ในระหว่างปีพ.ศ.2534-2535 สถานที่สำคัญไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทั้งหมด 5 แห่ง เป็นแหล่งธรรมชาติ 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง และดงพญาเย็น ส่วนอีก 3 แห่ง เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ทั้งนี้แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง ที่รอเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมถึงวัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช
ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ ฯ มรดกโลกจังหวัด ในคณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราชเพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก กล่าวว่า
ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2552 ภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ยื่นข้อเสนอต่อนักวิชาการให้ขึ้นทะเบียนวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นมรดกโลก จากนั้นกรมศิลปากรได้เสนอในปีพ.ศ.2555 ซึ่งได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น(Tentative List) ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน ใช้เวลากว่า 6 ปีในการยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งจะต้องนำเสนอเอกสารต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อให้ทันการพิจารณาในเดือนธันวาคม 2562 เพื่อให้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นมรดกโลกที่สมบูรณ์ เป็นความภูมิใจของชาวนครศรีธรรมราชและชาวพุทธทั่วโลกเป็นมรดกโลกที่มีชีวิต โดยคณะทำงานได้ตั้งคำขวัญว่า “วัดพระธาตุ มรดกไทย มรดกโลก”
UNESCO วาง 3 เกณฑ์สำคัญ
ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
สำหรับเกณฑ์ที่องค์การ UNESCO ได้กำหนดไว้คือ 1) ให้กระบวนการรักษามรดกที่มีคุณค่า 2) รักษาข้อเท็จจริงอย่างซื่อตรง และ3) มีการสืบทอดมรดกสู่ลูกหลานในอนาคต มีจารึกพุกาม เอกสารทั้งในไทยและต่างประเทศพูดถึงนครศรีธรรมราช เช่น หอจดหมายเหตุ 100 ปี โดย ตำนานบอกสร้างพ.ศ. 1719 ทั้งนี้พบว่าใต้ฐานองค์พระธาตุเจดีย์น่าจะมีอายุพ.ศ. 1400 โดยให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เครื่องมือสแกนจากฐานถึงองค์ระฆัง พบอิฐมีอายุเก่ากว่าองค์นอก เชื่อว่าพระธาตุสร้างในปีพ.ศ. 1400 แต่ครอบด้วยศิลปะลังกา พ.ศ. 1719
ผศ.ฉัตรชัย กล่าวว่า มีหน่วยงานทั้งหมด 12 แห่งที่ร่วมแรงร่วมใจผลักดันให้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่ กรมศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กรมทรัพยากรน้ำและบาดาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักนโยบายแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นต้น
ไทยส่งข้อกำหนด 3 ข้อจากทั้งหมด 6 ข้อ
ผศ.ฉัตรชัย กล่าวว่า องค์การ UNESCO ได้กำหนดหลักเกณฑ์ทั้งหมด 6 ข้อสำหรับมรดกโลกทางวัฒนธรรม คือ 1. เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์ 2. เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม 3.เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว 4. เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ 5.เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา และ6. มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
“ประเทศไทยส่งทั้งหมด 3 ข้อ คือ ข้อ 2,4 และ6 ได้แก่ 1. เราเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากลังกาอินเดียส่งต่อไปสุโขทัย และภาคใต้ตอนล่าง 2. รูปแบบสถาปัตยกรรม ออกเป็นกรณีเฉพาะทำองค์ระฆังสูงกี่วา ใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหลักอ้างอิง มีการทำปล่องไฉน แสดงให้เห็นถึงความอัจฉริยะของสถาปนิกออกแบบเจดีย์ราย 149 องค์ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในไทย และ3. มีการรับทอดตั้งแต่ปีพ.ศ. 1719 สร้างประเพณีแห่ผ้าพระธาตุ ปัจจุบันมีประชาชนเข้าร่วมเป็นเรือนแสน แสดงว่าทุกคนรักษาวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง” ผศ.ฉัตรชัย กล่าว
