สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาพื้นที่และการศึกษาด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน โดยมีระยะเวลาในการทำงานร่วมกันภายใต้ความร่วมนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี
สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ในครั้งนี้ นอกจากจะเกิดประโยชน์ต่อองค์รวมของทั้ง 3 หน่วยงานแล้วยังจะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยจะมีการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลอดจนการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ การพัฒนาจัดการคลังหน่วยกิตเพื่อพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรพัฒนาทักษะแบบ Non degree เป็นการผนึกกำลังในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี มุ่งวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างกันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยมีขอบเขตความร่วมมือภายใต้การลงนาม ประกอบด้วย 1. การร่วมมือวิจัย การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งบุคลากรของทั้ง 3 หน่วยงานทั้งสามหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลอดจนการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 2. การจัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ การพัฒนาจัดการคลังหน่วยกิต เพื่อพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรพัฒนาทักษะแบบ Non degree ด้านการเกษตรและเกษตรมูลค่าสูงเพื่อสร้างอาชีพและแก้ไขปัญหาความยากจน และด้านต่างๆ ที่มีประโยชน์กับประชาชนหรือจังหวัดนครราชสีมา 3.สนับสนุนการดำเนินงานด้านการศึกษา และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาการ ด้านการเกษตร นิเวศวิทยาป่าเขตร้อน และสิ่งแวดล้อม ให้กับนักศึกษาฝึกงาน ภาคีบัณฑิต และการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในรูปแบบ Upskill reskill newskill & upscale 4.สนับสนุนความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมวิชาการ การศึกษา และกิจกรรมต่างๆ และ 5.ร่วมกันดำเนินกิจกรรมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อร่วมดำเนินงานการแก้ไขและขจัดความยากจน โดยเฉพาะความยากจนข้ามรุ่น ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.) กล่าวว่า มรภ. มีบทบาทเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ผ่านการผลิตบัณฑิตและให้บริการวิชาการ ทั้งนี้ประเทศจะพัฒนาไม่ได้หากขาดรากฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดประโยชน์และพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาและประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการทำงานเพียงหน่วยเดียวจะทำให้สำเร็จได้ช้า ในเบื้องต้น มรภ.จะมุ่งด้านหลักสูตรการบริการจัดการขยะชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเป็นรูปธรรม
รศ. ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรการเรียน ภายใต้ความร่วมมือจะใช้องค์ความรู้ซึ่ง วว. มีความเชี่ยวชาญและสามารถนำไปใช้จริงทั้งการพัฒนาพื้นที่และมีการต่อยอดในเชิงธุรกิจ ได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ ระบบราง พลังงานสะอาด สังคมคาร์บอนต่ำ มั่นใจว่าจะทำให้เกิดการพัฒนา ตอบโจทย์ในเรื่อง Smart City ตามบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ทั้งสามหน่วยงานจะทำงานส่งเสริมกัน ไม่ซ้ำซ้อน จะเป็น Lesson Learned ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด