ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงปัจจัยที่ส่งผลให้บราเดอร์ ประเทศไทย สามารถสร้างอัตราการเติบโตทางธุรกิจสวนกระแสภาพรวมตลาดในครั้งนี้ว่า เกิดจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยได้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 ของปี 2565 เป็นต้นมา กลไกการทำงานภายในสำนักงานขององค์กรต่างๆ กลับมาเป็นเช่นเดิมเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบราเดอร์มียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปลดล็อคเรื่องการขาดแคลนสินค้าระยะสั้นของบราเดอร์อันเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนก็เริ่มคลี่คลายด้วยเช่นกัน ที่สำคัญการปรับกลยุทธ์ด้านการกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศอย่างทั่วถึงก็ทำให้เกิดความสะดวกในการซื้อเพิ่มขึ้น เมื่อความต้องการในตลาดเพิ่มและบราเดอร์สามารถเติมเต็มความต้องการดังกล่าวได้อย่างถูกที่ถูกเวลา จึงทำให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (เม.ย.–มิ.ย.) บราเดอร์สามารถสร้างอัตราการเติบโตทางธุรกิจได้สูงถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บราเดอร์ได้พบมุมมองใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจ อุปสรรคที่เราต้องเผชิญทำให้เรามองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในตลาดเพิ่มขึ้น เมื่อเราต้องประสบกับพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปจากการรวมศูนย์ในองค์กรมาเป็นการกระจายตัว (Decentralized Working) ในแบบ Work from home หรือ Social Distancing ภายในองค์กร หรือแม้กระทั่งปัญหาสินค้าขาดแคลนระยะสั้น เราก็ต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่บราเดอร์มุ่งขยายธุรกิจในส่วนฮาร์ดแวร์ มาเพิ่มในส่วนการขายวัสดุสิ้นเปลือง (Consumables) เพิ่มขึ้น
ธีรวุธ กล่าว
สำหรับมุมมองของบราเดอร์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ต่อภาพรวมธุรกิจไอทีไทย ธีรวุธ มองว่า COVID-19 ถือเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยก้าวสู่ยุค Digital Transformation เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจไอทีโดยรวมเช่นกัน บทพิสูจน์ที่เห็นชัดคือการเติบโตของบราเดอร์ ประเทศไทยหลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะยังชะลอตัว แต่เรายังสามารถสร้างอัตราการเติบโตได้เพิ่มขึ้นและมียอดขายสูงสุดในอาเซียน เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ณ ปัจจุบัน สังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมแห่งโลก Digital Transformation อย่างเต็มตัว
ด้านอุปสรรคที่ภาคธุรกิจต้องนำมาทบทวนและปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือ คือปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นซึ่งสวนทางกับรายได้ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ในเรื่องนี้ ธีรวุธ มองว่า บราเดอร์ยังเชื่อมั่นว่าสินค้าไอทียังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทั้งในส่วนภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ตลอดจนภาครัฐหรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ก็ล้วนให้ความสำคัญเช่นกัน สิ่งที่เราพบคือช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระแส Work from home ทำให้ยอดขายสินค้าไอทีที่ตอบโจทย์ภาคครัวเรือน (Home Use) เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ปัจจุบันการกลับมาของตลาดกลุ่มองค์กรและภาครัฐก็เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเช่นกัน บราเดอร์จึงต้องพร้อมในการปรับแผนเพื่อรับมือกับตลาดที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนี้อยู่เสมอ ซึ่งเชื่อว่าการเติบโตในตลาดกลุ่มภาครัฐและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565 จะเติบโตมากขึ้นเพื่อรองรับการกลับเข้าสู่การทำงานตามปกติหลังจากที่ตลาดดังกล่าวชะลอตัวในช่วง COVID-19
ในปีนี้นอกเหนือจากเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจของสินค้าเส้นเลือดหลักอย่างเครื่องพิมพ์แล้ว บราเดอร์ยังมุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่มสินค้า Non Print ที่บราเดอร์เรียกกลุ่มธุรกิจนี้ว่า BX (Business Expansion) เพราะช่วงที่ผ่านมาเราเห็นศักยภาพของตลาดกลุ่มนี้ที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก หากเราทำตลาดได้ตรงตามความต้องการ ที่สำคัญอีกประการคือบราเดอร์จะเดินหน้าสานต่อการส่งมอบความคุ้มค่าให้แก่ผู้บริโภค ดังเช่นที่เราพยายามให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับความคุ้มค่าที่จะได้รับจากการเลือกใช้หมึกแท้ที่นอกจากจะทำให้เครื่องพิมพ์สามารถใช้งานได้ในระยะยาวแล้ว เรายังสื่อสารให้เห็นว่าหมึกแท้นั้นมีการกำหนดปริมาณการพิมพ์ไว้อย่างชัดเจน เพราะเวลาผู้บริโภคซื้อจะไม่เห็นปริมาณหมึก หากมองที่ราคาเป็นตัวตั้งผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่คุ้มค่า
ธีรวุธ กล่าว
นอกจากนี้ การปรับตัวของบุคลากรก็เป็นส่วนสำคัญที่บราเดอร์มุ่งมั่นให้เกิดการทำงานเชิงสร้างสรรค์ ฉีกกรอบและสร้างวิธีคิดในการทำงานใหม่ๆ
การเปิดกว้างให้พนักงานสามารถแสดงความสามารถด้านการทำงานนอกเหนือจากส่วนงานที่ตนรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่บราเดอร์สนับสนุนมาโดยตลอด เพราะการไม่ปิดกั้นดังกล่าวทำให้องค์กรได้รับความคิดเห็นใหม่ๆ แม้เราต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ มากมายตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ จะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการปรับ เปลี่ยนแผนงานได้อย่างเหมาะสม เรามองว่าบุคคลากรคือสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด หากเรามีบุคลากรที่มากด้วยคุณภาพแล้ว การขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตก็ไม่ใช่อุปสรรค์อีกต่อไป
ธีรวุธ กล่าวสรุปทิ้งท้าย