ใช้เครื่องมือตามหลักวิศวกรรม อนุรักษ์วัดพระมหาธาตุ หนุนขึ้นทะเบียนมรดกโลก
สำหรับหนึ่งในข้อกำหนดของ UNESCO ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นมรดกโลก คือ การอนุรักษ์และดูแลโบราณสถานจนสืบทอดมรดกชั่วลูกหลาน จึงเป็นที่มาของงานวิจัยศึกษาเชิงวิศวกรรมเพื่อระบุและประเมินสภาพปัจจุบันของโครงสร้างในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้เครื่องมือตามหลักวิศวกรรม ภายใต้การทำงานของคณะวิจัยชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีรศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับหน้าที่หัวหน้าชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม” ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อครั้งยังเป็นสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) ร่วมด้วยทีมวิจัย ประกอบด้วย ผศ.ดร.นเรศ ลิมสัมพันธ์เจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.กฤษฎา ไชยสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ. ล่าสุดชุดโครงการดังกล่าวเพิ่งได้รับรางวัลวิจัยดีเด่น 2561 ของสกว. โดยเป็น 1 ใน 13 ผลงานทั้งหมดที่ได้รับรางวัลวิจัยสกว. ดีเด่น 2561
ทีมวิจัยรวบรวมข้อมูลปัจจุบัน -โครงสร้างทางวิศวกรรม วิเคราะห์ความมั่นคงขององค์พระธาตุ
รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หัวหน้าชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม” กล่าวว่า โครงการวัดพระมหาธาตุนี้ ทางทีมวิจัยได้นำเทคนิคจากการศึกษาที่อุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ มาประยุกต์ใช้ ทำให้ทีมงานมั่นใจในการทำงานมากขึ้น
จากการเข้าทำงาน ปัญหาที่พบ คือ ขาดข้อมูลสภาพปัจจุบันของซาก รูปทรง ความเอียง คุณสมบัติทางวิศวกรรม แรงลม การสั่นสะเทือน และสมรรถนะ จึงต้องทำการเก็บข้อมูล อีกทั้งยังขาดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ทันสมัย แต่ไม่ได้ประยุกต์ใช้กับโบราณสถาน วัตถุประสงค์ของโครงการฯ จึงต้องการรวบรวมข้อมูลณ สภาพปัจจุบัน รวมทั้งโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยใช้เทคนิค Pre Scan และ Image Base การศึกษาการสั่นสะเทือน ซึ่งเรียกว่าการสั่นไหวตามธรรมชาติ เพื่อวิเคราะห์ความมั่นคงขององค์พระธาตุ ตามหลัก Finite Element เอียง 4-5 องศา มีการนำหัววัด Vibration ไปวัดในระดับต่าง ๆ ขององค์พระธาตุ เช่น ระดับ 7-8 เมตรวัดจากฐานพื้นดิน
เก็บข้อมูลดิจิทัลจากภาพถ่ายด้วยกล้องธรรมดา รวมทั้งภาพมุมสูงจากโดรน สร้างแบบจำลอง 3 มิติ
ผศ.ดร.กฤษฎา ไชยสาร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งรับผิดชอบสร้างแบบจำลอง 3 มิติจากภาพถ่าย กล่าวว่า ได้ใช้ภาพถ่ายจากกล้องธรรมดา รวมทั้งภาพมุมสูงจากโดรน ซึ่งเป็นการเก็บแบบ Map -Overview ของทั้ง Site และเก็บแบบรอบจุดสนใจเป็นวงกลม Set เจดีย์ให้เป็นศูนย์กลาง นอกจากจะได้แบบจำลองแล้ว ยังประมวลผลได้ค่อนข้างมาก ทำให้ทราบว่าพื้นผิวองค์เจดีย์หลักมีความสมบูรณ์มาก ถ้าเห็นรอยร้าวระดับ 0.5 มม. สามารถแปลงข้อมูลแบบจำลอง 3 มิติจากภาพถ่ายในอนาคต ถ้ามีรอยร้าวหรือมีวัชพืชสามารถใช้โดรนตรวจสอบ ช่วยให้สามารถตรวจสอบโดยอัตโนมัติ
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.กฤษฎา ได้สาธิตการใช้โดรนถ่ายภาพแบบจำลอง 3 มิติ องค์พระธาตุ วัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งการใช้โดรน เหมาะสำหรับสำรวจพื้นที่บริเวณกว้างจึงสามารถเก็บข้อมูลพระธาตุองค์ใหญ่ และยอดเจดีย์ ซึ่งอยู่ในที่สูงและบริเวณโล่งได้ดี โดยนำข้อมูลมาประมวลผลเป็น Digital File และทำ VR แบบจำลอง 3 มิติ พร้อมกันนี้ได้นำประสบการณ์การใช้โดรนที่วัดไชยวัฒนารามมาต่อยอดในโครงการฯ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบรอยร้าว โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI) ด้วย
