งาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ยกระดับขีดความสามารถอุตฯ ไทย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม


ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO)  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)   เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจไทย 2025 นอกจากนี้ยังช่วยสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ สร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม

 

ความท้าทายของภาคธุรกิจไทยปี’67

คือนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพในสินค้าหรือบริการ

        ศุภมาส อิศรภักดี  กล่าวว่า   สถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ประจำปี 2566  ซึ่งจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ได้จัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ในอันดับที่ 30 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 33  อย่างไรก็ตามในปี 2567 พบว่าข้อจำกัดของภาคธุรกิจไทย อยู่ที่ความสามารถด้านผลิตภาพ ดังนั้นความท้าทายของภาคธุรกิจไทย คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพในสินค้าหรือบริการ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะที่จำเป็นให้สามารถปฏิบัติงานได้เท่าทันเทคโนโลยี พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตภายใต้สภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ตลอดจนมีรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น

 

อว. ประกาศ 2 ยุทธศาสตร์สำคัญ

ผลักดันให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาค

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ประกาศนโยบายที่เน้นการตอบโจทย์ประเทศด้านอุตสาหกรรมในยุทธศาสตร์สำคัญ 2 เรื่องคือ นโยบาย อว. For EV และ นโยบาย อว. For AI  ทั้งสองเรื่องเป็นนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของภูมิภาค ปิดช่องว่างปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะมาถึง โดยนโยบาย “อว. For EV” เป็นนโยบายที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพาประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งมี 3 เสาหลักคือ 1.) EV HRD คือการสร้างคนเพื่อตอบความต้องการของอุตสาหกรรม EV และการใช้ EV ของประเทศไทย 2.) EV Innovation คือการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม EV โดยกระทรวง อว. ได้เตรียมการจัดสรรทุนในวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี และ 3.) EV Transformation คือการทำให้รถที่ใช้ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว. เปลี่ยนจากรถที่ใช้น้ำมัน (ICE) มาใช้รถไฟฟ้า ด้านนโยบาย “อว. For AI” จะดำเนินงานใน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.) AI for Education เพื่อใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด 2.) AI Workforce Development เป็นการพัฒนาบุคลากรไทยที่เป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ 3.) AI Innovation เป็นการนำ AI มาใช้งานจริงในทุกภาคส่วน

 

 

มจธ.พร้อมเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้

กับภาคอุตสาหกรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แช่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ เป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และหวังว่า มจธ.จะมีเป้าหมายและเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย กับภาคอุตสาหกรรม ในการพัฒนาบุคลากร พัฒนาองค์กร พร้อมทั้งขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่าย สู่ความร่วมมือในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต

 

ชี้ AI จะมา Disrupt ภาคอุตสาหกรรม

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนว่าปัจจุบันนี้ เราอยู่ในสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะความท้าทายต่างๆที่มีความท้าทายในระดับโลกอย่างไรบ้าง  สำหรับความท้าทายที่เราเรียกว่า Global Challenge  มีสิ่งที่เราเห็นชัดๆ อย่างที่วิทยากรหลายท่านได้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “เทคโนโลยี Disruption”

“ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบฉับพลัน แต่หลังจากที่มี Digital Disruption ขึ้นมาเรามองว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังหาความนิ่งไม่ได้ นี่คือความยาก และท้าทาย ซึ่งวันนี้เราจะเห็นตัวที่กำลังจะมา Disrupt อีกครั้งหนึ่งก็คือ  AI จะมา Disrupt พวกเราอีกรอบหนึ่งในเร็วๆ นี้”  เกรียงไกร  กล่าว

ปัจจุบันนี้ภาคอุตสาหกรรม ยังเน้นเรื่องของ AI เราจึงได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อพัฒนาทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าสู่เรื่องของดิจิทัลที่เราเรียกว่า Digitalization แต่ในขณะเดียวกัน AI จะเป็นภัยคุกคามที่สำคัญหลายๆอาชีพ  เช่น ChatGPT  การร่วมสปีด ร่างจดหมาย เลขาฯ หรือล่าม ที่ AI สามารถทำได้ดีกว่ามนุษย์เสียอีก  าสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่กำลังน่ากลัว แต่ก็เป็นภัยที่ถือเป็นข้อดี  เนื่องจากมีความแม่นยำรวดเร็วมีความผิดพลาดน้อยมีฐานข้อมูลทุกอย่าง แต่ถ้าดูในฝั่งที่เป็นผลลบ ก็คือ ผู้คนอาจจะตกงานกันมากขึ้น เพราะทุกหน่วยงานและองค์กรทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ กับระบบ AI มากขึ้น

 

ส.อ.ท.นำพาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ภายใต้แนวทางความยั่งยืน

ขณะที่ส.อ.ท.กำลังนำพาอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แนวทางความยั่งยืน เราพูดถึงพลังงานสะอาดต่าง ๆ ทั้งพลังงานจากลม พลังงานจากน้ำรถ EV Green Industry อุตสาหกรรมสีเขียว และท้ายที่สุดคือ Net Zero เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ   ทำให้เราแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมไทยเป็น 3 กลุ่มที่ 1 คือ S- Curve หรืออุตสาหกรรมเป้าหมาย กลุ่มที่ 2 คือ BCG Bio- Circular- Green Economy แบตเตอรี่ และกลุ่มที่ 3 คือ Climate Change การซื้อขายคาร์บอนคาร์บอนเครดิตต่างๆ ในอนาคตต่อไป

เกรียงไกร กล่าวว่า อุตสาหกรรม S -Curve ซึ่งไทยเป็นแชมป์อยู่แล้ว แต่ขณะนี้กำลังถูก Disruption ด้วยเทคโนโลยี  และมี New S- Curve อีก 6 อุตสาหกรรมซึ่ง เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นอุตสาหกรรมที่เราไม่เคยมีมาก่อน เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ   อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการขนส่งสมัยใหม่   เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ  อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์วงจร  ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เราจะต้องไปในอนาคต เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายที่ต่างชาติจะเข้ามามากขึ้น เนื่องจากเราเป็นประเทศที่มีแรงงาน

 

 

จุดแข็งของประเทศไทยในการแข่งขัน

คือไฟมีความเสถียร

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังผลักดันการผลิตอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเรื่องฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เรากำลังจะขยับเข้ามาสู่ช่วงกลางของการผลิตเราเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์อันดับ 1 ของโลกแต่มูลค่าการส่งออกไม่มาก เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มาก จึงเป็นที่มาของการคิดจาก Downstream สู่  Midstream  ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่เริ่มย้ายเข้ามา 30 บริษัท คาดว่าน่าจะเข้ามาถึง 100 บริษัท แต่มีปัจจัยที่ต้องการันตีให้เขา ทั้งเรื่องพลังงานที่เพียงพอ และการใช้งานที่เพียงพอ ถ้าเราสามารถขยับตัวเองได้ มูลค่าการส่งสินค้าของเราจะเพิ่มขึ้น เพื่อหนีปัญหาเรื่องค่าแรง

อย่างไรก็ตามข้อดีของประเทศไทยในการแข่งขันคือ ถึงแม้ค่าไฟจะแพงแต่ไฟมีความเสถียร ซึ่งขณะนี้เวียดนามมีปัญหา เนื่องจากนักลงทุนคนแห่กันไปมาก แต่ไฟไม่เพียงพอทำให้ไฟดับ ทำให้บริษัทหลายแห่งกำลังย้ายฐานผลิตออกมา

สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้ประเทศไทยพร้อม และอยู่ในจอเรดาร์ของผู้ที่อยากเข้ามาลงทุน เราต้องใช้วิกฤตครั้งนี้ในการสร้างโครงสร้างที่เข้มแข็งขึ้นสร้างบุคลากร ที่มีความพร้อม เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มนักลงทุนอย่าง Data Center สิ่งที่เขาทำ คือ 1.คุณมีพื้นที่สำหรับการทำโรงงานไหม 2. มีพลังงานที่เป็นพลังงานสีเขียวให้เขาไหม และมีเพียงพอหรือไม่ 3 คุณมีน้ำเพียงพอไหม และ 4 ที่สำคัญที่สุดคือ มีคนที่มีทักษะและมีศักยภาพรองรับการทำงานของเขาหรือไม่” เกรียงไกร กล่าว

ประเทศที่ปรับตัวเร็วอย่างเวียดนามและมาเลเซีย ประกาศเลยว่าจะสร้างบุคลากรระดับสูงอีก 6 หมื่นตำแหน่ง แค่ประกาศก็ได้เปรียบเยอะแล้ว สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาคุยกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดในการที่จะออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

