จากนวัตกรรมแปลงเศษอาหารให้กลายเป็นฟาร์มดาดฟ้า สู่โมเดลสร้างฟาร์มสมัยใหม่ในเมือง


จากนวัตกรรมแปลงเศษอาหารให้กลายเป็นฟาร์มดาดฟ้า สู่โมเดลสร้างฟาร์มสมัยใหม่ในเมือง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยเพศหญิงกำลังเข้าสู่สายงานด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม และสตาร์ทอัพเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เผยจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของผู้หญิงเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พร้อมชี้สังคมและองค์กรเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านดังกล่าวมากขึ้น

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดกล่าวว่า ในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาททั้งทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยี ผู้นำสังคม รวมทั้งการเมืองการปกครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการผลักดันของหน่วยงาน องค์กร และความพยายามของเพศสตรีที่มุ่งเข้าสู่แวดวงดังกล่าว พร้อมด้วยการสร้างพื้นที่ให้แสดงออกถึงศักยภาพที่เท่าเทียมกับเพศอื่นๆ จนทำให้ในปัจจุบันได้เริ่มปรากฏให้เห็นถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้นำองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นเพศสตรีทั้งในระดับภาครัฐ และเอกชนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้ถึงสังคมที่มีความเปิดกว้างและเท่าเทียม ตลอดจนอิทธิพลในการสร้างแรงกระเพื่อมต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้ไม่แพ้กับเพศอื่นๆ มีปรากฏในประชาคมโลก

“สายงานหนึ่งที่มีการเติบโตของผู้หญิง คือสายงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เห็นได้ตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัยที่มีผู้หญิงเริ่มเข้าเรียนและจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ต่อเนื่องถึงความสนใจในการเข้าทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยี และการผันตัวเป็นสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ดร.กริชผกา กล่าว

ในส่วนของ NIA พบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น สัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของผู้หญิงเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งได้เคยมีการสำรวจโดยสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจเงินร่วมทุน (Thai Venture Capital Association : TVCA) พบว่ามีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงประมาณ 17 % โดยการเข้ามาของสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงได้มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างหลากหลายและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมเพื่อสังคม นวัตกรรมด้านบริการ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ นวัตกรรมเพื่อการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค และตอบโจทย์คุณค่าที่สังคมและภาคเศรษฐกิจต้องการ โดยเฉพาะในการช่วยเพิ่มการจ้างงาน และเป็นส่วนช่วยผลักดันนโยบายภาครัฐที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

ธีรีสา มัทวพันธุ์

ด้านธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ข้อดีการมีผู้หญิงเข้ามาทำงานในแวดวงนวัตกรรมเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ รวมทั้งบทบาทผู้นำองค์กรคือการเติมเต็มให้บริษัทและหน่วยงานนั้นสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้หญิงค่อนข้างมีพื้นฐานเรื่องการเข้าสังคมมากกว่าผู้ชาย มีการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้ค่อนข้างสูง ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะแทบทุกองค์กรโดยเฉพาะองค์ด้านนวัตกรรมต้องใช้คนขับเคลื่อนเป็นหลัก ดังนั้นในแง่ของการบริหารจัดการ การรับมือ รวมไปถึงการแก้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับองค์กร ผู้หญิงมักจะมีสติและมีแนวโน้มที่จะสามารถรับมือได้ดีกว่าผู้ชาย จึงทำให้ส่วนใหญ่การจัดการปัญหามักมีความยืดหยุ่น สามารถลดสภาวะความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมงานได้

“ความท้าทายของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือผู้มีบทบาทสำคัญของผู้หญิงในองค์กรนั้น คือการทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริงไม่ใช่การยอมรับเพราะสังคมอยากให้องค์กรยอมรับ แต่จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างทั้งด้านความคิด การใช้ชีวิต โดยวิธีการที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับได้นั้นจะต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนกับที่สิ่งที่กำลังทำอยู่ รู้ว่าต้องการสร้างอะไร และเมื่อสร้างแล้วเกิดผลกระทบด้านบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังจะต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนและโดดเด่น โดยเฉพาะด้านภาวะความเป็นผู้นำ เพราะปัจจุบันสังคมกำลังมองหาผู้หญิงที่มีความรอบรู้ มีทัศนคติที่ดี มีการสื่อสารที่ดี รวมทั้งเป็นคนที่เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ และยังต้องมีความคล่องแคล่ว กระตือรือร้นที่จะหาความรู้ รวมไปถึงจะต้องเป็นผู้ที่สามารถมองเห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเวลาที่เกิดปัญหาจะต้องสามารถแก้ไขได้ทันที” ธีรีสา กล่าว

