“เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” เป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาค โดยรัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติ หวังให้เป็นกลไกที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความเจริญอย่างเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศให้ก้าวไปด้วยกัน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมและเร่งสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” ต่อเนื่อง โดยในปีพ.ศ.2561 ได้นำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ในปีพ.ศ.2562 ขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน 5 ปี (2563-2565) จะปูพรมการพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 76 จังหวัดและ กทม. รวม 100 พื้นที่
อาเซียนมุ่งสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ
ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานศูนย์ดิจิทัลและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า นโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 ทั้งนี้เมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ ทันสมัยให้ประชาชนในเมืองอยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน
ด้านความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนต่างผสานเมืองเข้ากับดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น นครบรูไนดารุสซาราม ทำงานร่วมกับอีริคสันนำร่องการสี่อสาร 5G และ IoT (Internet of Things) ด้านพนมเปญในกัมพูชา โดยสมาพันธ์ไอซีทีกำลังสร้างเมืองใหม่อัจฉริยะ ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากไอซีทีหลายด้าน รวมทั้งแหล่งบริโภคอุปโภคและเชื่อมต่อกับประชาชน ขณะที่กรุงจาร์กาตา อินโดนีเซียกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นนครแห่งความโปร่งใสและเมืองน่าอยู่ ด้านเมืองกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซียเร่งส่งเสริมการใช้ IoT ผ่านเครือข่าย Wide Area Network (WAN) ส่วนเมืองดานัง กำลังพลิกโฉมเป็นสมาร์ทซิตี้เมืองแรกของเวียดนาม ขณะที่เมืองย่างกุ้งในพม่า มีการเปิดระบบจ่ายเงินผ่าน Yangon Payment System ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการใช้รถขนส่งสาธารณะต่อไปด้วย
27 เมืองในไทยยื่นแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
สำหรับมิติของการเริ่มต้นพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ดร.ภาสกร เห็นว่า ควรกระตุ้นให้เมืองต่าง ๆ ตื่นตัวลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองของตนให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะตอบโจทย์และเข้าถึงความต้องการของประชาชนเมืองต่าง ๆ ได้ดีกว่า โดยรัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นเมืองอัจฉริยะ ผ่านกลไกด้านการจัดทำแผนนโยบายและแผนการขับเคลื่อนนำร่อง รวมไปถึงการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและประยุกต์ใช้งานเมืองอัจฉริยะทั้งในพื้นที่เมืองเดิม และเมืองใหม่ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) , Sandbox เพื่อทดสอบ, งบประมาณหรือทุน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มี 27 เมืองที่สนใจและได้ส่งแผนเข้าร่วมพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว
ทั้งนี้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องจัดทำข้อเสนอโครงการ 5 ข้อ เพื่อขอรับการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย ประกอบด้วย 1.การกำหนดพื้นที่และเป้าหมาย (Vision & Goals) 2.แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Plan) 3.แนวทางการพัฒนาระบบข้อมูลและความปลอดภัย (City Data & Security) 4.บริการพื้นที่ และระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน (Solutions) และ 5.แนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน (Management)
7 เกณฑ์สำคัญสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ
คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะพิจารณาตัดสินตาม 7 เกณฑ์หลัก ได้แก่ 1.Smart Environment การพัฒนาเมืองในมิติของสิ่งแวดล้อม ที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้า
มาช่วยบริหารจัดการ 2.Smart Government การกำกับดูแลการให้บริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ 3.Smart Mobility ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand Smart Transportation 4.Smart Energy พัฒนาพลังงานอัจฉริยะในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงการข่ายไฟฟ้าหลัก 5.Smart Economy เมืองที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 6.Smart Living เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกการอยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย และมีความสุขในการดำรงชีวิต 7.Smart People การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปิดกว้างให้กับความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
เมืองอัจฉริยะต้องเป็นเมืองน่าอยู่ มีความเสี่ยงน้อย -โอกาสสูง
