 1.หุ่นยนต์แขนกล เติบโต 2.5 เท่า เนื่องจากมีการใช้ระบบ Automation มากขึ้น จากวิกฤต COVID -19
2.พรินเตอร์ฉลาก สามารถเจาะตลาดโรงพยาบาลได้ โดยมีโรงพยาบาลดังแห่งหนึ่งซื้อพรินเตอร์ฉลาก 50 เครื่อง เพื่อไปพิมพ์ฉลากยาสีสั่งจ่ายให้คนไข้ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่นำพรินเตอร์ฉลากไปใช้เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าในการหาสีรองเท้า 3. พรินเตอร์อเนกประสงค์ สำหรับธุรกิจรุ่น T-Series เครื่องพิมพ์หน้ากว้าง ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มเติบโตด้วยดี 4.เครื่องถ่ายเอกสารอิงค์เจ็ท แม้ว่ายอดขายลดลง แต่ยอดขายอะไหล่ดีขึ้น และ 5.พรินเตอร์สำหรับธุรกิจมินิแล็บ ซึ่งในช่วงวิกฤต COVID-19 เกิดธุรกิจรับจ้างพิมพ์ภาพ โดยบุคคลหรือฟรีแลนซ์จำนวนมาก
“ถึงแม้จะเป็นปีที่ไม่ง่าย เอปสันก็ยังคงทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปี เพื่อกระตุ้นยอดขายและรักษาระดับการรับรู้ต่อแบรนด์เอปสัน รวมแล้วมากกว่า 200 กิจกรรม ทั้งจัดสัมมนาออนไลน์ กิจกรรมส่งเสริมการขายทางเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลของเอปสัน และแพลทฟอร์มออนไลน์มาร์เก็ตเพลสต่างๆ กิจกรรม CSR การโรดโชว์สินค้า การสนับสนุนกิจกรรมของพาร์ทเนอร์ โปรแกรมทดลองใช้เครื่องพิมพ์ Signage ของเอปสันฟรีนาน 1 เดือน รวมไปถึงการผลิตและเผยแพร่โฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นตามช่องทางต่างๆ ของคู่ค้า” ยรรยง กล่าว
สำหรับทิศทางธุรกิจในปีพ.ศ. 2564 ยรรยง มองว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อธุรกิจของเอปสันยังคงเป็นสถานการณ์ทางการเมืองและการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งหากมีแนวโน้มที่ดี คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนต้าน COVID-19 ได้อย่างทั่วถึง GDP ของประเทศก็น่าจะกลับมาบวก และจะได้เห็นการลงทุนของภาครัฐกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง รวม ถึงภาคการท่องเที่ยวก็จะเริ่มฟื้นตัวได้ดี สถาบันศึกษากลับมาเปิดทำการ ซึ่งเอปสันก็ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์เพื่อรุกตลาด B2B ประกอบด้วย 1.ปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในองค์กร โดยขยายทีมขาย B2B ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมถึงทีมพิเศษที่เน้นเจาะตลาดและดูแลลูกค้าองค์กรญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ทั้งยังขยายทีมบริการลูกค้า B2B เพิ่มขึ้น 2.พัฒนาศักยภาพของเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย เอปสันได้เพิ่มจำนวนตัวแทนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตลาด B2B และได้ฝึกอบรมตัวแทนเดิมให้สามารถขยายธุรกิจไปยังตลาด B2B ได้
และ 3.การเพิ่มคุณค่า (Value Proposition) ซึ่งเอปสันยังเน้นการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะมีการแนะนำสินค้า B2B สู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 20 รุ่น เพื่อให้องค์กรทุกขนาดในทุกวงการธุรกิจได้เลือกโซลูชั่นที่เหมาะที่สุดกับตัวเอง พร้อมกับจัดกิจกรรมทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าใหม่และตลาดใหม่
“เอปสันตั้งเป้าว่าบริษัทฯ จะกลับมาเติบโตได้ในระดับที่มากกว่า 10% ในปีนี้ ที่สำคัญ บริษัทฯ จะเดินหน้า Disrupt โมเดลธุรกิจในกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเอปสันมีอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ระบบแท็งค์มากที่สุดในท้องตลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าองค์กรในปัจจุบันได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยมุ่งเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการขายเครื่องไปสู่การให้บริการแบบเต็มตัว” ยรรยง กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทำการสำรวจความเห็นขององค์กรธุรกิจ พบว่าสิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่กังวลคือค่าพิมพ์สีต่อแผ่น ตามด้วยคุณภาพงานพิมพ์ และบริการซ่อมบำรุง ล่าสุด เอปสันจึงได้ออกบริการเช่าเครื่องแบบใหม่ภายใต้ชื่อ ‘Epson EasyCare 360 เหมา เหมา’ โดยลูกค้าสามารถพิมพ์สีหรือขาวดำก็ได้ มากสุดถึง 120,000 แผ่น หรือนาน 24 เดือน มีทั้งเครื่องรองรับกระดาษขนาด A3 และขนาด A4 ทั้งยังได้บริการซ่อมบำรุงถึงที่ และเบอร์โทรสายตรงตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้มีค่าบริการรายเดือนเริ่มต้นเพียง 790 บาท ด้วยต้นทุนราว 38-75 สตางค์ต่อแผ่น แถมยังจะได้รับเครื่องที่ใช้อยู่ไปฟรีๆ หลังหมดสัญญา เพื่อขยายฐานตลาด SME ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ยรรยง กล่าวว่า นอกจากการ Disruption โมเดลธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจของเอปสันสามารถตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าอยู่เสมอ บริษัทฯ ยังได้สร้าง Epson Virtual Solutions Center เพื่อให้ลูกค้า B2B ไม่เพียงแต่ ในประเทศไทย แต่รวมถึงกัมพูชา ลาว เมียนมา และปากีสถาน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเอปสัน ประเทศไทย ได้สัมผัสกับประสบการณ์เสมือนจริงระหว่างการทำความรู้จักกับเทคโนโลยีและ B2B โซลูชั่นของเอปสัน ซึ่งจะแบ่งออกตามประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน การพิมพ์ดิจิทัล ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา สาธารณสุข และองค์กรธุรกิจ
“ในเฟสถัดไปจะมีการเพิ่มเติมโซนพิเศษสำหรับลูกค้าโฮมยูสทั่วไปให้ สามารถมาชมสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงและพูดคุยกับพนักงานขายทางออนไลน์ได้ทันที ซึ่งจะได้รับบริการทุกอย่างเหมือนอยู่หน้าร้าน โดยในเฟสแรกของ Epson Virtual Solutions Center จะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน ศกนี้” ยรรยง กล่าวทิ้งท้าย