ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชมสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการดาวเทียม ห้องวัดสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและไมโครเวฟสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และห้องปฏิบัติการวัดสัญญาณไร้คลื่นสะท้อน (Anechoic Chamber) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.), ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.), ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.) และคณาจารย์ให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวว่า มจพ.เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสำคัญหลากหลายสาขา โดยเฉพาะการมีห้องปฏิบัติการดาวเทียม ห้องวัดสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและไมโครเวฟสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และห้องปฏิบัติการวัดสัญญาณไร้คลื่นสะท้อน (Anechoic Chamber) ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมการบิน-อวกาศ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 สามารถผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก ที่สำคัญได้สร้างงานวิจัยและสิ่งประประดิษฐ์ชิ้นสำคัญคือ การสร้างดาวเทียม “KNACKSAT” (แนคแซท) ขนาด 1 U ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบและพัฒนาภายในประเทศทุกขั้นตอนจากฝีมือนักศึกษา คณาจารย์ มจพ.
“นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการต่อยอดพัฒนางานวิจัยสร้างดาวเทียมฝีมือคนไทยไปสู่อวกาศในอนาคตร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกรรมศาสตร์และนักวิจัยสาขาต่างๆในหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมกับฐานองค์ความรู้ที่ มจพ.มีอยู่ คาดว่าอีกประมาณ 7 ปีประเทศไทยจะส่งดาวเทียมฝีมือคนไทยที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI :Artificial Intelligence) ขั้นสูงไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จ ที่สำคัญหากทำได้สำเร็จจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและพัฒนาเศรษฐกิจด้านอวกาศของประเทศไทยเทียบเท่าในระดับสากลต่อไป” รัฐมนตรีอว. กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า มจพ.ยินดีและเป็นเกียรติที่ รมว.อว.พร้อมคณะได้มาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการห้องปฏิบัติการดาวเทียมและห้องปฏิบัติการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งห้องปฏิบัติการดาวเทียมเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ มจพ.ที่สามารถคิดค้น พัฒนางานวิจัย สร้างนวัตกรรมและบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีอากาศออกสู่ตลาดแรงงาน และกลับมาเป็นอาจารย์ร่วมทำงานที่ มจพ.อย่างต่อเนื่อง ส่วนการเรียนการสอนในปัจจุบันยังคงมุ่งมั่นการเรียนการสอน ส่งเสริมและพัฒนาผลงานวิจัยของนิสิตนักศึกษาสร้างสตาร์ทอัพ ผลงานวิจัยใหม่ๆซึ่งเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยเป็นเลิศทางด้านการศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ตลาดเศรษฐกิจการค้าอย่างยั่งยืน
ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า จากความฝันในวัยเด็กที่อยากสร้างดาวเทียมขึ้นไปสู่อวกาศให้ได้ จึงมีความมุ่งมั่นในการเรียนเพื่อทำความฝันให้สำเร็จ จนกระทั่งได้รับทุนการศึกษา กพ.ไปทำการศึกษาต่อยังประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 16 ปี ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 –ระดับปริญญาเอก ตั้งแต่ปีพ.ศ.2539-2555 ความฝันเริ่มเป็นจริง เนื่องจากได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนแล้วยังได้ร่วมกับเพื่อนๆที่เรียนการคิดค้นสร้างดาวเทียมขึ้นประมาณ 7 ดวงในประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งเมื่อสำเร็จการศึกษาและกลับมาสู่เมืองไทยจึงได้นำองค์ความรู้มาต่อยอดสร้างดาวเทียมในประเทศไทย
“ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว 2 ดวงและอยากจะมอบโอกาสการเรียนรู้การสร้างดาวเทียมแก่นิสิตนักศึกษา มจพ. จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการสอนในห้องเรียนและการทำงานสร้างดาวเทียมจริงที่ห้องปฏิบัติการดาวเทียม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างดาวเทียมให้ประสบความสำเร็จส่งโคจรในอวกาศได้ หากไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและงบประมาณการจัดซื้ออะไหล่อุปกรณ์ รวมทั้งสถานีนำส่งอวกาศดาวเทียมที่สร้างสู่อวกาศจาก มจพ. ภาครัฐและภาคเอกชน ในอนาคตอยากสร้างดาวเทียมสัญชาติไทยหลายๆดวงไปโคจรบนอวกาศเพื่อแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาต่อยอดสร้างอวกาศของคนไทยสำเร็จไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน” รักษาการผู้อำนวยการ สทอศ. กล่าว
สำหรับโครงการ KNACKSAT (KMUTNB Academic Challenge of Knowledge SATellite) เป็นโครงการการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ทำความฝันสร้างดาวเทียมในวัยเด็กให้สำเร็จ โดยดาวเทียม KNACKSAT มีพันธกิจหลักในการพัฒนาระบบสื่อสารโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่วิทยุ, ถ่ายภาพจากอวกาศ, ทดสอบอัลกอริทึมการควบคุมการทรงตัวของดาวเทียมโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า, การตรวจสอบเทคโนโลยี Deorbit และ ยืนยันการใช้อุปกรณ์ Off-The-Shelf ในอวกาศ
ด้วยดาวเทียม KNACKSAT ออกแบบและสร้างในประเทศไทยโดยบุคลากรไทย ดังนั้นการสาธิตเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ จะแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมได้เอง ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่แสดงถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