สกสว. จัดทำแผนด้าน ววน. ปีพ.ศ.2566-2570 ชู 4 ยุทธศาสตร์ “พลิกโฉมให้ประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน”


สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดกิจกรรมพบสื่อมวลชน เพื่อสื่อสาร และสร้างความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่  รวมทัังพันธกิจสำคัญของสกสว. ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศและจัดการงบประมาณของกองทุน ววน. ให้เกิดความคุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาล เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

รศ.ดร.ปัทมาวดี  โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมครั้งสำคัญ ทั้งในมิติของการพัฒนาระบบวิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) รวมถึงปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ ของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย”  หรือ “สกว.” มาเป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อรับภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ของประเทศ ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนววน.) ให้ครอบคลุมทุกสาขาการวิจัยและวิทยาการทุกแขนง ตลอดจนสร้างองค์ความรู้พัฒนานโยบายสาธารณะ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในปีงบประมาณ 2563กองทุนววน.ได้รับงบลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา 12,554 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ได้รับ 19,916 ล้านบาท  ปีงบประมาณ 2565 ได้รับ 14,716 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566ได้รับ 16,354 ล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้ว  4 ปีที่ผ่านมา ได้รับงบปีละ 15,750 ล้านบาท คิดเป็น1.33%

“ไทยต้องลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ในปีงบประมาณ 2563-2566 ไทยมีงบลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาโดยเฉลี่ยแล้ว 1.33%  ขณะที่สัดส่วนงบลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 2.5%  สกสว.มองกองทุนววน.เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศให้เติบโตและยั่งยืน จึงได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเป็น 2% จาก GDP ภายในปี 2580  โดยลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด  มีกระบวนการสนับสนุนการวิจัยแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ประเทศ มุ่งเน้นเป้าหมาย ลงลึกเพื่อความเป็นเลิศ และเกิดผลกระทบสูง”  รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าว

สกสว.ได้จัดทำแผนด้าน ววน. 2566-2570 เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา “พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และยกระดับคุณภาพชีวิต ก้าวเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบ ววน. รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” ซึ่งปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติ แผนด้าน ววน. ปี 2566-70 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มี ความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและ นวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม

พร้อมกันนี้ได้มีการบริหารและจัดสรรงบประมาณ ววน. อย่างมีธรรมาภิบาล ภายใต้การกำกับทิศทางของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยจัดทำกรอบงบประมาณด้านววน. ของประเทศ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2567 จำนวน 31,100 ล้านบาท เพื่อจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) จำนวนร้อยละ 60-65 ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ตามแผนด้าน ววน. แก่หน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9  แห่ง และ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) จำนวนร้อยละ 35-40 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานตามพันธกิจการพัฒนาประเทศ ทั้ง 188 หน่วยงาน ตามที่ สกสว. เสนอผ่านสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ  อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร เศรษฐกิจฐานราก และการเตรียมอุตสาหกรรมและการบริการแห่งอนาคต

รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า สกสว. ยังได้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการสนับสนุน ววน. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดทำกลไกและมาตรการเพื่อพัฒนาระบบ ววน. กลไกและมาตรการสำคัญด้านการพัฒนาระบบ ววน. ที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาหลักการของมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรือตามอุปสงค์ของตลาด (Thailand Business Innovation Research, TBIR / Thailand Technology Transfer Research, TTTR) เพื่อเป็นกลไกการให้ทุนไปยังภาคเอกชนโดยอาศัยหลักการของการแข่งขัน (Competitive Based) ส่งเสริมให้ได้โครงการที่มีคุณภาพและมีศักยภาพสูง ภายใต้โจทย์ความต้องการจากภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่มีตลาดขนาดใหญ่ ให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสูงต่อประเทศ   ตลอดจนผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญเพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งการต่อยอดการวิจัย และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศในภาพรวม

“การจัดแผนและกรอบงบประมาณด้าน ววน. และการพัฒนากลไกในการดำเนินการต่างๆ จะช่วยชี้นำ และ ขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา ทั้งในประเด็นการพัฒนาเชิงพื้นที่และการพัฒนาที่ตอบโจทย์สังคม การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน การพัฒนาคนและองค์ความรู้สู่อนาคต” รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save