งาน “ทีพลาส 2019” จัดสัมมนาวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ โชว์ 3D Printing ทางการแพทย์ครั้งแรก คาดมีผู้เข้าชม 8,000 คน


งาน “ทีพลาส 2019” จัดสัมมนาวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ โชว์ 3D Printing ทางการแพทย์ครั้งแรก คาดมีผู้เข้าชม 8,000 คน

กรุงเทพฯ – เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เดินหน้าจัดงาน “ทีพลาส 2019” งานแสดงเทคโนโลยีด้านการผลิตพลาสติกและยางแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา เผยมีผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า 200 บริษัท จาก 20 ประเทศ ชูไฮไลท์จัดสัมมนาวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ครั้งแรก นับเป็นครั้งแรกที่มี 3D Printing ทางการแพทย์ให้ชมในงาน คาดมีผู้เข้าชมตลอดงาน 8,000 คน

คงศักดิ์ ดอกบัว

คงศักดิ์ ดอกบัว รองผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญของโลก โดยมูลค่าเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมพลาสติกในปีพ.ศ.2561 สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.28% ของจีดีพีโดยประมาณ มีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.46 ล้านตัน ส่งออก 50% และใช้ภายในประเทศ 50% ปัจจัยหลักมาจากความต้องการใช้พลาสติกในการผลิตใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการแพทย์ ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกมีความหลากหลาย อาทิ ความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา ทนความร้อน ทนทานต่อสารเคมีบางชนิด ป้องกันการซึมผ่านของน้ำหรือไขมันได้ อีกทั้งต้นทุนที่ต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำคุณสมบัติที่หลากหลายของพลาสติก มาประยุกต์ใช้ในการผลิตได้

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ไทยจะผลิตพลาสติก (Commodity) แบบธรรมดาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีราคา 50 บาท/กก. ขณะที่พลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) ซึ่งมีราคาสูง 200 บาท/กก. ไทยผลิต 5% แต่มีการใช้มากถึง 75%

จากสถิติปริมาณการใช้พลาสติกของคนไทย 59 กก./คน/ปี ขณะที่ญี่ปุ่นใช้พลาสติก 120 กก./คน/ปี และสหรัฐอเมริกา 110 กก./คน/ปี แสดงว่าอุตสาหกรรมพลาสติกไทยยังเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้พลาสติกไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บริโภค ทำให้เกิดปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งควรมีการจัดการที่ดีหลังการใช้ โดยเข้าสู่ระบบ Circular Economy ต่อไป

“ในทางของผู้ผลิตถือว่าเป็นความท้าทายที่ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มการลงทุนในเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ตลอดจนลดปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ใช้งานได้ครั้งเดียว เพื่อเป็นการสะท้อนว่าผู้ประกอบการไม่ได้ละเลยปัญหาสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งเสริมการพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตขั้นต้นน้ำ และกลางน้ำ ที่ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำมาปรับใช้ในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม คงศักดิ์ กล่าวสรุป

คงศักดิ์ กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทยราว 39 ล้านคน ส่วนในปีหน้าคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 41 ล้านคน ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดการณ์ว่าปีในพ.ศ.2563 อุตสาหกรรมพลาสติกจะเติบโต 2% โดยพิจารณาจากอุตสาหกรรมพลาสติกในไทยโตประมาณ 4% และการส่งออกคาดว่าจะติด -1%

กฤษฎา สุชีวะ

ดร.กฤษฎา สุชีวะ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าปริมาณการบริโภคยางของทั่วโลก 35% เป็นยางที่ผลิตจากประเทศไทย อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก โดยส่งออกยางสูงถึง 85% สำหรับตัวอย่างของผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปยาง ที่ไทยสามารถผลิตและส่งออกได้จำนวนมาก เช่น เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง เป็นต้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมยางของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 มองโลก วัดจากปริมาณการใช้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตยางของไทยอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านตัน

สำหรับอุตสาหกรรมยางของไทย แบ่งเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยอุตสาหกรรมต้นน้ำ มีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมบนยางมากขึ้น ส่วนกลางน้ำ มีบริษัทแปรรูปยางแท่ง 174 บริษัท 284 โรงงาน และปลายน้ำมีบริษัทขนาดใหญ่ 5 แห่ง ซึ่งผู้ประกอบการยางส่วนใหญ่ถึง 85% เป็น SME ในส่วนของยอดส่งออกยางลดลงอย่างต่อเนื่อง จากกว่า 3 แสนล้านบาท เหลือกว่าแสนล้านบาท ขณะที่ยอดนำเข้า 4 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของราคายาง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 ราคายางตกต่ำจนถึงปัจจุบัน เพราะ Demand ต่ำกว่า Supply ปัจจุบันไทยใช้ยาง 10-15% ของการใช้งานทั้งหมด ส่วนใหญ่นำไปใช้ผลิตยางรถยนต์ 63% และเส้นด้ายยางยืด 17% รวม 90% การที่จะผลักดันให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางเป็น 30% จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และคาดว่าราคายางจะตกต่ำไปอีกประมาณ 5-8 ปี

