ปทุมธานี – 15 มกราคม 2567 : ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการกับ ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการประสานงานความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ วัสดุชีวภาพ การเก็บกักและใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบต่างๆ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถรองรับและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำหรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้มีการประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ ลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้วยวิธีบริหารจัดการที่ดี โดยมี ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ศ.ดร.บัญชา พูลโภคา รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมทั้งผู้บริหารและบุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมแสดงความยินดีและร่วมเป็นเกียรติด้วย ณ ห้องประชุม กวท. อาคาร RD 1 ชั้น 8 วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือของ วว. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ ไม่ใช่ก้าวแรกที่ได้ร่วมงานกัน แต่เป็นหลายๆ ก้าวที่ได้จับมือร่วมกันและเดินไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือเครือข่ายฝึกอบรมตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยอาหารให้ทันสมัยของสหรัฐอเมริกา (Food Safety Act : FSMA) ในปี 2559 ความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ ในปี 2563 รวมทั้งการร่วมกันวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์โพรไบโอติก การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรร่วมกัน การผลิตและใช้ประโยชน์แคลเซียมคาร์บอเนตแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล การทดสอบความปลอดภัยและทดสอบประสิทธิภาพประสิทธิผลผลิตภัณฑ์ระดับก่อนคลินิกในปี 2565
ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว.
“วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม จะร่วมดำเนินการบูรณาการวิจัยและพัฒนากับคณะวิทยาศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจะขยายผลไปสู่การดำเนินงานในสาขาอื่นต่อไปในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อขับเคลื่อนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างคุ้มค่าและเป็นการส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกันอย่างมีศักยภาพ เป็น Open Innovation และใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน วทน. เพื่อมุ่งสู่การเข้าไปช่วยแก้ปัญหาของประเทศชาติ ตอบโจทย์ความท้าทายภาคธุรกิจ ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ Startup ให้เข้มแข็ง มีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ด้านศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีแคเรคเตอร์ที่ชัดเจนในการทำงานบูรณาการเชิงประยุกต์ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมมือกับ วว. ต่อเนื่องอย่างเป็นทางการ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน โดย วว. จะเข้ามาช่วยเติมเต็มห่วงโซ่การต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ตามความต้องการองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการเข้าไปช่วยส่งเสริมสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น