สำหรับความยากของโครงการฯ ผศ.ดร.กฤษฎา กล่าวว่า อยู่ที่ข้อจำกัดของโดรน ซึ่งจะต้องบินในที่สูง ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลรอบ ๆ องค์พระธาตุและข้อมูลบนGround Level ได้ จึงทำงานร่วมกับผศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งใช้กล้องสแกน 3 มิติในการวิเคราะห์จำลอง 3 มิติอีกหน่วยวิเคราะห์ตั้งแต่รูปทรงถึงฐาน รวมทั้งเจดีย์รายที่ล้อมรอบ
ใช้เครื่องสแกน 3 มิติ พบเจดีย์เอียงไปทิศตะวันออกเฉียงใต้
ผศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ได้ใช้เครื่องสแกน 3 มิติ ทำการเก็บข้อมูลองค์พระธาตุเจดีย์รายเก็บข้อมูลให้ครบ ครั้งแรกเก็บได้ 71 จุด ซึ่งData Base ที่ได้เป็นข้อมูลพิกัดเม็ดสี เรียกว่า Point Cloud หรือกลุ่มข้อมูลแล้วนำภาพมาเรียงต่อกัน โดยใช้ Matching Computer ระดับ Workstation มีการนำภาพที่ถ่ายจากโดรนมาประกอบ แล้วประมวลผล ในรูปของ Digital Documentation จากนั้นต่อยอดด้วยเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) หรือภาพเสมือน ซึ่งสามารถใช้ในการศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านวิศวกรรมและโบราณคดี รวมถึงมิติการท่องเที่ยว
สรุปการเก็บข้อมูลโครงสร้าง ด้วยวิธีการสร้างแบบจำลอง 3 มิติจากภาพถ่าย ถูกนำมาใช้ในการประมาณค่าความเอียงของเจดีย์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเจดีย์เกิดการเอียงจริงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้แบบจำลอง 3มิติ ยังสามารถใช้ในการประเมินสภาพความเสียหายของโครงสร้างจากพื้นผิวภายนอกและใช้ในการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
“ทีมวิจัยได้นำความรู้จากการสำรวจโบราณสถานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาต่อยอด เนื่องจากองค์ความรู้คนโบราณซึ่งอาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ยกตัวย่าง การใช้วัสดุสมัยใหม่ทดแทนวัสดุโบราณทั้งในด้านมิติ ขนาด ซึ่งจะต้องมีความใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด ในขณะเดียวกันต้องเหมาะสมและตอบโจทย์กับการทำงานในปัจจุบันด้วย เช่น การ Set ตัวเร็ว ภัยพิบัติ แรงลมมีผลกระทบต่อโบราณสถาน โดยเฉพาะที่อยู่ติดทะเล เป็นต้น” ผศ.ดร.ชัยณรงค์ กล่าว
ตรวจวัดการสั่นไหวจากสภาพแวดล้อม วิเคราะห์หาความถี่ธรรมชาติเจดีย์พระมหาธาตุ – เจดีย์ราย 22 เจดีย์
รศ.ดร.นคร กล่าวว่า ได้ทำการตรวจวัดการสั่นไหวเนื่องจากสภาพแวดล้อม เพื่อวิเคราะห์หาความถี่ธรรมชาติของเจดีย์พระมหาธาตุและเจดีย์รายอีกจำนวน 22 เจดีย์ จากการศึกษาพบว่า ความถี่ธรรมชาติของรูปแบบการสั่นไหวที่ 1 ของเจดีย์พระมหาธาตุมีค่าเท่ากับ 1.96 Hz ในการสั่นไหวในแนวเหนือ-ใต้และมีค่าเท่ากับ 1.84 Hz ในการสั่นไหวในแนวตะวันออก-ตะวันตก เจดีย์ทิศทั้ง 4 มีความถี่ธรรมชาติของการสั่นไหวในรูปแบบที่ 1 ประมาณ 10.5 Hz ผลการศึกษาคาบธรรมชาติของรูปแบบการสั่นไหวพื้นฐานของเจดีย์ราย พบว่าคาบธรรมชาติมีค่าเพิ่มขึ้นตามความสูงของเจดีย์
ศึกษาสถานะความมั่นคงขององศ์เจดีย์ -ดินฐานรากด้วย วิธี Finite Element
