ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) ผู้นำระดับโลกด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ในการบริหารจัดการพลังงาน และระบบออโตเมชัน เดินหน้าสนับสนุนทักษะความรู้ และการศึกษาให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาได้รู้ถึงเทคโนโลยีในการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า ครบทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจริง พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้นักศึกษาที่จบการเวิร์กช็อป โดยนำร่อง ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออก ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี วิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี วิทยาลัยเทคนิคมวกเหล็ก วิทยาลัยเทคนิคลำพูน วิทยาลัยเทคนิคลำปาง ตั้งเป้าสานต่อไปยังภาคอีสาน ให้ได้ภายในปี 2565
กุศล กุศลส่ง รองประธานกลุ่มธุรกิจ Home and Distributions ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันวงการอสังหาริมทรัพย์ มีความก้าวหน้าขึ้นมากในด้านเทคโนโลยี และเป็นความท้าทายที่ช่างไฟฟ้าต้องเผชิญ เราจึงมีแนวคิดในการเริ่มบ่มเพาะความรู้ด้านวิชาชีพช่างไฟให้มีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเริ่มจากภาคการศึกษาที่เราได้นำร่องวิทยาลัยอาชีวศึกษา ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก เพื่อให้นักศึกษารู้ว่าต้องเผชิญกับเทคโนโลยีอะไรบ้างในอนาคต เมื่อจบออกมาจะทำให้สามารถทำงานได้อย่างชำนาญ และมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ ในการสร้างไอเดียเพื่อต่อยอดวิชาชีพที่ไม่ใช่แค่ช่างไฟ แต่ต้องเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าในอนาคตได้อีกด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการติดตั้งสวิตช์ไฟฟ้า และเต้ารับ ซึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมออย่าง เช่น ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ก็มีเทคโนโลยีอีซี่คลิป ที่ช่วยให้ช่างไฟสามารถติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ใช้อุปกรณ์ในการติดตั้งน้อยกว่าแต่ก่อน ที่สำคัญโมเดลต่างๆ ของสวิตช์ไฟ และเต้ารับ ต้องพร้อมที่จะรองรับไลฟ์สไตล์และการใช้งานของคนยุคใหม่ในแบบที่ไม่เคยมีตามบ้านแบบเมื่อก่อน เช่น เรื่องของสวิตช์ไฟที่เราสามารถปรับแต่ง แยกสีของสวิตช์ไฟ เพื่อให้ง่ายในการจดจำ กระทั่งการปรับแต่งฟีเจอร์ที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนในครอบครัวได้ในเต้าเดียว เช่น การใส่พอร์ต USB ไว้ที่เต้ารับเพื่อความสะดวกในการชาร์จโทรศัพท์ที่หัวเตียง หรือที่ห้องนั่งเล่น
“ก่อนหน้านี้เราอาจพบเต้ารับแบบนี้ที่โรงแรมหรู หรือร้านกาแฟชื่อดัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ทุกบ้านจำเป็นต้องมี เพราะการชาร์จมือถือ ทุกคนต้องชาร์จอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง และมักเกิดประกายไฟเมื่อต้องเสียบอะแดปเตอร์กับเต้ารับโดยตรง ถ้าไม่ระวังอาจทำให้ไฟดูดไฟช็อตได้ ดังนั้นฟังก์ชั่น USB จะตอบโจทย์ความปลอดภัยตรงนี้ได้อย่างดี รวมถึงปัจจุบันเมื่อซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ อาจไม่มีแถมอะแดปเตอร์มาให้ การมีเต้ารับ USB ประจำบ้านอยู่ด้วยนับเป็นความสะดวก จะเห็นได้ว่านวัตกรรมเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ ดังนั้นช่างไฟซึ่งอยู่ในระบบนิเวศดังกล่าวต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน” กุศล กล่าว