พร้อมกันนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ยังได้จัดเวทีเสวนา “The Rise of Female Startups & Innovators : สตรียุคใหม่กับบทบาทผู้นำด้านสตาร์ทอัพและนวัตกรรม” เพื่อเผยข้อมูลด้านการเติบโตของผู้หญิงในธูรกิจและผู้นำด้านนวัตกรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้มีผู้หญิงก้าวเข้าสู่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยมีภรณี วัฒนโชติ ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น ฟิสแก๊ส แก๊สเดลิเวอรี่รายแรกในประเทศไทย, อัมภาพัตร ฉมารัตน์ ผู้ร่วมคิดค้น แอปพลิเคชั่น คิดส์อัพ ระบบแจ้งเตือนการจรจรหน้าโรงเรียน และปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ออกแบบนวัตกรรมการแปลงเศษอาหารเป็นฟาร์มผักกลางเมือง ร่วมให้ข้อมูล

แปลงเศษอาหารให้เป็นฟาร์มผักดาดฟ้ากลางเมือง เน้นสร้างนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation)

ปารีณา ประยุกต์วงศ์ (ขวา) ผู้ออกแบบนวัตกรรมแปลงเศษอาหารเป็นฟาร์มผักกลางเมือง
ปารีณา ประยุกต์วงศ์ (ขวา) ผู้ออกแบบนวัตกรรมแปลงเศษอาหารเป็นฟาร์มผักกลางเมือง

ปารีณา ประยุกต์วงศ์ เลขาธิการ สมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะผู้ออกแบบนวัตกรรมการแปลงเศษอาหารเป็นฟาร์มผักกลางเมือง กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยในปีพ.ศ. 2560 ซึ่งมีปริมาณขยะมูลฝอย 27.40 ล้านตันและพบว่าขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ จำพวกเศษอาหารต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด โดยปัจจุบันประเทศไทยต้องเสียงบประมาณในการจัดเก็บและทำลายขยะอินทรีย์ดังกล่าวสูงถึงตันละ 300 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 4,110 ล้านบาททั่วประเทศ สมาคมฯ เล็งเห็นว่า หากสามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้กลายเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ จะช่วยลดงบประมาณในการกำจัดขยะดังกล่าวได้ พร้อมกันนี้ยังสามารถส่งเสริมให้เกิดเป็นอาชีพเกษตรกรเมืองขึ้นมาเพื่อสร้างระบบการกำจัดขยะที่ครบวงจรและยั่งยืน

โครงการ “นครแห่งการแปลงเศษอาหารให้กลายเป็นสวนผักกลางเมือง” จึงเกิดขึ้นโดยใช้องค์ความรู้จากการออกแบบระบบบริหารจัดการขยะเปียกและการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตย์ มาร่วมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการสร้างสวนผักขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่าในใจกลางเมือง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ กลุ่มกิจการเพื่อสังคม “ผัก Done” กลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ชัย และกลุ่มเครือข่ายชุมชนถนนเจริญกรุง ซึ่งประกอบด้วยภาคธุรกิจ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยได้รับเงินอุดหนุนในโครงการ “ทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม” ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อใช้เป็นต้นแบบกระบวนการออกแบบฟาร์มดาดฟ้า โดยนำเทคโนโลยี IoT ( Internet of Things) มาใช้ มีระบบแยกขยะขนาดเล็ก กลางและใหญ่ เริ่มเดือนตุลาคม 2561 แล้วเสร็จต้นปีพ.ศ.2562

โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่กระบวนการจัดการขยะอินทรีย์ (ขยะเปียกหรือขยะเศษอาหาร) อย่างครบวงจร คือ ตั้งแต่การแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น เพื่อนำมาหมักหรือจัดการเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปของปุ๋ยและดินเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชผักสำหรับกลับมารับประทานอีกครั้ง โดยพื้นที่ที่จะดำเนินการปรับให้เป็นแปลงปลูกผักในโครงการนี้ ได้แก่ บริเวณพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์บนตึกสูง และตามตรอกซอกซอย เพื่อให้เกิดสวนผักกลางเมืองที่ปลูกด้วยดินและปุ๋ยที่หมักจากขยะเศษอาหาร

โมเดลสร้างฟาร์มสมัยใหม่ในเมือง

โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง คือ 1) พื้นที่รอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ซึ่ง Serve อาหารให้ผู้บริโภค 120 ร้าน โดยเป้าหมายของพื้นที่นี้คือ อนุสาวรีย์ดี๊ดี เกิดการรวบรวมสมาชิกที่เห็นคุณค่าของขยะเศษอาหาร มีห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นศูนย์กลางการจัดกระบวนการรวบรวมขยะเศษอาหารแปลงเป็นก๊าซหุงต้ม (Biogas) และปุ๋ย โดยลงทุนติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ย (Gasifier) และก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech ที่มีปริมาณรองรับเศษอาหารวันละ 150 – 200 กิโลกรัม) และเปลี่ยนดาดฟ้าอาคารที่มีพื้นที่ประมาณ 800-1,000 ตารางเมตร ให้เป็นสวนผักดาดฟ้ากลางเมืองบนพื้นที่ 200 ตารางเมตร เพื่อผลิตผักสลัดจากดิน ซึ่งปัจจุบันผลิตได้ 60กก./เดือน หรือ 500-600 ตัน/สัปดาห์ วางจำหน่ายด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ และ Pre-order ร้านอาหารต่างๆ

เดิมทีห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เสียค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ 400 กก./วัน คิดเป็นเงินกว่า 2 แสนบาท/ปี หลังจากมีโครงการนี้ คาดว่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

2) พื้นที่ Co-Vegetable Garden Space โดยใช้พื้นที่ว่างของบริษัท Yip in Tsoi เป็นศูนย์กลางในการจัดการขยะเศษอาหาร ทั้งจากภายในองค์กร ซึ่งรวบรวมจากชุมชนเพื่อนบ้านรอบ ๆ บริษัทย่านถนนเจริญกรุง ตลาดน้อย ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีการจัดการขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยด้วยขุยมะพร้าว ทำให้ไม่มีกลิ่น ด้วยกล่องหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร (Pak Done Compost Box) ในระดับขนาดครัวเรือนและร้านอาหารขนาดเล็ก เพื่อสร้างกระบวนการแปลงขยะเศษอาหารกลับไปเป็นปุ๋ยสำหรับเพาะปลูก (Close Loop Wasted Management) ให้เห็นเป็นรูปธรรม และเน้นการนำปุ๋ยที่ได้มาใช้ในแปลงผักบริเวณศูนย์จัดการขยะเศษอาหาร บนอาคารจอดรถของ บริษัท Yip in Tsoi ที่ว่างตามริมทางเดิน ริมอาคารร้านค้า และตรอกซอกซอย เกิดเป็นสวนผักคนเมืองใจกลางถนนเจริญกรุง

สำหรับพื้นที่ Co-Vegetable Garden Space นี้จะใช้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้กับคนเมือง และร่วมสร้างวัฒนธรรมการจัดการขยะเปียกบนถนนเจริญกรุงเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาชุมชนเมืองเก่าสีเขียว เพื่อเป็นอัตลักษณ์ของเมืองเก่าถนนเจริญกรุง

“จุดเด่นของโครงการนี้คือ เป็นโครงการที่เน้นการสร้างนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนเมือง สู่การสร้างสรรค์เมืองสีเขียวที่ยั่งยืน” ปารีณา กล่าว

จัดตั้งบางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่ง พัฒนาโมเดลการสร้างฟาร์มสมัยใหม่ในเมือง

ปารีณา กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้จัดตั้งบริษัท บางกอก รูฟท็อป ฟาร์มมิ่ง จำกัด (กิจการเพื่อสังคม) เพื่อพัฒนาโมเดลการสร้างฟาร์มสมัยใหม่ในเมือง (Urban Modern Farm) ภายใต้แบรนด์ “Wastegetable” โดยต่อยอดพัฒนาจาก Prototype โมเดลธุรกิจด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน จากโครงการ “นครนวัตกรรมสีเขียวแห่งการแปลงเศษอาหารเป็นฟาร์มผักกลางเมือง” มีพนักงาน 8-9 คน ซึ่งหากบริษัททำธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจังจะมีรายได้ 6หมื่นบาท/เดือน คืนทุนภายในระยะเวลา 3 ปี หากหน่วยงานใดสนใจต้องการทำฟาร์มดาดฟ้า จะต้องมีขยะอย่างต่ำ 100 กก./วัน ถึงจะคุ้มค่า และใช้เงินลงทุนราว 2 แสนบาท ในการทำฟาร์มดาดฟ้า โดยบริษัทฯ จะให้ความรู้ด้าน Business Model และความรู้การจัดการฟาร์ม

ขณะนี้บริษัทฯ กำลังร่วมกับโครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” (VIBHAVADI ZERO WASTE ) ของสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BASF) ถนนพหลโยธิน ซอย 9 ซึ่งมีคอนโดมิเนียม รวมทั้งโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลพระมงกุฎ เพื่อจัดการขยะเศษอาหาร และสร้างฟาร์มดาดฟ้าในอนาคต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save