ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหากวนใจคนไทยทุกปีถ้าเรายังไม่สามารถควบคุมแหล่งกำเนิดจากมนุษย์ และแน่นอนเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางธรรมชาติในช่วงอากาศปิด ซึ่งจากปัญหานี้ หากยังไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุของการเกิดฝุ่นได้ การป้องกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับพบว่า คนไทยยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใส่หน้ากาก
รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศประเทศไทย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หน้ากากอนามัย (Surgical Mask) เป็นหน้ากากที่มีการใช้งานกันมาอย่างแพร่หลาย ด้วยราคาที่ไม่แพง และสามารถซื้อหาได้สะดวก แต่ปัญหาของหน้ากากอนามัย คือการใช้งานที่ผิดวิธี เพราะถ้าหากผู้ใช้ ไม่ใส่หน้ากากให้กระชับใบหน้า ก็ไม่สามารถป้องฝุ่น PM 2.5 ได้ ส่วนการเลือกใช้หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
โดยหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน มอก.2424-2562 หน้ากากอนามัยนั้นต้องสามารถกรองอนุภาค (Particulate Filtration Efficiency: PFE) ขนาด 0.1 ไมครอนได้อย่างน้อยร้อยละ 95 และกรองแบคทีเรีย (Bacteria Filtration Efficiency: BFE) ขนาด 3.0 ไมครอนได้อย่างน้อยร้อยละ 95 แต่ประเด็นที่กล่าวว่าไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ได้นั้น เพราะการใส่หน้ากากอนามัยแล้วไม่กระชับกับใบหน้าทำให้เกิดรอยรั่ว จึงทำให้ไม่สามารถป้องกัน PM2.5 ได้
ถึงแม้ว่าจะมีการระบุประสิทธิภาพการกรองของหน้ากากว่ามีประสิทธิภาพการกรองที่ดีมากเพียงใดก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นตัวแปรสำคัญ คือความแนบสนิทของหน้ากากเมื่อมีการสวมใส่ที่จะทำให้หน้ากากสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งการทดสอบความแนบสนิทของหน้ากากนั้นสามารถทำได้ด้วยวิธี Fit Test นอกจากนี้ประสิทธิภาพการกรองจะแปรผกผันกับความสบายในการหายใจซึ่งเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งของหน้ากาก
สำหรับคำแนะนำการใช้หน้ากากอนามัย ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ควรเลือกใช้หน้ากากโดยมีข้อพิจารณาที่ไม่ซับซ้อนมากนัก คือ กรองดี ไม่มีรั่ว กระชับใบหน้า
ที่มาของบทความ : https://www.eng.chula.ac.th/th/37913