คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามความร่วมมือกับบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัดและบริษัทในเครือ เพื่อผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรใหม่ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถผลิตบัณฑิตจำนวนมากถึง 300 คนต่อรุ่น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ โดยการทำหลักสูตรแบบ Co-Creation ที่บริษัทเอกชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรอย่างใกล้ชิด ทั้งในเรื่องของการฝึกงานในทุกช่วงชั้นปี การสอนและการอบรมโดยบริษัท และการร่วมพัฒนาโครงงาน เพื่อให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์จากปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรม และได้รับคำแนะนำจากภาคอุตสาหกรรมโดยตรง การลงนามครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมลงนามกับดร. ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด โดยมีศ.ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดี (วิชาการ) ผศ.ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ อธิคม กาญจนวิภู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงาน Digital & Technology Transformation เข้าร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล (ซ้าย) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และดร. ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและบริหาร บจก. น้ำตาลมิตรผล
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน สถานประกอบการต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลจำนวนมาก ที่มีความรู้ในหลากหลาย และสามารถผสมผสานทักษะการทำงานและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และก้าวทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของประเทศจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร. ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และ อธิคม กาญจนวิภู ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงาน Digital & Technology Transformation กล่าวว่าบริษัทฯ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมลงนามความร่วมมือนี้ เนื่องจากในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนมาก โดยเชื่อว่าหลักสูตรจะสามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพสูงจำนวนมากและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว โดยบัณฑิตเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อองค์กรภาคเอกชนต่อไป
สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายกลุ่มเมฆ รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี