ภาพสะท้อนหนึ่งของความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในโลกยุคสมัยใหม่ คือ การที่องค์กรสามารถจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจัง ผ่านการบริหารจัดการองค์กรตามกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมไปถึงปรับการดำเนินงานขององค์กรให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้หลายหน่วยงานต่างต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันนี้ถือว่าขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางเหล่านี้เป็นจำนวนมากและกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอย่างเร่งด่วน
จากรายงาน Global Green Skills Report 2022 ได้ระบุว่า สัดส่วนของบุคลากรที่เป็น Green talent หรือคนเก่งที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 40 จากปี 2015 นอกจากนี้ ในปี 2021 ร้อยละ 10 ของประกาศรับสมัครงานบน LinkedIn มีการระบุอย่างชัดเจนถึงความต้องการผู้สมัครที่มีทักษะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยหนึ่งทักษะ แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการองค์กรตามกรอบการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล กำลังเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด(ที่มา: https://economicgraph. linkedin.com/research/global-green-skills-report)
“คนรุ่นใหม่ มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้สนับสนุนและผู้นำเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น” จากผลการศึกษาจากเยาวชนไทยอายุ 15-20 ปีกว่า 1,000 คนโดยบริษัทวิเคราะห์ United Minds ในนามของอีเลคโทรลักซ์ ได้ระบุว่า เยาวชนไทยเกือบร้อยละ 70 เห็นว่าการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นทางออกที่สำคัญที่สุดเพื่อเปลี่ยนไปสู่สังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น (ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/social/962299) ประกอบกับประชาคมโลกได้มีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs มาตั้งแต่ปี 2015 และการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศกว่า 190 ประเทศในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) เพื่อบรรลุข้อตกลงในการควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้องค์กรทุกระดับต่างกำหนดเป้าหมายและนโยบายขององค์กรให้สอดคล้องที่จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอนและองค์กรยั่งยืน
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดทำหลักสูตรนี้ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการองค์กรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล กำลังเป็นที่สนใจและโลกกำลังมีความต้องการบุคลากรด้านนี้ จึงได้พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิชานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “หลักสูตร IES” ขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงานและอาจารย์ประจำหลักสูตร IES กล่าวว่า หลักสูตร IES เปิดกว้างแก่ผู้ที่มีความสนใจในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ที่ต้องการเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท ซึ่งหลักสูตร ฯ นี้ ไม่ได้รับเพียงคนที่จบสายการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะจบสาขาอะไรมา ก็สามารถเข้าศึกษาในหลักสูตรฯ นี้ได้ นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการมีงานทำหลังเรียนจบทันทีและต้องการค่าตอบแทนที่สูง เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของตลาดแล้วว่า มีความต้องการบุคลากรด้านนี้เป็นอย่างมาก และปัจจุบันยังขาดแคลนสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ หลักสูตร ฯ นี้จึงเป็นโอกาสของผู้ที่สนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมไปถึงการบริหารจัดการองค์กรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
อีกทั้ง การเรียนในหลักสูตรฯ นี้ ยังจะทำให้วิธีคิดของผู้เรียนเปลี่ยนไปตามกระแสของโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วยการทำธุรกิจบนความยั่งยืน ปัจจุบันพบว่า หลายหน่วยงานจำเป็นจะต้องประยุกต์การบริหารจัดการองค์กรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลหรือ ESG ในการจัดทำรายงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรเพื่อยื่นต่อหน่วยงานด้านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งความต้องการเฉพาะด้านนี้ส่งผลให้บุคลากรที่เรียนจบด้านนี้มีโอกาสในการทำงานกับองค์กรระดับนานาชาติ พร้อมค่าตอบแทนที่สูงตามมาด้วย
“จากมุมมองและประสบการณ์ของคณาจารย์ประจำหลักสูตร IES ยังพบข้อมูลอีกด้วยว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จะคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจที่ต้องสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน (Inclusive growth) และไม่ส่งผลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้องค์กรต่าง ๆ พยายามหาเครื่องมือที่จะช่วยบรรลุสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) การซื้อขายคาร์บอนในรูปคาร์บอนเครดิต (Carbon credit) การบริหารจัดการด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการเข้าถึงเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน (Taxonomy) รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนของการดำเนินธุรกิจให้สามารถสร้างคุณค่าจากสินค้าหรือการบริการของธุรกิจให้กับสังคมได้ โดยยังคำนึงถึงผลประกอบการที่ได้รับอยู่ (Creating Share Value) หรือ CSV ทำให้หลายประเทศเริ่มนำการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตเพื่อความยั่งยืน มาผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจ และนำมาเป็นกฎเกณฑ์ในการพิจารณาในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคหรือนักลงทุน อีกทั้ง เกิดแนวคิดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแบบมีมูลค่า กล่าวคือ ต้องมีรายได้จากการจัดการสิ่งแวดล้อมที่กำลังได้รับความสนใจในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งหลักสูตร IES ได้มีการจัดการเรียนการสอนอันครอบคลุมศาสตร์เหล่านี้ เพื่อตอบโจทย์กับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน” ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ กล่าว
การหลอมรวมศาสตร์จากหลายแขนงเข้ามาไว้ด้วยกัน คือจุดเด่นของหลักสูตรนี้ โดยทางหลักสูตรจะดำเนินการเรียนการสอน โดยอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ ทั้งวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น และยังเปิดกว้างให้ผู้เรียนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น รวมไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องความยั่งยืน เข้ามาเรียนได้อย่างหลากหลาย
สำหรับผู้ที่สนใจเรียนหลักสูตร IES สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 พฤษภาคม 2566