“ความท้าทายของอุตสาหกรรมยางของไทยคือ การแข่งขันด้านคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าแปรรูปจากยาง ซึ่งไทยจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตยาง ซึ่งจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ พร้อมทั้งพัฒนา SME เนื่องจากงานวิจัยมีน้อย โดยเพิ่มงานวิจัยเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน” ดร.กฤษฎา กล่าว

สนติพีร์ เอมมณี

ผศ.ดร.สนติพีร์ เอมมณี ประธานสมาคมไทยคอมโพสิท กล่าวว่า หนึ่งในวัตถุดิบการผลิตที่มีแนวโน้มความต้องการใช้สูงในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ พลาสติกคอมโพสิท โดยพลาสติกคอมโพสิทได้รับการคิดค้นและพัฒนามากว่า 50 ปี และยังมีแนวโน้มความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่า มูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านบาท ภายใน 10 ปี ด้วยคุณสมบัติความคงทน แข็งแรง และน้ำหนักเบามาก ทำให้พลาสติกคอมโพสิทถูกนำไปใช้ใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งมีมูลค่าสูง ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมอากาศยาน อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องบินน้ำหนักเบา 2) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ แบตเตอรีในรถยนต์ไฟฟ้า 3) ระบบขนส่งมวลชน อาทิ โครงสร้างและระบบรางรถไฟฟ้า 4) การเกษตรสมัยใหม่ อาทิ โดรนพ่นยาฆ่าแมลง และ 5) อุตสาหกรรมอวกาศ อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหารอวกาศ เป็นต้น

“การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัสดุคอมโพสิท นับเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย ผู้ผลิตที่ต้องการก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพลาสติกคอมโพสิท และยกระดับเทคโนโลยีที่รองรับการผลิตวัสดุดังกล่าว เพื่อคว้าโอกาสที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ไว้ ผศ.ดร.สนติพีร์ กล่าว

เกอร์นอท ริงลิ่ง

เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า ในเดือนกันยายนนี้ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จัดงานแสดงสินค้า 5 งานครอบคลุมอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองรับนโยบาย Thailand 4.0 ในส่วนของอุตสาหกรรมพลาสติกและยางพารา เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เตรียมจัดงาน “ทีพลาส 2019” งานแสดงอุตสาหกรรมพลาสติกและยางแห่งเอเชีย ในระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2562 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา

ภายในงาน ทีพลาส 2019 ได้รวบรวมเทคโนโลยีและโซลูชันสุดล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์สมัยใหม่ วัสดุการผลิต ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และระบบการจัดการเพื่ออุตสาหกรรมพลาสติกและยางพารา จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก รองรับโอกาสและการเติบโตสู่ฐานการผลิตหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า 200 บริษัท จาก 20 ประเทศ โดย 85% ของผู้จัดแสดงสินค้าเป็นบริษัทต่างชาติจากออสเตรเลีย จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และไต้หวัน คาดมีผู้เข้าชมตลอดงาน 8,000 คน

นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสัมมนาวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ โดยสถาบันวิศวกรรมโพลิเมอร์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมิวนิค ร่วมกับบริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งจะเห็น 3D Printing ทางการแพทย์ครั้งแรกในงาน

เกอร์นอท กล่าวว่า มีบริษัท 30 แห่งที่จะร่วมงาน K งานอุตสาหกรรมด้านพลาสติกและยางอันดับ 1 ของโลก ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี มา Show Case ที่งานทีพลาส 2019 โดยจัดแสดงเทคโนโลยีรีไซเคิล และเครื่อง Extrusion รวมทั้งฟิล์ม ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกมีการเติบโต เนื่องจากการขยาย Shelf Life ของบรรจุภัณฑ์, เทรนด์ของชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีน้ำหนักเบาและลดการปล่อย Co2 และยา ในส่วนของ Hygiene Standard ทำให้ยาปลอดภัย ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชีย มีอุตสาหกรรมหลักๆ 4 ประเภท ซึ่งเป็นที่ดึงดูดใจในการลงทุน ได้แก่ ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ ก่อสร้างและเครื่องมือทางการแพทย์


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save