สภาวิศวกร พร้อมด้วย วิศวกรอาสา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) และตัวแทน บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งมอบ “พ็อคเก็ต พาร์ค” สวนสาธารณะขนาดเล็กบนพื้นที่ประมาณ 6×12 เมตร หรือประมาณ 72 ตารางเมตร แห่งแรกแก่ชาวชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3 ภายใต้โครงการ “สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมสันทนาการ ในรูปแบบของการเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ทุกๆคนในชุมชนคลองเตย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่สภาวิศวกร ได้นำทีมวิศวกรอาสา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) และเขตคลองเตย ร่วมกันลงพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ภายในชุมชนคลองเตย ให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ปลอดภัย และใช้ประโยชน์ร่วมกันภายในชุมชนจากการ “เปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้าง” เป็น “พื้นที่สาธารณะ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยแนวคิด “เปลี่ยน-แปลง” ภายใต้โครงการ “สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” สู่การวางแปลนจัดสร้าง “พ็อคเก็ต พาร์ค” (Pocket Park) สวนสาธารณะแปลนแรก ใจกลางชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3 แยก 4 คลองเตย โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสวนสาธารณะในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะมีพื้นที่จำกัดใจกลางเมืองโตเกียว แต่ก็ยังสามารถที่จะสร้างเป็นสวนสาธารณะให้ทุกๆคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
“พ็อกเก็ต พาร์ค” คลองเตย นวัตกรรมเมืองแห่งแรก
ที่สภาวิศวกรได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน
สำหรับสวนสาธารณะแห่งแรกนี้ ถือเป็นนวัตกรรมเมืองแห่งแรกที่ทางสภาวิศวกรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชน ที่ได้สร้างความท้าทายทีมออกแบบ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในขนาด 6 x 12 เมตร หรือ 72 ตารางเมตร แต่เน้นคุณภาพครบทุกกระบวนการ จึงนำไปสู่การออกแบบสวนสาธารณะ ที่มีโครงสร้างสูงโปร่ง มีแสงส่องสว่างทั่วถึง มีระบบระบายน้ำที่ดี มีบอร์ดไม้สำหรับติดป้ายประกาศและความรู้ต่างๆ รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้นผสมผสานกับไม้ที่ช่วยให้เกิดความสวยงาม ไล่ยุงตามความเหมาะสมภายในชุมชนเบื้องต้นได้ทำการปลูก ต้นเตย ต้นโมก ต้นตะไคร้ โดยใช้งบประมาณในการออกแบบและจัดสร้างทั้งสิ้นประมาณ 250,000 บาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ สจล.
กิจกรรมในอนาคตที่จะนำเข้ามาสร้างการเรียนรู้และเผยแพร่ โดยใช้พื้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้เป็นส่วนของกิจกรรมที่ให้ความรู้เรื่องการวาดภาพ การทำบัญชีครัวเรือน การให้ความรู้เรื่องนโยบายภาครัฐที่ชาวบ้านในชุมชนควรรับรู้ เพื่อที่จะได้มีข้อเสนอนำส่งต่อในเขตคลองเตยและหน่วยงานอื่นๆได้นำเรื่องราวต่างๆไปพัฒนาแล้วนำความเจริญกลับมาสู่ชุมชนคลองเตยในอนาคต
สภาวิศวกรปรึกษากับ SCiRA สจล.
