กรุงเทพฯ : สภาวิศวกร ชี้เทรนด์เรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ใน 3 กลุ่มอาชีพรับโอกาสการทำงานในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เริ่มจาก วิศวกรสายไอที อาทิ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รองรับเทรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก วิศวกรสายโครงสร้างสาธารณะ อาทิ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมก่อสร้าง วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมเครื่องกล ฯลฯ รับการขยายตัวของโครงการเมกะโปรเจกต์ภายใต้การดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะขยายตัวอย่างเต็มรูปแบบใน 10-20 ปีข้างหน้า วิศวกรสายยั่งยืน อาทิ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ จากกระแสการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน พร้อมย้ำประโยชน์ของการถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ สิทธิอบรมเสริมศักยภาพเพื่อเป็นแต้มต่อให้ความมั่นคงในการทำงาน ฯลฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร ประธานอนุกรรมการทดสอบความรู้ผู้ขอรับใบอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ระดับภาคีวิศวกร และเหรัญญิกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จาก
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอันชาญฉลาดในปัจจุบัน ทั้งปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) เทคโนโลยีจำลองอาคารเสมือนจริง หรือ BIM เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing) หุ่นยนต์ (Robotics) นับได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการเร่งเครื่องภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตลอดจนรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เติบโตหลัง COVID-19 ทั้งเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมภาคการผลิตและการขนส่ง อาทิ ระบบขนส่งทางราง โครงข่ายคมนาคม รวมถึงการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งนั่นได้สะท้อนถึงโอกาสด้านการทำงานของ 3 กลุ่มอาชีพในสาขาวิศวกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.วิศวกรสายไอที อาทิ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ ที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของนายจ้าง เนื่องจากเทรนด์เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ได้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งแมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ไอโอที (IoT) และอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอัตราการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดจากตัวบุคคล (Human Error) แล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆ เป็นต้น
2.วิศวกรสายโครงสร้างสาธารณะ อาทิ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมก่อสร้าง วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า ฯลฯ เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงเวลา 10-20 ปีหลังจากนี้ โครงการเมกะโปรเจกต์ภายใต้การดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชนจะขยายตัวอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งเชิงโครงสร้างสาธารณะในลักษณะของอาคารพาณิชย์ โครงข่ายการขนส่งและคมนาคมด้วยรถไฟฟ้าระบบราง เพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนอำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางได้โดยสะดวก สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industries) ในอนาคต
3.วิศวกรสายยั่งยืน อาทิ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ ฯลฯ อีกหนึ่งกลุ่มอาชีพเนื้อหอมที่นายจ้างต้องการอย่างต่อเนื่อง จากกระแสการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการปรับตัวของราคาน้ำมัน เป็นต้น การพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Car) จึงเป็น 1 ในสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคต จากการบูรณาการความเชี่ยวชาญของวิศวกรในสาขาไฟฟ้าและเครื่องกล นอกจากนี้ สาขาสิ่งแวดล้อมยังมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรของสถานประกอบการ เพื่อควบคุมต้นทุนและลดการสูญเสียทรัพยากรในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
ด้าน กิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 สภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา ภาคการศึกษาได้ผลิตบัณฑิตวิศวกรรมเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการวิศวกรของผู้ประกอบการในสถานประกอบการ แต่กลับพบว่า จำนวนบัณฑิตที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของสภาวิศวกร เพื่อเตรียมพร้อมสู่การยื่นสอบใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมยังมีจำนวนน้อย ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันให้วิศวกรรุ่นใหม่มีใบอนุญาตฯ ที่ช่วยรับรองความสามารถและความเชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ให้พร้อมรับทุกโอกาสการทำงานในภาคอุตสาหกรรม
สภาวิศวกร จึงได้ปรับปรุงระบบการสมัครสมาชิกและการยื่นสอบใบอนุญาตฯ เป็นแบบออนไลน์ ที่สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยปัจจุบันพบสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นถึง 24,000 รายหรือคิดเป็น 5 เท่าจากจำนวนสมาชิกในช่วงก่อน ปี 2564 และถือใบอนุญาตฯ มากกว่า 148,000 ราย
อย่างไรก็ดี การถือใบอนุญาตฯ ถือเป็นหลักประกันสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานภายในประเทศ และเปิดโอกาสการทำงานที่กว้างขึ้นในต่างประเทศ หากวิศวกรมั่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานและยื่นสอบใบอนุญาตฯ เพื่อเลื่อนระดับที่สูงขึ้น อาทิ สามัญวิศวกร วุฒิวิศวกร และภาคีวิศวกรพิเศษ ตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมา มีวิศวกรยื่นสอบในระดับสามัญวิศวกรเพียง 1,000 รายต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ ประโยชน์ของผู้ที่เป็นสมาชิกสภาวิศวกร จะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ทั้งสวัสดิการและประกันชีวิตกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือถึงแก่กรรม การอบรมส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพหรือเลื่อนระดับ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความมั่นคงในการทำงาน เป็นต้น