“หากเราทำ Checklist ของเราให้ได้ตามความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ของโลกที่เกี่ยวกับความยั่งยืนพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมสีเขียวและทำ Net Zero ได้ น่าจะเป็นโอกาสอีกครั้งของประเทศไทยที่จะกลับมา เราต้องการประเทศไทยที่แข็งแกร่งแข่งขันได้  ไม่ใช่แค่พูด เราต้องขึ้นมาทำร่วมกัน นี่เป็นโอกาสดี ที่ผ่านมาภาคเอกชนภาคการศึกษาเข้ามาพูดคุยกันวางแผนร่วมกันและ ทุกฝ่ายต้องเสียสละ และเอาจริงกันทุกคน” เกรียงไกร กล่าว

 

 Geopolitics ที่เปลี่ยนแปลงและรุนแรงมาก

ผลต่อการค้าการลงทุน

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย   กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจ 2025 กับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้ามีผลกระทบมาจากภายนอก  สิ่งที่เป็นปัญหาและความท้าทายของนักเศรษฐศาสตร์ คือ Geopolitics ที่เปลี่ยนแปลงและมีความรุนแรงมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการค้าการลงทุน โดยเฉพาะ จีนเป็นมหาอำนาจขึ้นมาและไม่ยอมอยู่ภายใต้สหรัฐอเมริกา ขณะที่ปัจจุบันนี้จีนกำลังล้ำหน้ากว่าสหรัฐอเมริกาทุกด้านทั้งเทคโนโลยี และคน ทั้งนี้ประเทศไทยวางตัวเป็นกลางมาโดยตลอด

เศรษฐกิจไทยในปี 2568 เรายังคงวางตัวเป็นกลางและไม่ปฏิเสธจีนเพราะยังมองว่า “ไทยจีนไม่ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน” ส่วนสหรัฐอเมริกาถือเป็น คู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย และสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศทีมีความล้ำหน้าด้าน AI มากที่สุด และเราต้องการเชิญบริษัท Tech Company มาลงทุนในไทย   คือ เราพูดเวทีไหนเราก็พูดถึงประเทศนั้น  ซึ่งกระทรวงต่างประเทศวางตัวดีมาก ทำให้เราวางตัวเป็นกลางได้ตลอด และทำให้เราเชื่อมั่นว่าปีหน้าเศรษฐกิจของไทยจะมีโอกาสดีกว่าปีนี้  จากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 2.2-2.7 เปอร์เซ็นต์  แต่ปีหน้าตาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะโต 3 เปอร์เซ็นต์ได้

สำหรับประเด็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต สนั่น มองว่า รัฐบาลยังไม่สามารถจะฟันธงได้  แต่ถ้าในกรณีที่รัฐบาลได้สัญญาว่าจะยังไม่แจก 50 ล้านคน แต่จะแจกให้ 15 ล้านคนในไตรมาส 3 ปีนี้ก่อน  หากทำได้ก็จะมีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 1.4-1.5  แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตัวเลข GDP เติบโต 0.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ GDP ของเราเติบโตได้ 2.2 – 2.7 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกโต 0.5-1 เปอร์เซ็นต์  แต่ขณะเดียวกันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ  0.1-1 เปอร์เซ็นต์

 

หอการค้าไทยจับตาความขัดแย้งระหว่าง USกับจีน

ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย

สิ่งที่หอการค้าไทยสนใจและให้ความสำคัญ คือ ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)   ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งไม่มีประเทศใดต้องการให้เกิด หากเกิด Disrupt ทางเศรษฐกิจ และ Supply Chain ติดขัด  ก็จะเกิด Re-Location เช่น การย้ายการลงทุน  หรือการขึ้นภาษี  รวมไปถึงการย้ายฐานมาลงทุนในไทยะถือว่าเป็นการลงทุนของจีนด้วย ทั้งหมดนี้จะกระทบต่อการย้ายฐานจากจีนมาไทย เช่น EV

“สิ่งที่เราทำได้ขณะนี้คือ  FTA  เรามีข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ น้อยมาก เมื่อเทียบกับเวียดนาม อย่างไทยตอนนี้ทำ 15 ฉบับกับ 19 ประเทศเท่านั้น และกำลังพยายามทำกับประเทศสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มเติม ขณะที่เวียดนามทำกับ 54 ประเทศแล้ว  ทำให้เวียดนามมีแต้มต่อมากกว่าไทย” สนั่น กล่าว

