กรุงเทพฯ : กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จับมือ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อัดฉีดงบสนับสนุนสตาร์ทอัพปั้นธุรกิจ-นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการ “แหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่” (Delta Angel Fund) ปีที่ 5 พร้อมโชว์ 4 ตัวอย่างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ อาทิ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้ออัตโนมัติด้วยรังสี UVC , แพลตฟอร์มชาร์จ EV Car รายแรกของไทย , หุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด หนุนแพทย์ผ่าตัดแม่นยำ ประหยัดเวลา ประสิทธิภาพสูง และเครื่องตัดอ้อยสดช่วยลด PM2.5 คาดสามารถขยายผลและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 60 ล้านบาท เผยจากผลการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 450 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 500 ราย
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐ ยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ในภาคธุรกิจและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้มีศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดโลก โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินงาน ด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใน Industry 4.0 ความคิดสร้างสรรค์และก้าวทันกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Start up) มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว จะเห็ฺนได้ว่า Facebook และ Amazon มาจุดเริ่มต้นจากสตาร์ทอัพ (Start up) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมประสานความร่วมมือกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ “แหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่” (Delta Angel Fund) เพื่อสนับสนุนเงินทุนแบบเงินให้เปล่า (Angel Fund) แก่ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดหรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่ 6 จะขยายโครงการเพิ่มขึ้นอีก 50%
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการต่อเนื่องปีที่ 5 โดยมีบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนเงินทุน รวมกว่า 3.2 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถขยายผลและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 60 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือกรวม 30 ทีม ครอบคลุม 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล จากผู้สมัครทั้งหมด 152 ทีม ผ่านการนำเสนอแผนธุรกิจ/ไอเดียนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ (Pitching) ใน 3 ด้าน ดังนี้ ระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม (Industrial Automation) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีการใช้พลังงานอย่างมีความรับผิดชอบ (Energy Management) และนวัตกรรมเพื่ออนาคต (Innovation)
“ปีนี้ต้องเลือกผู้ประกอบการ 10 ทีมสุดท้าย ร่วมกิจกรรม Workshop ให้คำแนะนำด้าน PLC ระบบสั่งการในโรงงานอุตสาหกรรม SMI และระบบควบคุมมอเตอร์ เพื่อสั่งสมประสบการณ์เรียนรู้ที่มีส่วนร่วมจริงในโรงงาน โดยมีวิทยากรจากบริษัท เดลต้า ดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
จากการดำเนินโครงการดังกล่าว มีผลลัพธ์ที่พร้อมใช้งาน ทั้งในระดับชุมชน องค์กร พาณิชย์ ตลอดจนของตัวแทน อาทิ “หุ่นยนต์ฆ่าเชื้ออัตโนมัติด้วยรังสี UVC” โรบอทฆ่าเชื้อระดับ DNA แบบ 360° โดยไม่ทิ้งสารตกค้าง “แพลตฟอร์มชาร์จ EV Car รายแรกของไทย” สนับสนุนผู้ใช้รถสะดวกชาร์จ เช็คสถานะผ่านแอปฯ “หุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด” สนับสนุนแพทย์ผ่าตัดแม่นยำ ประหยัดเวลา ประสิทธิภาพสูง และ “เครื่องตัดอ้อยสดช่วยลด PM2.5” มาพร้อมระบบสางใบ ลดการเผาอ้อยสด คืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในด้านเครื่องจักรกลจากเดิมที่ต้องใช้เงินว่าสิบล้านบาทต่อเครื่อง ลดลงเหลือประมาณ 7.5 แสนบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถขยายผลนวัตกรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 60 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด ได้รับการเติมเต็มองค์ความรู้สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งการบริหารจัดการธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ฝึกทักษะการนำเสนอแนวคิดต่อแหล่งเงินทุน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการ และผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ (Delta Angel Fund Networking)
ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขานรับจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-based Economy) ด้วยการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ (Smart Enterprises) โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup) ให้เป็น “นักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่” ที่สร้างธุรกิจโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นฐาน มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล กสอ. โดย กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ จึงดำเนินนโยบาย “ปั้นผู้ประกอบการรายใหม่ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ” เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้มีแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรม ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภายใต้โครงการ “Delta Angel Fund” โดยมี เดลต้าฯ ให้การสนับสนุนเงินทุน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ รวมถึงเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต
จากการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ฯ กว่า 650 ทีม โดยผ่านการคัดเลือกและสนับสนุนเงินทุน จำนวน 128 ทีม รวมมูลค่ากว่า 13 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 450 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดการลงทุนในการจัดตั้ง/ขยายธุรกิจ 70 ล้านบาท สามารถขยายผลสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 500 ราย คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 80 ล้านบาท และสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น มากกว่า 300 ล้านบาท ทั้งนี้ กสอ. พร้อมยืนหยัดและเคียงข้างผู้ประกอบการไทย ในการผลักดันแนวคิดให้เกิดเป็น “ธุรกิจใหม่” หรือ “นวัตกรรมเชิงพาณิชย์”
ด้าน อนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหารบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เงินทุน” ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจ หรือการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ของผู้ประกอบการทั้ง SME และ Startup เดลต้าฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์หรือโซลูชันใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชน และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีแนวคิดในการสนับสนุนเงินทุน Angle Fund โดยบูรณาการความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินโครงการ “Delta Angel Fund” อย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการ สู่การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมไปถึงการเจรจาธุรกิจ อันจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในเครือข่ายเป็นลำดับต่อไป