นำแปลนก่อสร้างต้นแบบไปสร้างในทุกพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวถึงการขยายโครงการสวนสาธารณะในพื้นที่ชุมชนคลองเตยในล็อคอื่นๆและพื้นที่อื่นๆในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพื้นที่ต่างจังหวัดว่า สภาวิศวกรได้ร่วมปรึกษาในการจัดทำโครงการเพิ่มเติมกับ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. นำแปลนก่อสร้างต้นแบบไปสร้างในพื้นที่เหมาะสมต่อไป เพื่อสร้างสวนสาธารณะให้เพิ่มมากขึ้นในทุกๆพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างจินตนาการและเปิดโอกาสให้คนที่เข้าถึงสวนสาธารณะได้ยากได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้พื้นที่สวนสาธารณะในการทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน
สร้างสวนสาธารณะเพื่อชาวชุมชนคลองเตย
ได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมภายในชุมชนร่วมกัน
ดร.ปิยบุตร วาณิชย์พงษ์พันธ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 20 ปี สภาวิศวกร ทางสภาวิศวกรได้คิดโครงการเพื่อสังคมหลากหลายโครงการขึ้น หนึ่งในนั้นคือการจัดทำโครงการ“พ็อคเก็ต พาร์ค” สวนสาธารณะขนาดเล็ก ขึ้น โดยเริ่มลงพื้นที่สำรวจความต้องการของคนในชุมชนว่าต้องการรูปแบบสวนสาธารณะแบบใด ให้เกิดประโยชน์การใช้งานสูงสุด ซึ่งเริ่มลงเสาเอกสร้างเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2563 เรื่อยมาจนกระทั่งแล้วเสร็จและส่งมอบในวันนี้ สำหรับความยากในการสร้างคือชุมชนมีพื้นที่ค่อนข้างแคบ ในการลำเลียงอุปกรณ์การก่อสร้าง เสาเข็ม การเทปูน การเลือกต้นไม้ที่จะนำมาปลูก ส่วนการดูแลรักษาจากนี้ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของชาวบ้านในชุมชนที่จะช่วยกันดูแลสวนสาธารณะแห่งนี้ ซึ่งสภาวิศวกรยินดีหากชาวบ้านในชุมชนต้องการให้สภาวิศวกรและพันธมิตรนำกิจกรรมอื่นๆเข้ามาทำในพื้นที่
ซิโน-ไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสวนสาธารณะ
เพื่อชุมชนคลองเตย
รุ่งโรจน์ ลาภนวล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณทางสภาวิศวกรได้เชิญชวนให้บริษัทฯได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมดีๆ เช่นนี้เพื่อสังคมชุมชนคลองเตย เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียว เป็นปอดแม้จะเป็นขนาดเล็กแต่เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะมีสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่สีเขียวในชุมชนคลองเตยอื่นๆในอนาคตตามมา นอกจากจะเป็นพื้นที่สีเขียวแล้วจะเป็นพื้นที่ให้เด็กเล็กในชุมชนที่มีหลายร้อยคนได้วิ่งเล่น ได้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนชรานั่งหรือทำกิจกรรมอื่นๆที่จะเข้ามาจากนี้ต่อไปในอนาคตทางบริษัทฯยินดีที่จะร่วมกับ สภาวิศวกรในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆเพิ่มเติม
มอบโอกาสการเรียนรู้ให้ชุมชนคลองเตย
ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการ มูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เสมือนเป็นการเนรมิตกองขยะให้เป็นสวรรค์ของเด็กๆชุมชนคลองเตยได้มีโอกาสได้มีสวนสาธารณะเดินเล่น ทำกิจกรรมอื่นๆอย่างเด็กในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งคนในชุมชนจะได้มีพื้นที่พบปะทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกันด้วย จากที่คนในชุมชนแทบจะไม่มีเวลาร่วมทำกิจกรรมเนื่องจากต้องทำงาน หาเช้ากินค่ำหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว มีภาวะเครียดจากหนี้สินและยิ่งในสภาวะ COVID-19 ต่างคนต่างยิ่งไม่ออกจากบ้านมาร่วมทำกิจกรรมหรือพบปะใดใดกันเลย ที่สำคัญคนในชุมชนคลองเตยมีจำนวนมากที่ชุมชนคลองเตยบริเวณนี้ประมาณ 100,000 คน กว่า 3 กิโลเมตร บริเวณใต้ทางด่วนพิเศษเฉลิมมหานคร
“ ในวันนี้ดีใจอย่างยิ่งที่สภาวิศวกร สจล. และซิโน-ไทย ได้เข้ามาริเริ่มสร้างสวนสาธารณะให้เป็นพื้นที่ร่วมที่คนในชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในชุมชนร่วมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่จะส่งต่อปัญหาสู่ภาครัฐให้เข้ามาช่วยเหลือในสวัสดิการต่างๆที่ชุมชนอื่นๆหรือพื้นที่ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน” ประทีป กล่าว
ชุมชนคลองเตย……แรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ สร้างสวนสาธารณะ
ประเทืองวิทย์ ดีใจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองเตย กล่าวว่า ขอขอบคุณแทนชาวบ้านในชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3 แยก 4 ที่ได้รับโอกาสมีสวนสาธารณะขนาดเล้กเหมาะสมใช้งานในพื้นที่ และเพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปสร้างสวนสาธารณะในพื้นที่อื่นๆนอกเหนือจากนี้ และเชื่อมั่นว่า จากนี้ภาครัฐ เอกชน หลายๆหน่วยงานรวมทั้งสำนักงานเขตคลองเตยจะนำโครงการอื่นๆเพิ่มเติมที่ก่อให้เกิดประโยชน์เข้ามาให้ชุมชนคลองเตยได้รับโอกาสเฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆต่อไป
สำหรับชุมชนใดที่สนใจต้นแบบดังกล่าว สามารถติดต่อขอข้อมูลแบบแปลนได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 หรือไลน์ไอดี @coethai นอกจากนี้ คนไทยทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ “เปลี่ยน-แปลง” พื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะได้ที่ เลขที่บัญชี 140-270-922-2 ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สภาวิศวกร