ผศ.ดร.นเรศ ลิมสัมพันธ์เจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการวิเคราะห์เจดีย์พระมหาธาตุด้วยวิธี Finite Element เพื่อศึกษาถึงสถานะความมั่นคงขององศ์เจดีย์และดินฐานราก ในกรณีน้ำหนักบรรทุกที่เกิดจากน้ำหนักขององค์เจดีย์เองการศึกษาได้ใช้ข้อมูลเรขาคณิตที่ได้จากแบบจำลอง 3 มิติจากภาพถ่ายและจากเครื่องเลเซอร์สแกน ในการสร้างแบบจำลอง Finite Element จากการวิเคราะห์พบว่าโมดูลัสยืดหยุ่นของวัสดุมีค่าประมาณ 2200 MPa เพื่อทำให้ความถี่ธรรมชาติของแบบจำลองมีค่าใกล้เคียงกับความถี่ธรรมชาติที่ตรวจวัดได้จริงที่ประมาณ 1.90 Hz การศึกษาพบว่าองค์เจดีย์มีการเอียงตัวเล็กน้อย และอยู่ในสถานะปลอดภัยเพียงพอ โดยมีอัตราส่วนความปลอดภัยเกินกว่า 2.0 ในทุกบริเวณและหน่วยแรงแบกทานใต้ฐานองค์เจดีย์มีค่าต่ำกว่ากำลังแบกทานของดินฐานราก โดยมีอัตราส่วนความปลอดภัยเกินกว่า 2.0 เช่นกัน
นอกจากนั้นยังได้แสดงคุณสมบัติเชิงพลศาสตร์ของแบบจำลองสำหรับการสั่นไหวใน 30 โหมดแรก และได้ศึกษาสถานะความมั่นคงในกรณีสมมุติที่องค์เจดีย์เกิดการเอียงตัวเพิ่มเติมอีกด้วย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในคอมพิวเตอร์ โดยจับให้เจดีย์ค่อยๆ เอียงเพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าบริเวณที่น่าเป็นห่วง คือ หางเสาที่ถูกอัด จากสมมติฐานที่เจดีย์เอียง 5 องศา พบว่าเสาหางจะเริ่มเปลี่ยนเป็นแรงดึง ซึ่งไม่เป็นผลดี ขณะที่แรงอัดยังทนได้ ถ้าเอียงที่ 7 องศา เสาหางฝั่งตรงข้ามจะปลอดภัย มีค่า Factor น้อยกว่า 1
ตรวจวัดการสั่นไหวของพื้นดินจากการจราจร ประเมินผลกระทบต่อความมั่นคงโบราณสถาน
รศ.ดร.นคร กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจวัดการสั่นไหวของพื้นดินเนื่องจากผลของการจราจร เพื่อประเมินถึงผลกระทบต่อความมั่นคงโบราณสถาน ได้ปล่อยให้รถวิ่ง แล้วทากรวัดความสั่นสะเทือน ในแนวราบ คือ X Y และแนวดิ่ง Z พบการสั่นในแนวดิ่ง
การตรวจวัดคลื่นขนาดเล็กของผิวดิน ได้ค่าความเร็วคลื่นเสียงมาก 272 เมตร/นาที ขณะที่กรุงเทพฯ 140 เมตร/วินาที แสดงว่าชั้นดินมีสภาพค่อนข้างแข็งมากกว่าบริเวณภาคกลาง ทำให้คลื่นการสั่นสะเทือนมีอัตราการลดทอนที่รวดเร็ว และค่าการสั่นสะเทือนสูงสุดมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์แนะนำตามมาตรฐานสากลสำหรับโครงสร้างโบราณสถาน
สำรวจด้านธรณีฟิสิกส์พบองค์พระธาตุชั้นในและชั้นนอก
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจด้านธรณีฟิสิกส์ ซึ่งผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานโลก จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักศิลปากร 12 นครศรีธรรมราช เพื่อศึกษาชั้นใต้พื้นดินบริเวณวัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเก็บเป็นข้อมูลในการอนุรักษ์ต่อไป
ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวว่า ได้ใช้เครื่องสำรวจใต้พื้นดิน บริเวณวัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจสอบหาสิ่งแปลกปลอมใต้พื้นดิน สามารถขุดลึกลงไป 3 เมตร ทำให้ทราบว่ามีองค์พระธาตุชั้นในและชั้นนอก โดยร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นข้อมูลในการบูรณะในโอกาสต่อไป นอกจากนี้เครื่องดังกล่าวยังสามารถใช้ตรวจหารอยเลื่อนที่มีพลัง โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งจะต้องขุดลึกไป 5 เมตรจึงจะตรวจสอบได้
องค์พระธาตุมีสัดส่วนความปลอดภัยสูง แรงสั่นสะเทือนไม่มีผลต่อองค์พระธาตุ
รศ.ดร.นคร สรุปผลการวิจัยว่า ได้รูปทรงดิจิทัล 3 มิติ การเอียงตัว รอยร้าว ซึ่งเป็นข้อมูล ณ ปีพ.ศ.2562 พบองค์พระธาตุมีความมั่นคง มีการเอียงตัวเล็กน้อย 1.45 องศา ถือว่ามีสัดส่วนความปลอดภัยสูง ความสั่นสะเทือนไม่มีผลต่อความมั่นคงขององค์พระธาตุ ทำให้เกิดหลักวิศวกรรมการอนุรักษ์โบราณสถานวัดพระมหาธาตุ เพื่อเป็นข้อมูลในการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป
“แม้ว่าองค์พระธาตุจะไม่มีปัญหาใด อยากให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ โดยมีข้อเสนอทางเทคนิค คือ ระดับความรุนแรงของการสั่นสะเทือน แม้ว่าระดับความสั่นสะเทือนอยู่ในเกณฑ์ต่ำแต่ยังสูงกว่าที่จ.พระนครศรีอยุธยา อาจเป็นเพราะถนนทรุดตัว ซึ่งเป็นแผนในอนาคต” รศ.ดร.นคร กล่าว