กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “Sustainable integrated approach to achieve contaminant of emerging concern (CECs) and Potentially toxic elements (PTEs) removal from contaminated waters. The aquaculture as case study (SusWater) โดยมีนายแพทย์รุ่งเรือง กิตผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและเข้าร่วมสัมมนา พร้อมด้วย ดร.อรสา อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการกองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค (คอ.) และทีมนักวิจัยจากกลุ่มนวัตกรรมสีเขียว เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการการพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารมลพิษอุบัติใหม่ในสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการกำจัดสารกลุ่มดังกล่าว ตามกรอบความร่วมมือโครงการ SusWater ของ วศ. และ คณะความร่วมมือ (consortium) ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย University of Turin (UNITO) สาธารณรัฐอิตาลี, มหาวิทยาลัย Rey Juan Carlos (URJC) ราชอาณาจักรสเปน, Aalborg university (AAU) ประเทศเดนมาร์ก, บริษัท Metrohm Hispania (MH) ราชอาณาจักรสเปน และบริษัท Azienda Agricola San Biagio (AASB) สาธารณรัฐอิตาลี ภายใต้เงินทุนสนับสนุนจาก Horizon Europe
นายแพทย์รุ่งเรือง กิตผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
นอกเหนือจากความร่วมมือภายใต้โครงการ SusWater แล้ว วศ. ยังได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำหรับโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานวิธีทดสอบสารมลพิษปริมาณน้อยที่มีความเป็นพิษสูงและมาตรฐานวิธีทดสอบประสิทธิภาพวัสดุชีวภาพทางการแพทย์เพื่อยกระดับหน่วยงานให้มีศักยภาพด้านงานบริการเทียบเท่ากับระดับสากล” โดยวศ. ได้ลงนามในกรอบข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ด้านเคมีกับ UNITO อีกด้วย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนามาตรฐานวิธีทดสอบสารมลพิษปริมาณน้อยที่ความเป็นพิษสูงในกลุ่ม CECs และ PTEs เพื่อยกระดับหน่วยงานให้มีศักยภาพด้านงานบริการเทียบเท่ากับระดับสากลต่อไป
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวว่า ตามนโยบายของศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งเป้ายกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหา ท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัย อันจะส่งผลดีต่อประเทศชาติด้านการวิจัยและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวฯ กลุ่มนวัตกรรมสีเขียว กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภคเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากประเทศในสหภาพยุโรป ได้แก่ อิตาลี เดนมาร์ก และสเปน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และคณะนักวิจัยจาก วศ. ได้มีโอกาสนำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยที่ดำเนินภายใต้โครงการ Suswater และ บพค. ขณะที่คณะผู้เชี่ยวชาญจาก UNITO ได้นำเสนองานวิจัยของตนเองเช่นกัน ซึ่งการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการในงานสัมมนาดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป