กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม (กห.) ร่วมลงนามความร่วมมือ “โครงการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัยที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง” เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคงแบบสหสาขาวิชา และเป็นศูนย์กลางในเครือข่ายงานวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงระบบผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ล้วนต้องการเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง และมีอายุการใช้งานอย่างยาวนาน แบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่บนฐานของวัสดุประเภทลิเธียม (Li) อันเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่จำกัดและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ดังนั้น ในภาวะไม่ปกติ ภาวะฉุกเฉิน หรือเกิดสงคราม ประเทศไทยอาจจะประสบปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานได้ ทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ที่อยู่บนฐานของการใช้วัสดุซึ่งมีอยู่มากในประเทศไทย เพื่อสร้างนวัตกรรมการพัฒนาแบตเตอรี่ประเภทใหม่ๆ และยังส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตด้วย
“การลงนามในครั้งนี้จะช่วยสร้างความร่วมมือระหว่าง 3 หนวยงานในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างแบตเตอรี่ที่มีศักยภาพใช้ในอนาคตต่อไป” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือในครัั้งนี้จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายวิจัยนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศ ลดการพึ่งพาวัตถุดิบและการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงลดการสูญเสียเงินตรา นอกจากนี้ ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรี่ร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศ รวมถึงแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ผู้แทน เจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม กล่าวว่า สืบเนื่องจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2560 – 2579 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของ กห. ที่สำคัญ คือ การเร่งรัดพัฒนาเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยมุ่งแสวงหาความร่วมมือกับเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ กห. กับ หน่วยงานด้านการศึกษา ด้านการวิจัยและพัฒนาและภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อให้มีเครือข่ายที่เกื้อกูลการดำเนินงานซึ่งกันและกัน จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม
“สวทช. ได้มีหนังสือประสาน วท.กห. ขอจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดตั้งและดำเนินการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัย ที่ผลิตจากวัตถุดิบภายในประเทศเพื่อความมั่นคง โดยความร่วมมือระหว่าง สวทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กห. เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนา รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพ โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่ล้ำสมัยฯ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” พลโท คงชีพ กล่าว
ด้าน พลเอก นภนต์ สร้างสมวงษ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ให้สามารถผลิตได้เองเพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ และสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมส่งออกได้ต่อไป
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การร่วมวิจัยครั้งนี้ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในเรื่องการพัฒนาแบตเตอรี่ฝีมือคนไทย ที่จะมีความปลอดภัย มีเสถียรภาพในราคาที่ไม่แพงจับต้องได้จากการร่วมพัฒนาของทั้ง 3 หน่วยงานและต่อยอดการพัฒนาในด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องในอนาคต