กลับมาอีกครั้งกับงาน Trend Micro Risk to Resilience World Tour ปี 2024 งานด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้จาก Trend Micro ที่จัดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยงานครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ธีมInnovation meets Adrenaline พร้อมฉายภาพนักพัฒนาที่แข่งขันเพื่อเอาชนะภัยคุกคาม หรือ “Race against Threats” เพราะโลกธุรกิจในวันนี้มีภัยคุกคามซ่อนอยู่ทั่วทุกมุม ผู้นำองค์กรจะต้องทำงานเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตี โดยเฉพาะปัจจุบันอาชญากรไซเบอร์ได้นำ AI เข้ามาเป็นเครื่องมือหลักในการโจมตีช่องโหว่ต่างๆ มากขึ้น
จากปัจจัยข้างต้นทำให้ Trend Micro ได้เดินหน้าวิสัยทัศน์ AI for Security โดยนำ Generative AI เข้ามายกระดับแพลตฟอร์ม Vision One เพื่อตรวจจับภัยคุกคามได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์ธุรกิจในยุค GenAI
ดัณยา ทักการ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายขายและการตลาดทั่วโลก เทรนด์ไมโคร กล่าวว่า ตั้งแต่บริษัท Trend Micro ได้ก่อตั้งเมื่อ 35 ปีที่แล้ว เราได้พัฒนาแพลตฟอร์มการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์มาตลอด โดยยึด 2 มิติหลักเป็นสิ่งสำคัญ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะที่คลาวด์เข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งทุกครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบริษัทจะต้องมีโซลูชันใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์
แต่วันนี้ AI เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคและโครงสร้างพื้นฐาน สร้างผลกระทบกับการทำธุรกิจ คนหันมาใช้ AI ช่วยทำงานมากขึ้น ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่เริ่มติดตั้ง LLM หรือ Large Language Models โมเดลพื้นฐานการประมวลผลของ Generative AI แบบ Private กันมากขึ้น ด้านอาชญากรไซเบอร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการโจมตีโดยอาศัย AI เป็นเครื่องมือหลัก ทำให้เกิดเคสการโจมตีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น สร้างความท้าทายกับผู้ป้องกัน
จากความท้าทายของการโจมตีรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ Trend Micro จับมือกับ Nvidia หนึ่งในบริษัทผู้นำด้าน AI ของโลกที่มีนวัตกรรมทั้ง GPU และ Data Center ร่วมลงทุนทั้งเงินทุนและทรัพยากร ต่างๆ พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI
ดัณยา กล่าวว่า เราตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือกับ Nvidia ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม NVIDIA Morpheus ให้ตรวจจับภัยคุกคามได้รวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยลงใน NVIDIA NIM ซึ่งโซลูชันดังกล่าวจะเข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจที่ใช้ Public Cloud รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าที่ใข้ Private Cloud เช่นหน่วยงานภาครัฐที่ต้องปกป้องฐานข้อมูลภายในประเทศไม่ให้รั่วไหลออกไป
“เราเชื่อว่าองค์กรต่างๆ กำลังมองหาระบบรักษาความปลอดภัยที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดจากภัยคุกคาม แทนที่จะต้องอยู่กับความเสี่ยงกับการโจมตี” ดัณ ยา กล่าว
ด้าน ปิยธิดา ตันตระกูล กรรมการผู้จัดการ เทรนด์ไมโคร กล่าวถึงการนำแพลตฟอร์ม Vision One ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เข้ามาช่วยองค์กรในไทยว่า ปัจจุบันองค์กรในไทยเริ่มนำ AI เข้ามาช่วยยกระดับการทำธุรกิจ ทำให้ต้องพิจารณาถึงระบบการป้องกันภัยที่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่ง Trend Micro ประเทศไทย ได้เดินหน้านำแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI เข้ามาตอบโจทย์ธุรกิจ เพราะช่องทางการโจมตีองค์กรในวันนี้มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งผ่านทางสมาร์ทโฟน แพลตฟอร์มประชุมทางไกล อีเมล แอปพลิเคชันต่างๆ เช่น ด้านการเงิน หรือแม้แต่แอปฯ ฝ่ายบุคคล (HR) เพราะฉะนั้นในมิติของการป้องกันจึงต้องถูกยกระดับเป็นแพลตฟอร์มที่ป้องกันได้หลากหลายช่องทาง และฉลาดมากขึ้นในการป้องกัน ไม่ว่าจะถูกโจมตีด้วย Deepfake หรือพวก Prompt Injections ระบบจะต้องระบุได้ว่าใครคือผู้บุกรุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ Trend Micro ประเทศไทย นำเสนอให้กับลูกค้าปัจจุบัน
นอกจากแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI บริษัทฯ ยังมีการฝึกอบรมทีมงานให้มีความเข้าใจด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้น ยกระดับพนักงานให้เป็น Trusted Advisory ที่สามารถพูดคุยกับลูกค้าในด้านเทคนิค และวางแผนงาน 3-5 ปี ให้กับลูกค้าได้
“เรามีทีมที่สามารถนำเทคนิคต่างๆ มาปรับแต่งให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีทีมวิเคราะห์ว่าลูกค้าประสบปัญหาด้านใดมากที่สุด คอยระมัดระวังและคอยปกป้องลูกค้า และทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นคงปลอดภัยอยู่เสมอ” ปิยธิดา กล่าว
“Trend Micro มีลูกค้ากว่า 500,000 รายทั่วโลกที่มั่นใจในการรักษาความปลอดภัยของเรา ถึงแม้วันนี้การโจมตีจะเข้ามาจากหลากหลายช่องทาง แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องมองเห็นทุกๆ การโจมตี ซึ่งเรายังคงลงทุน R&D จำนวนมากในแต่ละปีเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในทุกมิติ เพราะคู่แข่งของเราไม่ใช่บริษัทที่ทำแพลตฟอร์มไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แต่เป็นอาชญากรไซเบอร์” ดัณยา กล่าวทิ้งท้าย