กรุงเทพฯ – 17 มิถุนายน 2567 : อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานในพิธีเปิดงานแถลงวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry โดย ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงแนวทาง “การสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจมาเข้าร่วมรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ท่านนายกรัฐมนตรีไปเจรจาการค้า การลงทุน กับบริษัทใหญ่ๆ มามากมายทั่วโลก บริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย ล่าสุด บริษัท APPLE จะมาตั้ง APPLE Campus หรือสำนักงานอีกแห่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์การพัฒนา “นักพัฒนาซอฟท์แวร์” (Software Developer) การเชิญอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาลงทุนจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นการพัฒนาที่สำคัญ ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม เศรษฐกิจของประเทศให้ไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค (High Tech) ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยนวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้มาในอดีต กำลังค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นสูงมากมาย ยกตัวอย่างเช่นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ประเทศไทยเรามีพื้นฐานอยู่ในทุกๆ ด้านและพร้อมที่จะต่อยอด
นอกจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่รัฐบาลเร่งสร้างและเชื้อเชิญการลงทุนต่างๆ แล้ว กระทรวง อว. ภายใต้การนำของรัฐมนตรีศุภมาส ได้เตรียมการส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาและเพิ่มทักษะของคน (Upskill / Reskill) อยู่ในขณะนี้ ประกอบไปด้วยกลไก 4 ด้าน ได้แก่ 1.โปรแกรมการพัฒนาคน ที่มีทั้งการทำหลักสูตรแบบใหม่ การเน้นการฝึกงาน และการร่วมมือกับศูนย์ฝึกอบรม 2.การให้สิทธิประโยชน์ทางการเงิน สำหรับการฝึกอบรม 3.การสนับสนุนงบประมาณ ที่ช่วยเหลือในการพัฒนาทักษะ และ 4.การประสานงานระหว่างภาคการศึกษา และภาคเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ
ด้าน ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. มีแผนงานในการสร้างและพัฒนากำลังคนที่ครอบคลุมในทุกระดับ ตั้งแต่กำลังคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม นักวิจัย รวมถึงการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรี โท เอก โดยในระยะ 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงไว้ที่ 80,000 คน ด้าน EV 150,000 คน และด้าน AI 50,000 คน ปัจจุบัน ได้เริ่มดำเนินการผลิตกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปแล้ว 6 โครงการ ซึ่งมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ มี 3 โครงการที่เป็น Quick Win เห็นผลในระยะสั้น ได้แก่ 1.การพัฒนาและเพิ่มทักษะ (Upskill/Reskill) เช่น โครงการ STEM PLUS หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สำหรับกำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม ซึ่งมีแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนที่ส่งบุคลากรมาเรียน สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250% ปัจจุบันมีหลักสูตรด้านอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 150 หลักสูตร ด้าน EV 124 หลักสูตร ด้าน AI 313 หลักสูตร ตั้งเป้าผลิตกำลังด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 12,500 คนต่อปี ด้าน EV 24,000 คนต่อปี ด้าน AI 8,000 คนต่อปี 2.โครงการ Coop+ หรือ สหกิจศึกษาพลัส ที่นำนักศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์มาพัฒนาทักษะเพิ่มเติมและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม หลังจบการศึกษาแล้วยังสามารถทำงานกับบริษัทได้ทันที โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ 1,500 คนต่อปี เริ่มนำร่องไปแล้วกับ 8 บริษัทชั้นนำ ด้าน EV และ AI ก็จะใช้รูปแบบเดียวกัน โดยตั้งเป้าด้าน EV 500 คนต่อปี ด้าน AI 500 คนต่อปี 3.โครงการสหกิจศึกษาในต่างประเทศ โดยส่งนักศึกษาไปฝึกงานในมหาวิทยาลัยหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ 3 ด้านนี้ในต่างประเทศ
ขณะที่โครงการที่ 4 ถึง 6 เป็นแผนระยะกลางและยาว ที่จะเห็นผลภายใน 2-4 ปี โดยโครงการที่ 4 คือ การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและโท โดย 15 มหาวิทยาลัย คาดว่าจะผลิตกำลังคนได้ 1,300 คนต่อปี ด้าน EV จะเปิดสอนได้ในปีหน้า และด้าน AI ได้เปิดสอนแล้ว 2 หลักสูตรใน 6 มหาวิทยาลัยที่ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนให้ได้ 1,000 คนต่อปี 5.การจัดทำหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์ EV และ AI ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ระดับปริญญาตรีและโท เป็นหลักสูตร International Program ตั้งเป้าผลิตกำลังคนไม่น้อยกว่า 200 ตนต่อปี และ 6.การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ล่าสุดได้ร่วมมือกับอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน สหราชอาณาจักร ในการส่งนักเรียนทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้านเซมิคอนดักเตอร์ และจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันในด้าน EV และด้าน AI
“ขณะเดียวกันยังมีแผนการยกระดับห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรม (Training Centers) เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง EV และ AI ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะมีจำนวน 10 แห่ง ด้าน EV จำนวน 15 แห่ง และด้าน AI จำนวน 9 แห่ง” ศุภมาส กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวง อว. จะนำ 6 แนวทางนี้ไปขยายผลให้ครอบคลุม 8 อุตสาหกรรมใน IGNITE THAILAND โดยได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ ปัจจุบันมี 14 หลักสูตร เช่น ด้านการบิน เปิดสอนแล้ว 2 หลักสูตร ด้านสุขภาพและการแพทย์ มี 4 หลักสูตร ที่เปิดสอนแล้ว เป็นต้น ที่สำคัญกระทรวง อว. ยังมีแผน จัดสรรทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีในการผลิตคนใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เป็นทุนภายใต้การกำกับของกระทรวง อว. หรือร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยได้หารือการจัดสรรทุนของ กยศ. สำหรับนักศึกษาใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้แล้ว