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และกรอบงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่สามารถค้นพบในเมืองคือโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น เมืองอัจฉริยะ จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานชุดหนึ่งที่ต้องถูกออกแบบให้มีความอัจฉริยะ โดยภาพใหญ่ของเมืองอัจฉริยะ องคาพยพของเมืองทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานและผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น สามารถที่จะตอบสนองกับปัญหาและ Pain Point ที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูล (Data) เข้ามาช่วยให้การติดต่อสื่อและการเชื่อมต่อเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อม โอกาสทางธุรกิจ และสินค้าพื้นฐานใหม่ๆ ที่จะยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะและเป็นเมืองน่าอยู่
“ความเป็นเมืองน่าอยู่ จึงไม่ใช่แค่วาทกรรม แต่มีรายละเอียดของการเป็นเมืองที่มีโอกาสหลากหลายและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น อยู่แล้วมีความสุข แก้ปัญหาขยะ คุณภาพน้ำและมลพิษ สร้างโอกาสและรายได้ ปลอดภัย สะอาดและเป็นระเบียบ โปร่งใสในการบริหาร เดินทางสะดวกปลอดภัย เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการ ผู้สูงอายุ มีสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ เป็นเมืองที่เชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติแบบเรียลไทม์เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด” ผศ.ดร.ปุ่น กล่าว
ทั้งนี้เมืองมี 4 ระดับคือ เมืองอยู่ไม่ได้: มีทั้งความเสี่ยงสูงและไร้ซึ่งโอกาส, เมืองไม่น่าอยู่: ความเสี่ยงสูง โอกาสน้อย, เมืองอยู่ได้: ความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสปานกลาง ส่วนเมืองน่าอยู่ นั้นความเสี่ยงน้อยมากขณะที่โอกาสมีสูงมาก
โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมืองอัจฉริยะ
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมือง ประกอบด้วย 1.Traditional Infrastructure สาธารณูปโภคดั้งเดิม 2.Digital Infrastructure สาธารณูปโภคด้านดิจิทัลซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง 3.Charter หรือ กฎบัตร เพราะการพัฒนา เมืองอัจฉริยะนั้น ไม่ได้มีข้อปัจจัยเพียงในเรื่องของเทคโนโลยีและการลงทุนเท่านั้น แต่สิ่งที่ท้าทายของเมืองอัจฉริยะคือ จะทำงานร่วมกันอย่างไร ซึ่งหากดำเนินการถูกต้องมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้เกิด Public Asset Investment ขึ้นมา เพราะฉะนั้นงานที่สำคัญยิ่งยวดคือ Project Management หากการขับเคลื่อนบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละเมือง จะดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้
หัวใจสำคัญของเมืองอัจฉริยะสู่ความมั่งคั่ง
ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย หัวหน้าคณะวิจัย โครงการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และสังคม (SG-SBC) กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะเป็นกลไกที่จะเดินไปสู่ความมั่งคั่ง หลักการสำคัญของเมืองอัจฉริยะ คือ 1. Multimodal Transportation Phase ควรจะเป็นเมืองที่มีหลายรูปแบบโหมดการเดินทางอย่างมีเป้าหมายและทิศทาง จำเป็นจะต้องศึกษาทำความเข้าใจและวิเคราะห์แก้ปัญหา วางแผนพัฒนารูปแบบการเดินทางของประชาชน 2. Innovation District เริ่มเรียนรู้ว่าเมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้น ส่งผลต่อกิจกรรมแรงหมุนทางเศรษฐกิจบริเวณรอบๆ มากขึ้น ดึงดูดให้คนต้องเข้ามาที่ใจกลางก่อนเพื่อส่งต่อไปยังขนส่งมวลชนต่าง ๆ ทำให้สามารถรู้ได้ว่าคนจะมารวมกันที่จุดไหน มาเพื่อซื้อของและใช้บริการทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของ Mobility คมนาคมเดินทาง และLiving การใช้ชีวิตอยู่อาศัย 3. ในพื้นที่ Downtown ของเมืองที่ได้มาตรฐาน ควรใช้พื้นที่ให้มีความคุ้มค่า อย่างน้อย 18 ชั่วโมงต่อวัน กลางวันทำงาน เย็นทำกิจกรรมนันทนาการ กลางคืนค้าขายกับต่างประเทศ จะทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ระบบ Mobility ทั้งหมด จะส่งผลต่อการตอบสนองมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยจะทำกิจกรรมไปพร้อม ๆ กันทั้งหมด รวมถึงที่อยู่อาศัย สำนักงาน โรงพยาบาล ร้านค้าต่างๆ เป็นต้น
2 แพลทฟอร์มสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกันทุกภาคส่วน
เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีความสอดคล้องกันทุกภาคส่วน จะต้องดำเนินกิจกรรมตามแพลทฟอร์มทั้งสองส่วน คือ แพลทฟอร์มแรก กฎบัตรแห่งชาติ ปี 2050 กำหนดการจำแนกตัวชี้วัดตามบทบาทเมืองและตำแหน่งเมืองของไทย ออกเป็น 15 บทบาทได้แก่ 1. เศรษฐกิจสีเขียว 2.การคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3.อุตสาหกรรมสีเขียว 4. อาหารและการเกษตรท้องถิ่น 5. พลังงานสะอาดและภูมิอากาศน่าอยู่ 6. สาธารณูปโภคและอาคารเขียว 7. ที่อยู่อาศัยที่มีราคาเข้าถึงได้ 8.
พื้นที่เปิดโล่งและสวน 9. การฟื้นฟูเมืองให้มีชีวิตชีวา 10. ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพดี 11. การศึกษาที่เป็นเลิศและเท่าเทียมกัน 12. อากาศสะอาด 13. น้ำสะอาด 14. การบริหารในเมืองและจัดเมือง 15. นวัตกรรมและสาธารณูปโภคทันสมัย
แพลทฟอร์มที่ 2 กฎบัตรแห่งชาติ ด้านการพัฒนากิจกรรมซึ่งแตกต่างกันไปตามโซนพื้นที่ เช่น 1.ประเภทใจกลางเมือง (Downtown) ศูนย์เศรษฐกิจ ค้าปลีก โรงแรมและการประชุม 2.ประเภทพาณิชยกรรมเมือง (General Urban) ศูนย์เศรษฐกิจ ค้าปลีก โรงแรมและการประชุม 3.ประเภทชานเมือง (Suburban) ศูนย์เศรษฐกิจ ค้าปลีก โรงแรมและการประชุม 4.ศูนย์เศรษฐกิจใจกลางเมืองประเภทเกิดใหม่ (New Downtown) 5.ศูนย์เศรษฐกิจพาณิชยกรรมชนบท (Rural Center)
ที่มา: เวทีเสวนาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย” ภายในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2562 จัดโดย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี