กรุงเทพฯ : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก วสท. พร้อมด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร โดยนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร, สำนักงานเขตประเวศ โดย วรเศรษฐ์ วิศาลศักดิ์ ผู้อำนวยการ ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารคอนโด 9 ชั้น ภายในซอยสุภาพงษ์ 1 ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ ที่เกิดเหตุระเบียงกันสาดซีเมนต์ชั้น 2 ทรุดตัวถล่มลงมาปิดทางเข้าออกของผู้อยู่อาศัยชั้นล่างตลอดแนว 6 คูหา
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า จากการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น อาคารที่เกิดเหตุเป็น 1 ใน 12 อาคาร พบว่าระเบียงกันสาดซีเมนต์อยู่บนพื้นชั้น 2 ได้ทรุดตัวหักพับหล่นลงมานั้น เป็นการก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสท์ (Precast) ซึ่งลักษณะโครงสร้างของระเบียงกันสาดและตัวอาคารจะแยกเป็นคนละส่วน ระบบติดกันสาดอาจไม่แข็งแรงเท่าปัจจุบัน โดยเชื่อมยึดกันด้วยเหล็กเสริมเป็นลักษณะเดือยยาวตลอดแนว เพื่อความรวดเร็วในการก่อสร้าง
โดยอาคารดังกล่าวจดทะเบียนในปีพ.ศ.2539 ปัจจุบันอาคารมีอายุ 24 ปี จึงทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของวัสดุโครงสร้างตามเวลา เกิดรอยแตกร้าวระหว่างระเบียงกันสาดและตัวอาคาร จนทำให้น้ำซึมลงไปถึงเหล็กด้านในซีเมนต์ ซึ่งหากเหล็กยึดจุดใดจุดหนึ่งหลุด ก็จะทำให้เกิดการดึงรั้งได้ทั้งหมด ประกอบกับมีผู้อยู่อาศัยนำสิ่งของที่มีน้ำหนักมากไปวางไว้บนกันสาด เช่น กระถางต้นไม้ อุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ CDU (Condensing Unit) ที่ติดตั้งบนกันสาดจะมีการสั่นหรือเขย่า รวมทั้งการรับน้ำหนักของน้ำฝนที่ขังสะสมมาเป็นเวลานาน
รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่าในส่วนโครงสร้างของอาคาร พบว่ายังแข็งแรงและก่อสร้างได้มาตรฐาน หากซ่อมแซมบริเวณที่หักลงมาก็สามารถเข้าไปพักอาศัยได้ตามปกติ ส่วนอาคารข้างเคียงที่มีกันสาดปูนในลักษณะคล้ายกันต้องตรวจสอบกันอีกครั้ง เพราะในช่วงการก่อสร้างไม่ทราบว่าวิธีการยึดติดระหว่างกันสาดกับตัวอาคารมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงใด และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้กับอาคารอื่นในโครงการอีกหรือไม่
“จึงขอแนะนำว่า เจ้าของอาคารควรจะดำเนินการตรวจสอบและเสริมความแข็งแรงล่วงหน้าเพื่อเป็นการป้องกันและปลอดภัยไว้ก่อน“ รศ.สิริวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้มี 4 ข้อแนะนำเพื่อป้องกันระเบียงกันสาดทรุดถล่ม ดังต่อไปนี้
- ให้ดำเนินการตรวจสอบความแข็งแรงของกันสาด หรือโครงสร้างประเภทเดียวกันนี้ทั้งหมดทุกอาคาร (โครงการมี 12 อาคาร) เพื่อพิจารณาปรับปรุงซ่อมแซมให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยต่อประชาชน
- ในระยะแรก อาจพิจารณาออกแบบท้าวแขน (Corbel) ที่ดูสวยงาม และแข็งแรงพอที่จะค้ำยันกันสาด
- ซ่อมแซมรอยแยก รอยแตกร้าวที่สำรวจพบด้วยวัสดุซ่อมแซมมาตรฐานตามเทคโนโลยีปัจจุบัน
- ควรจัดทำการตรวจสอบอาคารประจำปีให้ทางการรับทราบ