 

ภายในงานมีการจัดเสวนา โดยรวีรัตน์ สัจจวโรดม ประธานบริหาร สายงานการเงินและกลยุทธ์ บริษัท จีเอเบิล จำกัด

(มหาชน)  วริทธิ์ กฤตผล Commercial Director บริษัท Rayong Engineering & Plant Service Co., Ltd. หรือ REPCO Nex Industrial Solutions ในเครือ SCG และ วิศรุต เอื้ออานันท์ Chief Digital Mar Tech Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ดำเนินงานเสวนาโดย ดร.รังสรรค์ เกียรติ์ภานนท์ เพื่อร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมข้อคิดสำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มต้นสร้างหรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมในองค์กร

 

ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

สู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางทางการแข่งขันองค์กร (STECO)  กล่าวถึง การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนว่า ทำอย่างไรให้การแข่งขันมีความยั่งยืน และเชื่อว่าองค์กรที่มีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จะนำพาไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ เพราะบริบทของสังคมในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากอดีต ทำให้องค์กรไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่หากมีความท้าทายเรื่องสังคม รวมถึงสภาวะแวดล้อมเข้ามาเป็นตัวแปรในการกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร พร้อมกันนี้ยังตั้งคำถามว่า “พวกเราในวันนี้มีความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกมากน้อยแค่ไหน? 

ในเรื่อง Mega Trends หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ศึกษาโดย PWC 5 มิติ  มิติแรก คือสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง สภาวะโลกที่ร้อนขึ้น ส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ภาคธุรกิจ วัตถุดิบต่างๆถูกจำกัด หากวันนี้เราจะอยู่บนโลกใบนี้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกับเรานั้นอย่างไร  มิติที่สอง มองถึงด้านเทคโนโลยี AI Robotics ที่จะถูกนำมาใช้งานแทนมนุษย์ แต่ในขณะที่บุคลากรของไทยในปัจจุบันนั้นจะมีความพร้อมรับมือกับการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน?  มิติที่สาม  ด้านประชากรศาสตร์ ที่มีอัตราการเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้คนวัยทำงานน้อยลง เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศลดน้อยลง มิติที่สี่ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ มองด้านสงครามการใช้อาวุธ และสงครามการค้า ระหว่างในอดีตสหรัฐ และจีน ในขณะเดียวกันก็มีประเทศเกิดใหม่ อย่างเช่น อินเดีย อินโดนีเซีย  ที่มีศักยภาพด้านการผลิต ในฐานะผู้ประกอบการ จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นี้ได้ และมิติสุดท้ายคือ สังคมที่ถูกตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่ หรือ ESP ถึงสินค้าหรือบริการ สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร เมื่อโลกเปลี่ยนแล้ว แต่ในขณะที่บทบาทการบริหารต้องเปลี่ยนด้วยหรือไม่อย่างไร

“เมื่อปี 2564 ในช่วงโรคไวรัส COVID-19 เริ่มเบาบางลง  ทาง STECO ได้มีการหารือถึงบทบาทและโจทย์หลักจะทำอย่างไรให้องค์กรเกิดการแข่งขันได้ในภาวะวิกฤต ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้มองถึงการฟื้นฟูองค์กร คือการกำหนดเป้าหมายให้องค์กรแข่งขันได้บนทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดคือ เป้าหมายในการกำหนดคุณค่าของบุคลากรภายในองค์กรที่มีต่อการบริการและสามารถตอบโจทย์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในด้านมิติ คนการรวมกลุ่มความแตกต่างระหว่างเพศ หรือแม้กระทั่งช่วงต่างวัย องค์กรยังให้ความสำคัญและต้องการคนที่มีความคิดที่หลากหลายทางวัฒนธรรมบูรณาการร่วมกันอย่างมีความสุข อย่างไรก็ตาม  STECO ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ในการสร้างงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ส่งต่อไปยังผู้ประกอบการ ทั้งการทำธุรกิจใหม่ หรือแม้กระทั่งวางระบบขององค์กรถ่ายทอดไปสู่บุคลากร ผ่านการพัฒนาบุคลากรได้อย่างเป็นรูปธรรม”  ผศ. ดร.วัชรพจน์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save