สวทช สนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรม “ริสแบนด์” ช่วยแพทย์ในรพ.ระยองระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน รักษาได้รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น


สวทช สนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรม "ริสแบนด์" ช่วยแพทย์ในรพ.ระยองระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน รักษาได้รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น

ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข หรือ 2P @Safety Tech (Patient and Personnel at Safety Technology Awards)  โดยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม “ริสแบนด์” ช่วยแพทย์ระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลระยอง เพื่อความปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยง ลดขั้นตอนการตรวจของแพทย์และผู้ป่วย

สวทช. ร่วมกับ สรพ.ริเริ่มโครงการ  2P @Safety Tech ในปี’61

ศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับ สรพ.ริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข หรือ 2P @Safety Tech (Patient and Personnel at Safety Technology Awards)  เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลและผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์ นำนวัตกรรมมาช่วยให้ระบบงานบริการในโรงพยาบาลให้มีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว ลดความเสี่ยงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรการแพทย์ ซึ่งโครงการฯ นี้เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดย สรพ. ได้เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการจะยกระดับการบริการได้ระบุปัญหาในรูปแบบข้อเสนอโครงการที่มีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าโรงพยาบาลจะต้องมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ให้แก้ปัญหาและเกิดประโยชน์ได้จริง

จากนั้นทาง สรพ. และ สวทช. จะนำข้อเสนอโครงการมาพิจารณาคัดเลือกและจับคู่กับ นักวิจัย นวัตกรหรือผู้ประกอบการเทคโนโลยีที่ สวทช.มี เพื่อนำเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาและยกระดับการบริการตามข้อเสนอโครงการของโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลระยองเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม “ริสแบนด์” ของผู้ประกอบการเอกชนจาก สวทช.ที่ร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมและพัฒนาใช้ ริสแบนด์ในแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลระยองในการคัดกรอง วิเคราะห์อาการต่างๆของผู้ป่วยตั้งแต่อาการหนัก ไปจนถึงอาการเล็กน้อยที่เข้ามารับการบริการเพื่อส่งตัวเข้ารับการรักษายังแพทย์ที่เหมาะกับผู้ป่วย ยกระดับการบริการให้มีความรวดเร็ว ลดการสูญเสียในเสี้ยววินาทีของผู้ป่วยได้หากมีการล่าช้าในการรักษา พร้อมทั้งมีประวัติติดตามการรักษาของผู้ป่วยเมื่อเข้ามารับการรักษาในครั้งต่อไป

เผย 3 ปี มีรพ.ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 2P@Safety แล้ว 37 แห่ง

แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)

แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับ สวทช. เมื่อ 3 ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 2P@Safety  แล้วจำนวน 37 แห่ง จากที่สมัครมามากกว่า 120 แห่ง พร้อมด้วยบริษัทเทคโนโลยี 15 ราย ขณะนี้สามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่นำไปใช้จริงในโรงพยาบาลรวม 14 ผลงานแล้ว เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ทำการรักษาจนเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เช่น การผ่าตัด ต้องมีผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดที่ถูกตำแหน่ง ผู้ป่วยถูกคนที่ผ่าตัดและถูกโรคหรือแม้กระทั่งการส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นๆส่งตัวผู้ป่วยที่หายดีแล้วกลับบ้านไปพักฟื้นต้องมีรายชื่อผู้ป่วยที่ถูกต้องด้วยเพราะหากแพทย์เจ้าของไข้ทำการผ่าตัดผู้ป่วยผิดจะทำให้เกิดการรักษาที่ผิดพลาดตามมาจนอาจจะเกิดการฟ้องจากตัวผู้ป่วยเองหรือญาติของผู้ป่วยได้ เป็นต้น ซึ่งในโรงพยาบาลระยองก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการที่นำ นวัตกรรมริสแบรนด์ระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน (RFID Patient Tracking & Identification) เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของบุคลากรที่ปฏิบัติงานห้องฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการมากที่สุด สามารถระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยเฉพาะทางได้ดียิ่งขึ้น

พัฒนานวัตกรรมริสแบนด์สำหรับระบุตัวตนผู้ป่วยใช้ในรพ.ระยอง

เอกศักดิ์ โอศิริพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็ม คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด

เอกศักดิ์ โอศิริพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็ม คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับทีมแพทย์แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลระยองพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ในการรักษาผู้ป่วยที่แผนกฉุกเฉินส่วนใหญ่เกิดจากการระบุตัวคนไข้ผิด ทำให้การรักษาผิดตามไปด้วย ดังนั้น การระบุตัวตนคนไข้ให้ถูกต้อง ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นการรักษา จึงเป็นที่มาของการใช้ริสแบนด์ ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินที่พัฒนาขึ้นมาเป็นชุดแรก ประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน คือ 1.ระบุตัวตนผู้ป่วย ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถแยกประเภทผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรก เมื่อเทียบกับในการรักษาในอดีตเจ้าหน้าที่ แพทย์ จะต้องทำการซักประวัติของผู้ป่วยประมาณ 25-30 นาที ต่อผู้ป่วย 1 คนในแต่ละอาการที่เข้ามาทำการรักษา มีประวัติข้อมูลย้อนหลังที่เข้ามาทำการรักษาในโรงพยาบาลทำให้แพทย์ทราบโรคที่เป็น อาการแพ้ยา กรุ๊ปเลือดและอื่นๆ เป็นต้น

