สกสว. จับมือ 58 หน่วยงาน เริ่มใช้งบวิจัยปี’63 จำนวน 4,170 ล้านบาท มทร.พระนครเผยได้งบกว่า 29 ล้านบาท ภายใต้ 4 แพลตฟอร์ม 8 แผนงานวิจัย


สกสว. จับมือ 58 หน่วยงาน เริ่มใช้งบวิจัยปี’63 จำนวน 4,170 ล้านบาท มทร.พระนครเผยได้งบกว่า 29 ล้านบาท ภายใต้ 4 แพลตฟอร์ม 8 แผนงานวิจัย

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานอุดมศึกษา และหน่วยงานนอกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวม 58 หน่วยงาน ร่วมสตาร์ทระบบงบประมาณวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (ววน.) จำนวน 4,170.78 ล้านบาท ตอบโจทย์ความต้องการภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “การเริ่มระบบงบประมาณ ววน. โดยความร่วมมือระหว่าง สกสว. และ 58 หน่วยงาน” เพื่อแถลงความร่วมมือเริ่มต้นการทำงานของ “ระบบงบประมาณวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” ซึ่งเป็นการแสดงพันธสัญญาเบื้องต้นระหว่าง สกสว. และ 58 หน่วยงาน ในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุม สกสว. อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้ระบุให้มีการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปยังหน่วยงานในระบบ ววน. ผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับแผนงานและหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการ ปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กสว. ได้พิจารณาอนุมัติให้ สกสว. จัดสรรงบประมาณวิจัยแผนงานปกติ (Non- Flagship Program) ประจำปีงบประมาณ 2563 ไปยังหน่วยงานส่วนอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 36 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน 7 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 แห่ง และสถาบันวิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง รวมทั้งหน่วยบริหารจัดการทุน ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานภายนอกกระทรวง อว. 1 แห่งได้แก่ กรมอนามัย รวมทั้งสิ้น 58 หน่วยงาน เป็นจำนวนเงิน 4,170.78 ล้านบาท

ทั้งนี้สกสว. มีหน้าที่ Deliver Eco System ของววน. ให้ประเทศ รวมทั้งสนับสนุนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บนพื้นฐานของการมีแผนงานที่ดี และใช้กฎหมาย โดยมีกองทุนด้านวิจัย สกสว.จะทำหน้าที่ประสานงานกลางให้มีการทำงานอย่างใกล้ชิด พร้อมเชื่อมโยงและนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์

“วันนี้เป็น Turning Point ในการเริ่มต้นของระบบงบ ววน. แนวใหม่ โดยงบ ววน. ทั้งหมด 12,554.56 ล้านบาทสามารถเบิกจ่ายผ่านกรมบัญชีกลางได้แล้ว ซึ่งจะมีการโอนงบจากกองทุนววน.ไปยังหน่วยงาน 4,170.78 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่างบน่าจะไปถึงหน่วยงานราววันอังคารที่ 17 มีนาคม ศกนี้ หากหน่วยงานได้รับงบมาให้ส่งต่อไปยังนักวิจัยให้เร็วที่สุด สกสว.พร้อมสนับสนุนงานวิจัยเชิงพื้นที่ ชุมชน และจังหวัด เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าว

การที่ สกสว.ได้รับงบประมาณล่าช้า เมือเทียบกับปีงบประมาณ 2562 ไม่ได้ส่งผลกระทบให้งานวิจัยล่าช้า เนื่องจากนักวิจัยยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบให้ก่อน ปัจจุบันถือได้ว่าประเทศไทย มีระบบงบประมาณวิจัยใหม่ ซึ่งจัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแผนและนโยบายการวิจัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) โดยเชื่อมั่นว่าด้วยระบบงบประมาณวิจัยใหม่นี้ จะเพิ่ม Output ขึ้น 30%

สำหรับนโยบายของภาครัฐ ในเรื่อง COVID -19 ได้เปิดกว้างให้แต่ละหน่วยงานสามารถปรับเปลี่ยนงานวิจัย เพื่อแก้ปัญหา COVID -19 คิดเป็น10% ของงบที่ได้รับ เช่น Absorb คนตกงาน รวมทั้งอาจปรับเปลี่ยนทำงานวิจัยหัวข้ออื่น ๆ ที่ตอบโจทย์สถานการณ์นั้น ๆ ในสัดส่วน 10% ของงบที่ได้รับทั้งหมดเช่นกัน ซึ่งจะทำให้งานวิจัยมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ (ซ้าย) อธิการบดี มทร.พระนคร และรศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน (ขวา) มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ (ซ้าย) อธิการบดี มทร.พระนคร และรศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน (ขวา) มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

