กรุงเทพฯ : ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กับ คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างกันโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาการบิน เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างท่าอากาศยานเจิ้งโจวของจีน และท่าอากาศยานอูตะเภาของไทยเพื่อให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้า มีความเชื่อมโยงสร้างมูลค่าเพิ่มระหว่างกัน การส่งเสริมการลงทุน และการจัดทำระบบ E- Commerce ในพื้นที่ EEC และ ZAEZ พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงร่วมกัน
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง EEC กับ ZAEZ เพื่อพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกของไทยในพื้นที่ EEC และพื้นที่โดยรอบเพื่อเป็นมหานครการบินแห่งใหม่ในภูมิภาคอาเซียน 6,500 ไร่ ซึ่งประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก เนื่องจาก ZAEZ มีความเชี่ยวชาญในการสร้างมหานครการบินที่ท่าอากาศยานเจิ้งโจ้ว พัฒนาพื้นที่อาศัย การศึกษา ธุรกิจ อุตสาหกรรมรอบ ๆพื้นที่ ให้เป็น Aerotropolis ของ North Asia และหวังว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็น Aerotropolis East Asia สร้างโมเดลโลจิสติกส์เชื่อมโยงการขนส่งสินค้า หรือ Cargo ร่วมกัน เนื่องจากสนามบิน เจิ้งโจว ถือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของประเทศจีน มีนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเข้าไปลงทุน ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือขนส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป หากประเทศไทยสามารถผลักดันความร่วมมือครั้งนี้ได้สำเร็จและทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนทำงานคาดว่าจะช่วยขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าไปขายได้ถึงสหภาพยุโรป รวมถึงไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า ZAEZ ได้เข้ามาศึกษาพื้นที่ EEC ในพื้นที่ 6,500 ไร่ของสนามบินอู่ตะเภา และบวกกับรัศมี 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน (พัทยา-ระยอง) ที่ถูกวางไว้เป็น มหานครการบินภาคตะวันออก (Eastern Aerotropolis) ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อศึกษาพื้นที่ และหาแนวทางในการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมแก่ประเทศไทย เนื่องจากการพัฒนาที่ประเทศจีนมีลักษณะไม่ติดทะเลเหมือนอย่าง EEC ของไทยอีกทั้งพื้นที่ EEC ของไทยและใกล้เคียงจะประกอบธุรกิจ ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทางทะเลเป็นส่วนใหญ่ แต่ของจีนจะเป็นนวัตกรรมอุตสาหกรรมชั้นสูงด้าน IT, การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน, การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่นสมาร์ทโฟน เป็นต้น จึงต้องลงพื้นที่สำรวจอย่างรอบด้าน
โดยสาระสำคัญของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง EEC กับ ZAEZ นี้เบื้องต้นได้วางไว้ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ในการพัฒนามหานครการบิน ด้านต่าง ๆ เช่นการวางผังศูนย์กลางการบินและการเชื่อมโยง กลยุทธ์การคัดเลือกอุตสาหกรรม ความร่วมมือสถาบันการศึกษาด้านการบินการวางผังเมือง การท่องเที่ยว การค้าขายขนส่งสินค้าทางอากาศและงานวิจัย เพื่อให้ EEC Aerotropolis ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์เพราะมีสนามบินอู่ตะเภาที่พร้อมจะพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนต่าง ๆ ทั้งลานจอดสนามบิน เส้นทางขึ้นลง พื้นที่คลังสินค้า เป็นต้น2.การส่งเสริมการลงทุน และการจัดทำระบบ E- Commerce ในพื้นที่ EEC และ ZAEZ เพราะZAEZ มีความเชี่ยวชาญในการทำระบบ E-Commerce และมีนักลงทุนที่เป็นพันธมิตรที่พร้อมเข้ามาร่วมลงทุน เป็นพี่เลี้ยงให้กับ EEC 3.การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการบิน ระหว่าง EEC และ ZAEZ อย่างครบวงจร และ4.การสนับสนุนความร่วมมือและการพัฒนาในโครงการต่างๆระหว่างอีอีซี และ ZAEZ ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะด้านบุคคลากรให้มีประสิทธิภาพมีศักยภาพในการขับเคลื่อนพัฒนา EEC และประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
Ma Jian, Director of Zhengzhou Airport Economy Zone กล่าวว่า ZAEZ เริ่มต้นโดยรัฐบาลมณฑลเหอหนาน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการให้มณฑลเหอหนานเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจนานาชาติใหม่ของประเทศด้วยจุดเด่นของเมืองเจิ้งโจว ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของประเทศขนาด 415 กิโลเมตร เป็นมหานครการบินแห่งใหม่ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 13.6 พันล้านหยวนเริ่มเปิดให้บริการการบินแล้ว 3 ปี สามารถเชื่อมโยงการเดินทางการบินภายในประเทศและต่างประเทศและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีการเชื่อมโยงการเดินทางรูปแบบอื่น ๆเข้าด้วยกันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เช่น ทางรถ ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะและทางรถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง มีคลังสินค้า E-Commerce ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า, โรงแรม, โรงซ่อมบำรุงอากาศยาน, มีพื้นที่สำหรับธุรกิจการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงบริเวณทิศใต้ของสนามบิน เช่น การผลิตชีวภาพการแพทย์และวัคซีนพร้อมศูนย์ทดสอบกว่า 70 ราย, ธุรกิจไอทีโดยเฉพาะสมาร์ทโฟนกว่า 60 ราย , ธุรกิจวิจัยและพัฒนาที่สำคัญของประเทศ, พื้นที่ที่อยู่อาศัย การศึกษาและบริการบริเวณทิศเหนือของสนามบิน เช่น พื้นที่ที่อยู่อาศัยและคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน สถาบันการศึกษา โรงเรียน โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์และพื้นที่ทางใต้มีพื้นที่สีเขียวแทรกอยู่ในพื้นที่โล่งกว่า 40% ภายในสนามบินแห่งนี้ พร้อมพื้นที่เชื่อมโยงถนนใหญ่ให้การสัญจรเข้าใช้พื้นที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
“ ในอีก 3 ปีจากนี้จะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ 27 ล้านคน จากที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน ช่วยให้ธุรกิจ Cargo เพิ่มขึ้นเป็น 515,000 ตัน คิดเป็น 60 % ของประเทศ ซึ่งประสบการทั้งหมดที่กล่าวมาจะนำมาช่วยพัฒนา EEC ของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยในปัจจุบันประเทศไทยค้าขายกับประเทศจีนเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน” Ma Jian กล่าว