สำหรับสีของริสแบนด์ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วย ได้แก่ สีแดง บ่งชี้อาการว่าผู้ป่วยอาการหนักเข้าขั้นวิกฤตไม่รู้สึกตัว เช่น หัวใจหยุดเต้นต้องรีบทำการรักษาโดยด่วน, สีชมพู บ่งชี้ว่าผู้ป่วยเข้าขั้นวิกฤตในระดับหนึ่ง เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือติดเชื้อรุนแรง แต่คนไข้รู้สึกตัวและควรได้รับการรักษาภายใน 5 นาที, สีเหลือง บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการปกติ แต่อาจจะมีอาการท้องเสียรุนแรงผสมต้องรีบให้น้ำเกลือ ฉีดยาควรได้รับการรักษาภายใน 15 นาที, สีเขียว ผู้ป่วยอาการเล็กน้อย มีการทำหัตถการเพียงอย่างเดียว เช่น ทำแผล รอรับการรักษาได้ 30 นาที – ชั่วโมง, สีขาว ผู้ป่วยทั่วไปที่มีอาการไม่หนัก หรือมาหาแพทย์สำหรับป่วยนอกเวลาทำการรักษาปกติ เช่น ช่วงเวลา 17.00 น.ควรได้รับการรักษาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และสีน้ำเงินจะเป็นระบบของเจ้าหน้าที่ทำการสวมใส่เพื่อแยกประเภทคนในห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะในช่วงเวลา 18.00 น.ของแต่ละวันจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินจำนวนมากเป็นพิเศษ ข้อดีของการนำริสแบรนด์มาใช้ทำให้ลดขั้นตอนการตรวจสอบและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา 2. ติดตามการรักษา ระบบสามารถเก็บบันทึกประวัติการรักษาและประวัติความรุนแรงของผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ดูรายงานสถานะคนไข้แบบเรียลไทม์ได้อย่างแม่ยำ 3.นำข้อมูลการรักษามาวิเคราะห์ เพื่อสรุปผลการทำงานและปรับปรุงพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้นและ 4.มีหน้าแสดงผลหน้าจอ เพื่อสะท้อนภาพรวมการทำงาน ซึ่งเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและสามารถกลับบ้านได้แล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะนำริสแบนด์มาลบข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยทันที และสามารถนำริสแบนด์กลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 200,000 ครั้ง

นวัตกรรมริสแบนด์ระบบระบุตัวตนผู้ป่วย เก็บข้อมูลวิจัยแม่นยำ  100% ลดระยะเวลาสอบถามประวัติ

นายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง

นายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง กล่าวว่า โรงพยาบาลระยองมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 600 เตียง มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการประมาณ 2,000 คนในแต่ละวัน และในจำนวนนั้นมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินประมาณ 300 ต่อวัน ทำให้การบริการมีความผิดพลาดได้ โดยเฉพาะในแผนกฉุกเฉิน เนื่องจากมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการดูแลรักษาจำนวนไม่มาก ดังนั้นจึงได้พยายามหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมเข้ามาร่วมทำงาน จนกระทั่งมีการคิดค้นนวัตกรรมริสแบนด์ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินขึ้น ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาการระบุตัวผู้ป่วยได้แม่นยำและสามารถใช้ข้อมูลในการระบุตัวตน บันทึกการทำการรักษาหัตถการต่างๆ และนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์การทำงานร่วมกัน ทำให้ลดการบันทึกซ้ำที่ไม่จำเป็น ซึ่งอุปกรณ์ต้องมีความสะดวกต่อผู้ใช้งาน และมีความคุ้มทุนต่อโรงพยาบาล โดยระบบฯ สามารถระบุข้อมูลพื้นฐานสำคัญของผู้ป่วยอย่างน้อย 13 ฐานข้อมูล ซึ่งจากการเก็บข้อมูลวิจัยพบว่ามีความแม่นยำถึง 100% และสามารถลดระยะเวลาการสอบถามประวัติพื้นฐานผู้ป่วย ทำให้การรักษารวดเร็วแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉินเข้ามารับการรักษา เช่น ได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์บนท้องถนน ถูกทำร้ายร่างกายเมาไม่ได้สติและหัวใจวายเป็นลมหมดสติไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นในการระบุตัวผู้ป่วย ปัจจุบันมีการนำมาใช้กับผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินทุกประเภทความรุนแรง โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน ทำให้เกิดการพัฒนาในตัวอุปกรณ์และระบบ เพื่อสอดคล้องกับการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบให้กับทุกโรงพยาบาลที่เข้ามาศึกษาดูงานและนำไปปรับใช้กับโรงพยาบาลของตนจนทำให้เกิดกระแส 2P Safety ที่ในห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาลมากขึ้น ที่สำคัญสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกโรค ลดการสูญเสีย

ทั้งนี้โรงพยาบาลระยองนี้ได้ทดลองนำริสแบรนด์มาใช้แล้วประมาณ 1,200 ชิ้น ราคาต่อชิ้นประมาณ 1,000 บาท ส่วนการพัฒนาริสแบรนด์ในอนาคตจะมีการขยายผลการใช้ไปยังแผนกอื่นๆ ของโรงพยาบาลเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทีมแพทย์ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเป็นมาตรฐานการทำงานเดียวกันทั้งโรงพยาบาล


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save