มทร.พระนครเผยโครงการเพิ่มมูลค่าขนมหวานเพื่อสุขภาพ ช่วย OTOP มีรายได้เพิ่มขึ้น 10%

รองศาสตราจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ในปีงบประมาณพ.ศ. 2563 นี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้งบ 29.2 ล้านบาท รับผิดชอบงานวิจัยพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ภายใต้ 8 แผนงาน 4 แพลตฟอร์ม โดยเน้นโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เช่น โครงการการสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นการบูรณาการในการทำงานร่วมกันระหว่างคณะต่างๆ โดยคณะคหกรรมศาสตร์ใช้สารทดแทนน้ำตาล ประหยัดพลังงาน และไม่เป็นเบาหวาน ขณะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบเครื่องหยอดขนมนำมาใช้ได้จริง ช่วยให้เจ้าของร้านมีรายได้เพิ่ม 10% รวมทั้งโครงการวิจัยการท่องเที่ยวเมืองรอง อย่างจังหวัดราชบุรีและสมุทรสาคร เป็นต้น

กอบชัย บุญอรณะ (ที่5จากซ้าย) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
กอบชัย บุญอรณะ (ที่5จากซ้าย) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

ดร.ประกอบ ชาติภุกต์

จับตา 8 แผนงานวิจัย 4 แพลตฟอร์มของมทร.พระนคร ภายใต้งบประมาณ 29.2 ล้านบาท

ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวเสริมว่า สำหรับ 8 แผนงาน 4 แพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยที่ได้รับจัดสรรจากกองทุน ววน. ราว 29.2 ล้านบาท ประกอบด้วยแพลตฟอร์ม1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ ได้แก่ การประยุกต์ใช้เส้นใยธรรมชาติสาหรับพัฒนาวัสดุเชิงพาณิชย์ โดย ผศ.ดร.กัลทิมา เชาว์ชาญชัยกุล (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) วงเงิน 2,100,000 บาท แพลตฟอร์ม 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม ได้แก่ 1.การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอานวยความสะดวกเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยธานี สุคนธะชาติ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ) วงเงิน 5,244,000 บาท และ 2.การวิจัยและพัฒนาการบูรณาการความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่นสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ โดยผศ.ดร.ภคพนธ์ ศาลาทอง (คณะศิลปศาสตร์) วงเงิน 869,800 บาท

แพลตฟอร์ม 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ได้แก่ การพัฒนาแอพพลิเคชันช่วยเหลือผู้ประกอบการในการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้า OTOP สู่สากล โดย รวีพร จรูญพันธ์เกษม (คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน) วงเงิน 1,071,300 บาท และแพลตฟอร์ม 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่ 1.การพัฒนานวัตกรรมทางคหกรรมศาสตร์เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดยปิยะธิดา สีหะวัฒนกุล (คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์) วงเงิน 12,580,000 บาท 2.วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดย ผศ.ทรงสิริ วิชิรานนท์ (คณะศิลปศาสตร์) วงเงิน 3,387,600 บาท 3.การสร้างอัตลักษณ์สู่การออกแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์จากบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมัทธนี ปราโมทย์เมือง (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ) วงเงิน 2,700,000 บาท และ 4.แนวทางการอนุรักษ์ การพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนไร้แผ่นดิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางมรดกวัฒนธรรมให้กับชุมชน โดยปริณัน บานชื่น (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ) งบ 1,333,200 บาท

ด้านรองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้รับงบวิจัย 8.7 ล้านบาท เน้นงานวิจัยภาคการเกษตรที่ตอบโจทย์พื้นที่ วิจัยกุ้ง ข้าว และมันสำประหลัง ทั้งนี้การลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Agreement หรือ MOA) ทำให้หน่วยงานวิจัยรับทุนต้องรายงาน ทุก 90 วัน ส่วนนักวิจัยต้องรายงานต่อผู้ให้ทุนทุก 30 วัน เป็นระบบติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัย ทำให้งานวิจัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save