ปทุมธานี :สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยฟู้ดส์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรตีนจากพืช โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ ตามกระบวนการวิจัยตามขั้นตอนที่ได้มาตรฐานสากลและยอมรับในตลาดการค้า เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์สำหรับเป็นส่วนผสมของอาหาร ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียม ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่น ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทดสอบประสิทธิภาพตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ตอบโจทย์ตามเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภค สร้างความความมั่งคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน
ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. มีนักวิจัยที่มีเชี่ยวชาญ งานวิจัยและมีศูนย์วิจัยทางด้านผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารที่บูรณาการสร้างผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารที่เป็นอาหารทางเลือกที่มีคุณภาพตอบโจทย์ผู้บริโภคตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำหรับผู้รักสุขภาพต้องการควบคุมน้ำตาล ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคและผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนสูงสำหรับเป็นส่วนผสมของอาหาร (Functional food Ingredients) ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงผ่านการทดสอบความปลอดภัย/ทดสอบประสิทธิภาพตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับการการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาตลอดระยะเวลาการทำงานของ วว.ใน 57 ปีที่ผ่านมา
สำหรับร่วมมือครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรตีนจากพืชฐานชีวภาพของไทย เพื่อผลิตเป็นอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชันและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาในอุตสาหกรรมอาหาร บูรณาการวิจัยภายในจากหลายส่วนทั้งจากวว. เอง จากทางมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาหาร ซึ่งเป็นพันธมิตรกับทาง วว. ซึ่งประกอบด้วย ทีมวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร นักเภสัชวิทยา ทีมวิจัยด้านสัตว์ทดลอง ทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ร่วมวิจัยกับบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG คาดว่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตร่วมกันประมาณกลางปี พ.ศ.2564 ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงในราคาที่จับต้องได้
เพชร นันทวิสัย รองประธานสายงานฟาร์มและพัฒนาคุณภาพ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG กล่าวว่า บริษัทฯก่อตั้งในปี พ.ศ.2544 ดำเนินธุรกิจด้านอาหารครบวงจร ตามแนวคิด “คุณภาพอาหาร คุณภาพชีวิต” โดยได้ทำการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ทั้งดิบและสุก โดยในปี พ.ศ.2562 ส่งออกไปจำหน่ายประมาณ 60,000 ตัน จากการเลี้ยงไก่กว่า 3 ล้านตัวต่อปี และผลิตภัณฑ์เนื้อหมูขายในประเทศกว่า 1,000 ตันต่อปี จากการเลี้ยงสุกรกว่า 250,000 ตัวต่อปี โดยเน้นขายในประเทศเป็นหลัก และส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศยุโรปตลาดในญี่ปุ่น และจีน
ทั้งนี้บริษัทฯมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์ของไก่พ่อแม่พันธุ์ ยกระดับคุณภาพของไข่ไก่ที่ผลิตได้ เพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของไก่ระบบการทำฟาร์มไก่แบบระบบเกษตรกรแบบพันธะสัญญา และการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยที่ดีของไก่และสุกร ทดลองปรับใช้สูตรอาหารสัตว์ต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาให้อัตราเจริญพันธุ์ของไก่พ่อแม่พันธุ์สูงขึ้น และเพื่อพัฒนาคุณภาพของไก่และสุกรที่บริษัทจำหน่าย เป็นต้น
เพชร กล่าวว่า เพื่อขยายตลาดอาหารที่ผลิตจากไก่และหมูของบริษัทฯให้เป็นที่ยอมรับแก่คู่ธุรกิจการค้า กลุ่มผู้บริโภคต่างประเทศและในประเทศมากยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับทาง วว.ในครั้งนี้ โดยเน้นใช้วัตถุดิบในไทยเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทย และที่สำคัญทำให้คนไทยสามารถบริโภคอาหารโปรตีนจากพืช ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และได้รับคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าเนื้อจริงโดยผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชสไตล์ใหม่จะใช้วัตถุดิบพืชที่หลากหลายมากขึ้น ผสานกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้น เพื่อให้ได้รสชาติ และรสสัมผัสที่ “เสมือนจริง” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้รักสุขภาพและกลุ่มผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้น
“ที่สำคัญในช่วง COVID-19 ส่งออกได้น้อยลงประกอบกับความต้องการอาหารในประเทศเพิ่มขึ้น บริษัทฯจึงปรับนโยบายการขยายตลาดในประเทศรองรับเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นบริษัทฯ วางแผนจะเปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากความร่วมมือในครั้งนี้ให้กับร้านอาหารภายในประเทศ พร้อมกระจายผลิตภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไป ภายในกลางปี พ.ศ. 2564 และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศประมาณช่วงปลายปี พ.ศ.2564 เป็นต้นไป ” เพชร กล่าว
ด้านราคาของผลิตภัณฑ์นั้นจะดูความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในประเทศที่นำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นหลัก แต่คาดว่าราคาจะไม่สูงจนผู้บริโภคซื้อบริโภคไม่ได้ ในอนาคต บริษัทฯ จะร่วมวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารจากไก่และสุกรอื่นๆ กับทาง วว. เพิ่มเติม โดยพิจารณาจากความต้องการของตลาดของผู้บริโภคและเทรนด์อาหารในแต่ละช่วงประกอบกัน